"ดิเอราวัณกรุ๊ป" ดันแฟรนไชส์ "ฮ็อปอินน์" เร่งโตในไทย-เอเชียแปซิฟิก!
“ดิ เอราวัณ กรุ๊ป” กางแผนเร่งโต ปั้นโมเดลแฟรนไชส์แบรนด์โรงแรมบัดเจ็ท “ฮ็อป อินน์” หนุนขยายเครือข่ายเน็ตเวิร์กทั่วไทย-เอเชียแปซิฟิก รับตลาดฟื้น ตั้งเป้าปักหมุด 77 จังหวัด ปูพรม 100 แห่งในปี 2568 พร้อมขาย รร.ไอบิส 3 แห่งให้ “วัน ออริจิ้น” ตุนเงินสานแผนลงทุน-ปรับพอร์ตโฟลิโอ
นับตั้งแต่ “ดิ เอราวัณ กรุ๊ป” ก่อตั้งมาเกือบ 40 ปี วิกฤติโควิด-19 ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อธุรกิจอย่างรุนแรงและยาวนานที่สุด ทำให้ต้องงัดสารพัดกลยุทธ์รับมือเพื่อลดความเสี่ยง หนึ่งในแผนงานสำคัญระยะยาว คือ มุ่งขยายเครือข่ายกลุ่มโรงแรมบัดเจ็ท (Budget Hotel) ภายใต้แบรนด์ “ฮ็อป อินน์” ซึ่งเป็นเซ็กเมนต์ที่มีผลการดำเนินงานดีที่สุดในช่วงโควิด-19
นายเพชร ไกรนุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ERW กล่าวว่า ปีนี้บริษัทมีความพร้อมในการเพิ่มโมเดลธุรกิจแฟรนไชส์ เพื่อขยายเครือข่ายและสร้างแบรนด์ฮ็อปอินน์ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ต่อยอดธุรกิจฮ็อปอินน์ซึ่งเน้นการลงทุนและบริหารเองตลอด 8 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันขยายเครือข่ายมากถึง 47 แห่ง ครอบคลุม 36 จังหวัด
โดยตั้งเป้าหมายเปิดบริการโรงแรมฮ็อปอินน์ในประเทศไทย 100 แห่งในปี 2568 หวังปักหมุดครบ 77 จังหวัด เป็นการลงทุนและบริหารเอง 75% อีก 25% มาจากการขายแฟรนไชส์ 20-30 แห่ง เน้นเจาะพื้นที่ที่ยังไม่มีโรงแรมฮ็อปอินน์ หรืออำเภอรองต่างๆ ซึ่งเปิดรับผู้ลงทุนทั้งรูปแบบสร้างใหม่และปรับปรุงอาคารเดิม
หากเป็นรูปแบบสร้างใหม่ ใช้เงินลงทุนราว 7 แสนบาทต่อห้องพัก หรือ 50-60 ล้านบาทต่อแห่ง จาก 61-79 ห้องพัก ก่อสร้าง 10-12 เดือน ส่วนการปรับปรุงอาคารเดิม ต้องมีห้องพักไม่น้อยกว่า 60 ห้องพัก ถ้าไม่ติดขัดเรื่องข้อกฎหมาย ใช้เวลาปรับปรุงไม่ถึง 1 เดือน โดยจะมีพนักงาน 15 คนต่อแห่งเพื่อประสิทธิภาพการบริหารงานและต้นทุน
“การทำธุรกิจโรงแรมแตกต่างจากร้านอาหารและรีเทล เพราะใช้เวลาคืนทุนนาน 7-9 ปี และต้องรักในการทำโรงแรมและงานบริการจริงๆ จึงเหมาะกับนักลงทุนที่มีเงินเย็น และทำธุรกิจอื่นอยู่แล้วสนใจทำโรงแรมเพิ่ม"
ทั้งนี้ บริษัทเตรียมทีมงานผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำแก่ผู้ลงทุนตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนบริหารโรงแรมได้เองภายใต้มาตรฐานฮ็อปอินน์ และเน้นคุณภาพมากกว่าการเร่งขยายจำนวนแฟรนไชส์ ซึ่งปี 2565 ตั้งเป้ามีแฟรนไชส์โรงแรมฮ็อปอินน์ 5 แห่ง
++ ดันโมเดลแฟรนไชส์เร่งโต ตปท.
โมเดลแฟรนไชส์จะเป็นกลยุทธ์ที่ช่วยขยายเครือข่ายโรงแรมฮ็อปอินน์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้เร็วขึ้น เจาะประเทศที่มีเงื่อนไขการลงทุนโรงแรมค่อนข้างยาก โดยจะหารือกับนักลงทุนรายใหญ่ในประเทศนั้นๆ ให้เป็น “มาสเตอร์แฟรนไชส์” จากก่อนหน้านี้เคยศึกษาการลงทุนโรงแรมฮ็อปอินน์ในหลายประเทศ เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย กัมพูชา ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น
ขณะที่ฟิลิปปินส์ ซึ่งบริษัทได้เข้าลงทุนขยายโรงแรมแล้ว ปัจจุบันมี 6 แห่ง จะเพิ่มเป็น 15 แห่งภายในปี 2568 โดยจะนำโมเดลแฟรนไชส์ไปขยายโรงแรมฮ็อปอินน์ในเมืองที่มีศักยภาพ ตั้งเป้าเปิด 20-30 แห่งในอนาคต
สำหรับภาพรวมปี 2565 บริษัทเดินหน้าเปิดโรงแรม 9 แห่ง ใช้เงินลงทุนรวม 800 ล้านบาท เป็นโรงแรมฮ็อปอินน์ในไทย 7 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพฯ 3 แห่งใกล้สถานีรถไฟฟ้าอ่อนนุช บางนา และกรุงธนบุรี รวมถึงจังหวัดน่าน ชัยภูมิ มหาสารคาม และนครราชสีมา ส่วนประเทศฟิลิปปินส์จะเปิดอีก 2 แห่งแบบคอมโบโฮเทล (Combo Hotels) หรือมี 2 แบรนด์โรงแรมในอาคารเดียว ประกอบด้วย ฮอลิเดย์ อินน์ และ ฮ็อปอินน์ เซบู บิสสิเนส พาร์ค
++ ขายไอบิส 3 แห่งแก่ ‘วัน ออริจิ้น’
กรณี ดิ เอราวัณ กรุ๊ป ขายโรงแรมไอบิส 3 แห่ง ภายใต้เชนแอคคอร์ (Accor) ได้แก่ 1.ไอบิส ภูเก็ต กะตะ 2.ไอบิส หัวหิน และ 3.ไอบิส สไตล์ กระบี่ อ่าวนาง รวม 664 ห้องพัก ให้แก่ วัน ออริจิ้น ในเครือออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้
นายเพชร กล่าวยืนยันว่า สถานะการเงินของ ดิ เอราวัณ กรุ๊ป ยังแข็งแกร่งและเดินหน้าไหว ณ สิ้นปี 2564 มีกระแสเงินสด 1,242 ล้านบาท และ Available Credit Facilities วงเงิน 5,455 ล้านบาท เตรียมพร้อมสำหรับการดำเนินธุรกิจ
“การขายโรงแรมไอบิสเพราะต้องการนำเงินมาลงทุนสร้างการเติบโตกลุ่มโรงแรมฮ็อปอินน์ เป็นไปตามกลยุทธ์หลักในการปรับพอร์ตโฟลิโอ โฟกัสเพิ่มรายได้จากตลาดในประเทศ ลดการพึ่งพิงรายได้จากตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ"
โดยมุ่งเพิ่มสัดส่วนกำไรจากการดำเนินงาน (EBITDA) ของกลุ่มโรงแรมฮ็อปอินน์เป็นมากกว่า 40% ของโรงแรมทั้งหมดในเครือภายในปี 2568 จากปัจจุบันมีสัดส่วน 10%
นางสาววรมน อิงคตานุวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ สายบริหารเงินและเทคโนโลยีสารสนเทศ กล่าวเสริมว่า เมื่อไตรมาส 4/2564 ดิ เอราวัณ กรุ๊ป ได้ขายโรงแรม 2 แห่งบนเกาะสมุย ได้แก่ เรอแนสซองซ์ สมุย และไอบิส สมุย มูลค่ารวม 925 ล้านบาท ให้แก่บริษัทบุคคลธรรมดาที่สนใจทำธุรกิจโรงแรม โดยมีส่วนทำให้สถานะการเงินแข็งแกร่ง นำเงินไปขยายโรงแรมฮ็อปอินน์ได้ตามกลยุทธ์หลัก
++ คลายล็อกตรวจ ATK ครั้งที่ 2 กู้ดีมานด์ทัวริสต์
วานนี้ (23 ก.พ.) ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) มีมติปรับมาตรการเดินทางเข้าราชอาณาจักรเพิ่มเติม หนึ่งในนั้นคือการผ่อนคลายแก่นักท่องเที่ยวประเภท Test & Go ยกเลิกการจองที่พักและตรวจ RT-PCR ครั้งที่ 2 ในวันที่ 5 ของการเดินทางเข้าไทย โดยปรับใช้เป็นการมอบชุดตรวจ ATK ในวันที่ 5 หรือเมื่อมีอาการ และรายงานผลในแอพพลิเคชั่น MorChana เริ่มรับลงทะเบียนตามมติข้างต้นตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.2565 เป็นต้นไป เพื่อเดินทางถึงประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 7 มี.ค. เวลา 00.01 น. เป็นต้นไป
นายเพชร กล่าวว่า มติของ ศบค.ดังกล่าวจะช่วยฟื้นตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติได้มาก ช่วยดึงคนที่อัดอั้น อยากมาเที่ยวไทยตัดสินใจเดินทางมาไทยมากขึ้น จากที่ผ่านมาติดขัดเรื่องเงื่อนไขการเดินทางและค่าใช้จ่ายในการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ที่ค่อนข้างแพง
"หากเป็นไปได้อยากให้ภาครัฐพิจารณาปลดล็อกเงื่อนไขการเดินทางมากกว่านี้ ให้เหมือนกับมัลดีฟส์ที่นักท่องเที่ยวมีใบรับรองการฉีดวัคซีนครบโดสและผลตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR เป็นลบจากประเทศต้นทาง ก็เดินทางไปเที่ยวมัลดีฟส์ได้แล้ว ไม่ต้องตรวจ RT-PCR เพิ่มเมื่อเดินทางไปถึง ซึ่งช่วยฟื้นธุรกิจโรงแรมในมัลดีฟส์ให้กลับมามีผลการดำเนินงานเทียบเท่าปีก่อนเจอโควิด-19"
ดิ เอราวัณ กรุ๊ป เน้นทำตลาดในประเทศ เพราะคาดว่านักท่องเที่ยวประเภท Test & Go ในช่วงแรกของการเปิดประเทศ เป็นเหมือนน้ำจิ้ม ช่วยให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าพักโรงแรมบ้าง แต่ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ต้องรอการฟื้นตัวอีกสักระยะ คาดต้องใช้เวลาอีก 2-3 ปีกว่าที่ธุรกิจของดิเอราวัณกรุ๊ปจะกลับไปเหมือนปี 2562 ก่อนเจอวิกฤติโควิด-19