ประมูลคลื่นวิทยุด่านแรก อสมท ควัก 236 ล. สู้ 6 คลื่น "เอไทม์" กุมกรีนเวฟ 106.5
กว่า 13 ชั่วโมง ของการประมูลคลื่นวิทยุรอบ 2 เพื่อชิงโอกาสทองเป็นเจ้าของคลื่น ผลเบื้องต้น อสมท คว้า 6 คลื่นมาตุน จากยื่นประมูล 55 คลื่น เอไทม์ รักษาฐานทัพ "กรีนเวฟ 106.5" แบบไร้คู่แข่ง ลุ้นจบ 4 รอบประมูล ครบ 71 คลื่น เอกชนรายใดจะคว้าใบอนญาตฯ เพื่อหารายได้ใน 7 ปีข้างหน้า
วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงโทรคมนาคมและกิจการโทรทัศน์(กสทช.)ได้จัดประมูลวิทยุกระจายเสียงครั้งแรกของประเทศไทย ในรอบ 92 ปี สำหรับประเภท “ธุรกิจ” โดยมีคลื่นวิทยุทั้งสิ้น 71 คลื่น จากพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล และต่างจังหวัด โดยมีนิติบุคคล 31 รายเข้าร่วมประมูล
เนื่องจากการประมูลคลื่นวิทยุครั้งนี้ เป็น “จุดเปลี่ยน” สำคัญของแวดวงหน้าปัดวิทยุ เพราะไม่เพียงคลอดใบอนุญาตด้วยการประมูล จะเห็นภูมิทัศน์สื่อดั้งเดิมอย่างวิทยุพลิกภาพไปอีกขั้น รวมถึงการแข่งขัน ที่มีหน้าใหม่กระโดดเข้ามาด้วย
ทั้งนี้ ก่อนเริ่มประมูล บรรยากาศที่ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ ไม่ได้คึกคักมากนัก เพราะแม้จะมีนิติบุคคล 31 รายเข้าร่วมประมูล แต่ “รายใหญ่” มีเพียง อสมท และเอไทม์ โดย อสมท ยกทัพผู้บริหาร ทีมงานมากมาย ในฐานะผู้ยื่นประมูลคลื่นวิทยุมากสุด 55 คลื่น จากเดิมที่มีอยู่ 60 คลื่น
ส่วนอีกพี่เบิ้มวงการวิทยุอย่าง “เอไทม์” ที่ขอประมูลคลื่น 106.5 ซึ่งมีแบรนด์ “กรีนเวฟ 106.5 เอฟเอ็ม” เป็นผู้นำตลาดที่มีฐานผู้ฟังจำนวนมาก ก็นำทัพโดย “สมโรจน์ วสุพงศ์โสธร” กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ Atime มาก่อนการประมูลจะเริ่มไม่นาน
สมโรจน์ วสุพงศ์โสธร
ตามแผนการประมูลคลื่นวิทยุ 71 คลื่น ถูกแบ่งรอบการประมูลทั้งสิ้น 4 รอบ โดยรอบแรกเป็นกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวม 18 คลื่น โดย อสมท ยื่นประมูลมากสุด 15 คลื่น ตามด้วยลูกทุ่งเน็ตเวิร์ค 24 ชั่วโมง 11 คลื่น และรายใหญ่ “จีเอ็มเอ็ม มีเดีย” ประมูลเพียงคลื่นเดียว 106.5 เอฟเอ็ม
ทั้งนี้ กำหนดการประมูลรอบแรกเริ่ม 09.30 น. และคาดการณ์จะสิ้นสุดเวลา 16.45 น. แต่สถานการณ์จริง เวลาถูกขยับออกไปค่อนข้างมาก เนื่องจากการแข่งขันแต่ละรอบมีความเข้มข้นอยู่ไม่น้อย ทำให้จนถึงเวลาประมาณ 22.00 น. ยังเป็นการประมูลรอบที่ 3 จำนวนทั้งสิ้น 18 คลื่น ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ
ณ เวลาดังกล่าว มีผลการประมูลที่น่าสนใจดังนี้ จีเอ็มเอ็ม มีเดีย ได้สิทธิ์ชนะประมูลคลื่น 106.5 เอฟเอ็ม ในราคา 55,330,000 บาท จากราคาตั้งต้น 54,830,000 ลบาท
ขณะที่ อสมท เสนอราคาสูงสุดได้สิทธิ์ชนะประมูล 6 คลื่น ได้แก่
-เอฟเอ็ม 95.00 ราคา 50,591,000 บาท และเป็นราคาเริ่มต้นด้วย โดยคลื่นดังกล่าวคือรายการลูกทุ่งมหานคร
-เอฟเอ็ม 96.5 ราคา 50,449,000 บาท จากราคาเริ่มต้น 49,949,000 บาท ซึ่งเป็นรายการคลื่นความคิด
-เอฟเอ็ม 99.99 ราคา 50,148,000 บาท เอฟเอ็ม 100.50 ราคา 50,127,000 บาท จากราคาเริ่มต้น 49,627,000 บาท ซึ่งคือคลื่นแอ๊คทีฟ เรดิโอ คลื่นเมืองไทยแข็งแรง
-เอฟเอ็ม 107.00 ราคา 48,795,000 ล้านบาท จากราคาเริ่มต้น 48,295,000 บาท ซึ่งคือคลื่นข่าว News Network
-เอฟเอ็ม 105.50 ราคา 36,784,000 ล้านบาท จากราคาเริ่มต้น 36,384,000 บาท เดิมเป็นคลื่นเพลงสากลรายการอีซี่ เอฟเอ็ม ของบีอีซี เทโร
โดยรวมวงเงินลงทุน 6 คลื่น มูลค่า 236,767,000 บาท จากการประมูลรอบแรกเท่านั้น โดยยังเหลือผลการเคาะสู้ราคาของรอบการประมูลที่ 2 ซึ่ง อสมท ยื่นประมูลจำนวน 18 คลื่น รอบที่ 3 ยื่นจำนวน 14 คลื่น และรอบที่ 4 ยื่นจำนวน 8 คลื่น
รศ.เกษมศานต์ โชติชาครพันธุ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บมจ.อสมท ผู้นำธุรกิจวิทยุที่ได้ดำเนินธุรกิจวิทยุกระจายเสียงระบบเอฟเอ็ม มาอย่างยาวนานโดยตลอด ได้ยื่นประมูล คลื่นความถี่วิทยุระบบเอฟเอ็มมากที่สุด รวมทั้งสิ้น 55 คลื่น แบ่งเป็นคลื่นความถี่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล จำนวน 6 คลื่น และพื้นที่ภูมิภาค จำนวน 49 คลื่น โดยการยื่นประมูลแต่ละคลื่นความถี่พิจารณาจากหลายปัจจัย เช่น ความสามารถในการสร้างผลกำไร ความแข็งแกร่งของเครือข่ายในการครอบคลุมพื้นที่ (Network Coverage Area) และความรับผิดชอบในบทบาทภารกิจทางสังคมของ บมจ. อสมท ที่มุ่งสร้างเสริมการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง ได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง
ด้านแนวทางในการบริหารคลื่นความถี่วิทยุของ บมจ. อสมท จะเร่งสร้างการรับรู้ให้แก่ผู้ฟังและผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม เพื่อตอกย้ำถึงจุดแข็งของธุรกิจวิทยุที่มีเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ ตลอดจนมีความพร้อมด้านบุคลากร และด้านสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น สตูดิโอ สถานีออกอากาศ เครื่องส่ง เป็นต้น บมจ.อสมท พร้อมสนับสนุนการให้บริการกับพันธมิตรทางธุรกิจและการให้บริการสังคม
สำหรับคลื่นวิทยุที่ บมจ.อสมท ไม่ได้เข้าประมูลในครั้งนี้ ไม่ได้มีผลกระทบ ต่อการดำเนินธุรกิจของ บมจ.อสมท อย่างมีนัยสำคัญ โดยบริษัทยังคงมีศักยภาพในการออกอากาศครอบคลุมพื้นที่ (Network Coverage Area) ทั่วประเทศที่ไม่แตกต่างจากเดิม โดยสามารถใช้การออกอากาศกระจายเสียงจากสถานีข้างเคียง ควบคู่ไปกับรูปแบบดิจิทัลแพลตฟอร์ม รวมถึงการแสวงหาเครือข่ายและพันธมิตร
โดยต่อจากนี้จะมีการปรับโครงสร้างและรูปแบบการบริหารจัดการ (Refreshing Organization Structure & Management) การจัดผังรายการให้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย (Refreshing Program) การจัดสรรช่วงเวลาออกอากาศ (Broadcasting Time Allocation) ระหว่างสถานีวิทยุแต่ละแห่งกับการออกอากาศของเครือข่ายคลื่นส่วนกลาง และ การผลักดันคู่ขนานระหว่างการออกอากาศในรูปแบบเดิมกับรูปแบบดิจิตอลแพลตฟอร์ม (Traditional & Digital Platforms) รวมถึงการจัดกิจกรรมเฉพาะกลุ่มผู้ฟังและแฟนคลับ (On Ground Events) โดยการดำเนินการเหล่านี้ จะให้ความสำคัญกับความสามารถในการเพิ่มรายได้ การควบคุมค่าใช้จ่าย และความรับผิดชอบต่อสังคมในบทบาทของการเป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจ
“ขอให้ทุกภาคส่วนมั่นใจได้ว่า บมจ. อสมท จะยังคงทำหน้าที่สื่อกลางในการนำทั้งข้อมูล ข่าวสารที่ถูกต้องเที่ยงตรง และสาระบันเทิงที่มีประโยชน์ถึงพี่น้องประชาชนได้ครอบคลุมทุกพื้นที่ พร้อมทั้งเดินหน้าพัฒนาคุณภาพของรายการทุกรายการอย่างไม่หยุดยั้ง ภายใต้วิสัยทัศน์ เป็นผู้นำเสนอเนื้อหาที่น่าเชื่อถือ เที่ยงตรง และรวดเร็ว”
อย่างไรก็ตาม หลังจากสำนักงาน กสทช. ประกาศรายชื่อผู้ชนะการประมูล ผู้ชนะการประมูลจะต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตเท่ากับราคาที่ชนะรวมภาษีมูลค่าเพิ่มภายในวันที่ 24 มีนาคม 2565 และแจ้งข้อมูลสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับบริการด้านกระจายเสียง เพื่อประกอบการพิจารณาอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ และยื่นขอรับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งการเป็นผู้ชนะประมูล