“อาคม”เผยรัฐบาลเตรียมกู้เยียวยาโควิด500ล้านเหรียญจากญี่ปุ่น

“อาคม”เผยรัฐบาลเตรียมกู้เยียวยาโควิด500ล้านเหรียญจากญี่ปุ่น

“อาคม”เผย รัฐบาลเตรียมกู้เงิน 500 ล้านเหรียญสหรัฐจากประเทศญี่ปุ่น เพื่อนำเงินมาเยียวยาเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 โดยวงเงินดังกล่าวอยู่ภายใต้พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ยันวงเงินที่เหลืออีกประมาณ 1 แสนล้านบาท ยังเพียงพอรับมือการระบาดของโควิด-19

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ประเทศไทยเตรียมกู้เงินจากประเทศญี่ปุ่นในวงเงิน 500 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อนำมาใช้ในการดูแลเศรษฐกิจ ซึ่งวงเงินดังกล่าว อยู่ภายใต้กรอบการกู้เงินจากพ.ร.ก.เงินกู้เพื่อดูแลและเยียวยาเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19เพิ่มเติมวงเงิน 5 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาทนั้น ขณะนี้ ยังมีวงเงินที่ยังรอการอนุมัติเหลืออีกกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งยังเพียงพอและยังไม่จำเป็นต้องออก พ.ร.ก. กู้เงินเพิ่มเติมอีก

อย่างไรก็ดี ในวงเงินที่เหลือดังกล่าวนั้น ทางรัฐบาลจะใช้แหล่งเงินกู้จากในประเทศเป็นหลัก เนื่องจาก สภาพคล่องในประเทศยังมีเพียงพอ ขณะที่ การกู้เงินต่างประเทศจากญี่ปุ่นนั้น นอกจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จะอยู่ในระดับต่ำแล้ว ส่วนหนึ่งเราต้องการให้เป็นอัตราอ้างอิงหรือ Benchmark สำหรับการกู้เงินในครั้งต่อๆ และ เป็นการรักษาสภาพคล่องในประเทศด้วย

“ทางญี่ปุ่นเขา offer มา แต่จริงๆแล้ว ก็ offer มาหลายประเทศ ทั้งเอดีบีและเวิลด์แบงก์ ก็เป็นการช่วยเหลือทางด้านสภาพคล่องให้กับประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ไม่ใช่การให้เปล่า เพราะเงินค่อนข้างเยอะ”

เขากล่าวด้วยว่า จะพิจารณาแหล่งเงินจากต่างประเทศด้วย เพื่อสร้างความสมดุล เนื่องจาก ภาคเอกชนของไทยก็ยังจำเป็นต้องใช้แหล่งเงินกู้เช่นกัน เพราะเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว ความต้องการใช้เงินเอกชนจะมีสูงขึ้นในเรื่องการลงทุนต่างๆเช่นการออกหุ้นกู้ของบริษัทในตลาดและนอกตลาด ฉะนั้น เราต้องบาล๊านซ์รักษาสภาพคล่องในประเทศ เพื่อให้เอกชนได้ใช้ ทั้งนี้ ในช่วงที่เรามีสภาพคล่องส่วนเกิน รัฐบาลก็ดูดเข้ามา ก็ต้องดูแลในลักษณะนี้

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ เราก็ได้กู้เงินจากเอดีบีมาแล้วในวงเงิน 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นการกู้เงินภายใต้กรอบพ.ร.ก.เงินกู้ฉุกเฉินเพื่อดูแลเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 ในวงเงิน 1 ล้านล้านบาท

เขายังกล่าวถึงการจัดทำงบประมาณขาดดุลประจำปีงบประมาณ 2565 ได้กำหนดไว้ที่ 7 แสนล้านบาทว่า ได้มีการกำหนดงบประมาณ สำหรับชำระหนี้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยอย่างชัดเจน ซึ่งหากสามารถจัดเก็บรายได้ได้เกินเป้า เงินส่วนดังกล่าวก็จะถูกส่งเข้าคลัง ขณะที่ ฐานะการคลังจะขึ้นอยู่กับการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยหากจีดีพีปี 65 ขยายตัวมากกว่า 4% ก็จะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นปีงบประมาณ 65 ปรับลดลงมากต่ำกว่า 62% ตามที่ได้ประเมินไว้

นายอาคมกล่าวอีกว่า ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19  ที่พุ่งสูงขณะนี้นั้น ทางด้านสาธารณะสุขไม่ได้มีการห้ามดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ดังนั้น ระดับการบริโภคยังคงมีต่อเนื่อง ขณะเดียวกันมาตรการของรัฐบาล ในส่วนของโครงการคนละครึ่ง ก็ยังไม่หมด ยังมีเงินที่ออกมาใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง พร้อมย้ำขณะนี้ยังไม่มีการพิจารณาใส่เงินเพิ่มตามที่เอกเสนอ