นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์เพื่อการรีไซเคิล
ดาว บริษัทชั้นนำด้านวัสดุศาสตร์ พร้อมพัฒนาธุรกิจแพคเกจจิ้ง เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืน กับบทบาทสำคัญที่จะช่วยลดโลกร้อนและแก้ปัญหาขยะ ผ่านการพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในอนาคต
การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และการเพิ่มจำนวนของขยะทางทะเล เป็นปัญหาที่ทั่วทั้งโลกกำลังต้องเผชิญ เราจึงได้เห็นความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน รวมไปถึงประชาชนทั่วไป ที่เริ่มให้ความสนใจต่อปัญหา และเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ซึ่งหนึ่งวิธีที่จะช่วยลดปัญหาขยะลงได้ คือการหันมาเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนช่วยรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม เป็นส่วนสำคัญในการพาประเทศไทยก้าวเข้าสู่ Net zero หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในอนาคต ตามเป้าหมายของรัฐบาล และนานาประเทศที่ต่างกำหนดเป้าหมายเดียวกัน ภายในปี ค.ศ. 2050
บริษัท ดาว ประเทศไทย บริษัทชั้นนำด้านวัสดุศาสตร์ หรือ Materials Science ที่จะมาแชร์เรื่องราวของธุรกิจแพคเกจจิ้ง เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืน กับบทบาทสำคัญที่จะช่วยลดโลกร้อนและแก้ปัญหาขยะ ผ่านการพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม
ชมพูนุช จันทร์บัว Marketing Development Manager กล่าวว่า การผลิตบรรจุภัณฑ์ในยุคนี้ ไม่ใด้มองแค่เรื่องความทนทานและความสวยงามเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย ถือเป็นโจทย์สำคัญ สำหรับบริษัทผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ ที่จะต้องร่วมกันพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อช่วยกันสร้างบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก โดยปัจจุบันลูกค้าหันมาสนใจเรื่องการพัฒนาบรรจุภัณฑ์แบบยั่งยืนเกือบ 99% เราจึงให้ความสำคัญของการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อมาพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในอนาคต โดย Dow มีนักวิจัยที่ทำหน้าที่ค้นคว้าผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มากถึง 7,000 คนทั่วโลก
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของ Dow ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 เป็นต้นมา ได้กำหนดเป้าหมายการทำงานด้านความยั่งยืนอย่างชัดเจนใน 2 พันธกิจหลัก ได้แก่ การลดคาร์บอนเพื่อลดโลกร้อนเพื่อให้บรรลุสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็น zero carbon และการกำจัดขยะพลาสติกในสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นหยุดขยะพลาสติก ไปจนถึงการส่งเสริมวงจรรีไซเคิล ช่วยสร้างผลลัพธ์ในเชิงบวกต่อสังคม ลูกค้า และธุรกิจ
ดร.ธวัชชัย ตุงคะเวทย์ Senior Technical Service and Development Specialist กล่าวว่า ปัจจุบัน Dow มีผลิตภัณฑ์ของเม็ดพลาสติกมากมาย เพื่อเป็นโซลูชันให้เจ้าของแบรนด์สินค้า และโรงงานแปรรูปพลาสติก เลือกนำไปใช้พัฒนาบรรจุภัณฑ์สินค้าให้สามารถรีไซเคิลได้ 100% ทั้งนี้ ปัญหาที่พบบ่อยสำหรับถุงบรรจุภัณฑ์ที่รีไซเคิลได้ยาก คือแพคเก็จจิ้งมัลติเลเยอร์ หรือมัลติแมททิเรียล ซึ่งประกอบด้วยวัสดุหลายชนิดในแพคเกจจิ้งเดียวกัน ทำให้ไม่สามารถรีไซเคิลได้หลังใช้งาน เพราะต้องมีการแยกประเภทของวัสดุแต่ละชนิดก่อน เราจึงแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ โดยเปลี่ยนจาก Multi-material packaging ให้เป็น Mono-material packaging ไม่ต้องใช้พลาสติกหลายชนิด สามารถใช้แค่โพลีเอทิลีนชนิดเดียวแล้วให้ประสิทธิภาพทดแทนวัสดุอื่น ทั้งความแข็งแรง ความเหนียว และความใส ทำให้บรรจุภัณฑ์นั้นๆ สามารถรีไซเคิลได้ง่ายและสะดวกขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีนวัตกรรมเม็ดพลาสติกโพลิเอทิลีนชนิดพิเศษ ที่คิดค้นและพัฒนาจนมีความแข็งแรง เหนียว และทนทานกว่าเม็ดพลาสติกทั่วๆ ไป สามารถช่วยลดปริมาณการใช้เม็ดพลาสติกลง และยังสามารถรีไซเคิลได้ ซึ่งคุณสมบัติที่เล่าไป จึงถูกนำไปใช้พัฒนาเป็นถุงบรรจุภัณฑ์หลากหลายชนิด
ตัวอย่างความสำเร็จที่ผ่านมา คือการยกมาตรฐานถุงข้าวสารเป็นถุงข้าวรักษ์โลกให้สามารถนำกลับไปรีไซเคิลได้ 100% ช่วยทำให้ถุงข้าวมีคุณสมบัติบางลงแต่ยังคงมีความแข็งแรงใกล้เคียงเดิม ช่วยลดการใช้พลาสติก ลดการใช้พลังงาน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน
รังสรรค์ เชาว์สุวรรณกิจ Technical Service Manager กล่าวว่า ผู้ผลิตหลายรายเริ่มให้ความสนใจที่จะนำ PCR หรือ post-consumer recycled Resin ซึ่งเป็นเม็ดพลาสติกสูตรพิเศษ ผสมพลาสติกที่ผ่านการใช้งานแล้วมาผลิตเป็นฟิล์มหดรัดสินค้า ที่ยังคงคุณสมบัติเทียบเท่ากับฟิล์มที่ทำมาจากเม็ดพลาสติกใหม่ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้เม็ดพลาสติกใหม่ จะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และประหยัดพลังงานได้ เป็นวิธีที่จะช่วยจัดการกับพลาสติกใช้แล้ว เพื่อไม่ให้กลายเป็นขยะ โดยล่าสุด เราได้ร่วมมือกับลูกค้าของเรา พัฒนา "ฟิล์มหดรัดสินค้า" จากนวัตกรรมเม็ดพลาสติก PCR เพื่อใช้ในการแพคสินค้าส่งไปยังร้านค้าและผู้บริโภคที่ห่วงใยสิ่งแวดล้อมทั่วประเทศ นับเป็นครั้งแรกของเอเชีย แปซิฟิก และประเทศไทยที่มีการผลิต "ฟิล์มหดรัดสินค้า" ด้วยเทคโนโลยีใหม่นี้
ปัจจุบัน มีความท้าทายเรื่องความยั่งยืนของบรรจุภัณฑ์อยู่ 2 ส่วน คือ ทำอย่างไรให้เกิดการหมุนเวียนนำกลับมาใช้ซ้ำ หรือเรียกว่าการกำจัดซากด้วยวิธีการที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน อีกส่วนคือ ภาวะโลกร้อน ที่โลกกำลังให้ความสำคัญกับการลดคาร์บอน ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดก๊าซเรือนกระจก
ทั้งนี้ สำหรับวงจรของบรรจุภัณฑ์ที่มีการหมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ได้นั้นมีอยู่ 3 ขั้นตอน ดังนี้
- การออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้
- การจัดเก็บบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วกลับเข้ามาในวงจรรีไซเคิล
- การนำวัสดุที่มีสัดส่วนของวัสดุที่ได้มาจากกระบวนการรีไซเคิลเพื่อนำกลับมาใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์อีกครั้ง อย่างเช่นนวัตกรรม PCR
อนุรักษ์ รัศมีอมรวิวัฒน์ Technical Service and Development & Climate Change กล่าวว่า ทางส่วนที่กระทบต่อภาวะโลกร้อนนั้น จำเป็นจะต้องส่งเสริมเรื่องการเก็บบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วกลับเข้ามาในวงจรรีไซเคิล ให้กลายทรัพยากรที่ใช้ประโยชน์ได้อย่างไม่รู้จบ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐในการออกนโยบายสนับสนุน ภาคประชาชนที่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการคัดแยกขยะพลาสติกตั้งแต่ต้นทาง รวมถึงภาคเอกชนที่ต้องมีความพร้อมในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตมาใช้ เพื่อไปสู่เป้าหมายด้านความยั่งยืนร่วมกัน
ชมพูนุช ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาเราเองก็ได้ดำเนินหลายๆ โครงการที่สำคัญ ร่วมกับทั้งภาครัฐภาคเอกชน และชุมชน โดยนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยแก้ปัญหาขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน เช่น
- โครงการถนนพลาสติก โดยนำพลาสติกใช้แล้วมาผสมกับยางมะตอย เพื่อเพิ่มความคงทนของถนน
- การทำพาเลทไม้เทียมจากพลาสติกใช้แล้ว ด้วยการนำถุงบรรจุภัณฑ์ที่รีไซเคิลไม่ได้ มาผลิตพาเลท ซึ่งได้เริ่มใช้งานจริงในโรงงานและคลังสินค้าของ Dow โดยมีแผนต่อยอดในเชิงพาณิชย์ต่อไป
- การนำขยะพลาสติกในทะเลมาผลิตเป็นวัสดุก่อสร้าง ซึ่งราคาไม่ต่างจากวัสดุทั่วไปและมีความคงทนเทียบเท่าของเดิม แต่สร้างอาชีพและรายได้ให้กับชุมชน
"จากการดำเนินงานที่กล่าวมา ทำให้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา โครงการจัดการพลาสติกใช้แล้ว ของเราสามารถรวมเก็บพลาสติกใช้แล้วกลับไปรีไซเคิลได้กว่า 6.2 ตัน ได้รับการรับรอง Low Emission Support Scheme (LESS) จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) โดยสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เทียบเท่า 147 ตัน คาร์บอนไดออกไซด์ โดยเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จสู่เป้าหมายความยั่งยืน Net Zero ของประเทศไทย ที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2608 และการเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ท้าทาย และต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน" อนุรักษ์ กล่าว
ท่านสามารถเข้าร่วมงานสัมมนา Fast Track to the Net Zero ซึ่งจัดโดยกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย และหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจได้ในวันศุกร์ที่ 11 มีนาคมนี้ ตั้งแต่บ่ายโมงเป็นต้นไป
ผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนภายในวันที่ 4 มีนาคม 2565 ได้ที่ www.bangkokbiznews.com/seminar/netzero3 เพื่อรับลิงค์ชมการถ่ายทอดสดผ่านช่องทางออนไลน์ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-338-3000 กด 1