บอร์ดแข่งขันทางการค้า คุมเข้ม ดูแลธุรกิจอีคอมเมิร์ซ
กขค. เผย ปี 64 ควบรวมธุรกิจพุ่งสูงถึง 32 เรื่องมูลค่ากว่า 3 ล้านล้านบาท คาดปี 65 แนวโน้มสูงต่อเนื่อง เล็งกำกับดูแลการควบรวมธุรกิจ พร้อมคุมเข้ม ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ป้องกันเอาเปรียบรายเล็ก เปลี่ยนโลโก้ให้เป็นสากล
นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เปิดเผยว่า หลังจากกฎหมายแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 บังคับใช้ ทางกขค. ได้รับเรื่องร้องเรียนรวมทั้งสิ้น 134 เรื่อง โดยในปี 2564 มีการรับเรื่องร้องเรียนสูงสุดถึง 71 เรื่อง เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ประมาณ 2.36 เท่า กลุ่มธุรกิจที่มีการรับเรื่องร้องเรียนมากที่สุดคือ ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Platform) จำนวน 40 เรื่อง รองลงมาคือธุรกิจแฟรนไชส์และธุรกิจบริการอื่นๆ จำนวน 15 เรื่อง และธุรกิจการผลิตและการค้าส่งค้าปลีกจำนวน 16 เรื่อง
เมื่อจำแนกตามพฤติกรรมพบว่าเป็นการใช้อำนาจเหนือตลาดโดยมิชอบจำนวน 40 เรื่อง การปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมจำนวน 28 เรื่อง และการตกลงร่วมกัน จำนวน 3 เรื่อง โดยได้ดำเนินคดีอาญา จำนวน 3 เรื่อง ผู้ต้องหาจำนวน 28 ราย อยู่ระหว่างส่งฟ้องอัยการ จำนวน 2 ราย และผู้ต้องหาขอเปรียบเทียบปรับตามกฎหมายจำนวน 26 ราย ในส่วนของคดีปกครองมีการลงโทษทางปกครองจำนวน 11 เรื่อง ผู้กระทำความผิด จำนวน 16 ราย มีค่าปรับรวมประมาณ 34 ล้านบาท นอกจากนี้ ในปี 2564 เป็นปีที่มีการรวมธุรกิจมากที่สุดถึง 32 เรื่อง เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ประมาณ 2 เท่า และมีมูลค่าการรวมธุรกิจประมาณ 3 ล้านล้านบาท ซึ่งถือเป็น 1 ใน 4 ของขนาดเศรษฐกิจประเทศที่ 14 ล้านล้านบาท
ในปี 2565 คาดว่าสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ยังคงได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่อยู่ระหว่างการฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด -19 ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และจากระบบเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่สำคัญ (Megatrends) อย่างรวดเร็ว และการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการประกอบธุรกิจ ทำให้รูปแบบการประกอบธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปเป็นรูปแบบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Platform) เพิ่มมากขึ้น และจะมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางการค้าเพื่อแข่งขันกันมากขึ้น
จากทิศทางการแข่งขันทางการค้าที่เปลี่ยนแปลง สิ่งที่ทางกขค.ต้องทำในปี 2565 คือ การกำกับดูแลการประกอบธุรกิจให้เป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง และเป็นธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการการกำกับดูแลการแข่งขันในธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Platform) ทุกรูปแบบหรือธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ซึ่งมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว โตเฉลี่ยปีละกว่า 10 % โดย ในปี 2564 มีมูลค่าธุรกิจสูงถึง 4 ล้านล้านบาท เนื่องจากสามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลที่ผู้บริโภคไม่นิยมใช้เงินสด เช่น การจำหน่ายสินค้าหรือบริการ (E-Market Place) การขนส่งสินค้า (E-Logistic) การให้บริการรับสั่งและจัดส่งอาหาร (Food Delivery) และธุรกิจจองโรงแรมที่พัก (OTA) ที่เป็นของตนเองทั้งหมด แม้ในแง่ผู้บริโภคอาจจะไม่กระทบ แต่ผู้ประกอบการในกลุ่มบริการกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบ จึงต้องหยิบยกประเด็นนี้ มาติดตามเพื่อหาแนวทางปฏิบัติไม่ให้เกิดการเอาเปรียบ หรือ ให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด จากเจ้าของแพลตฟอร์มออนไลน์
รวมไปถึงการกำกับดูแลการควบรวมธุรกิจนั้นโดยเฉพาะธุรกิจด้านเทคโนโลยีที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมถึงเริ่มเห็นการควบรวมกับธุรกิจข้ามชาติสูงขึ้นด้วย ซึ่งเริ่มเข้าข่ายมีอำนาจเหนือตลาด จึงต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เพื่อรักษาโอกาสธุรกิจของคนไทย
"สิ่งที่ต้องจับตามองต่อไปคือ การควบรวมธุรกิจ ที่คาดว่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้น จากการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพื่อปรับตัวให้มีศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้นและสามารถอยู่รอดได้ ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่มีการใช้อำนาจเหนือตลาดหรือมีการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงด้วย ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ไม่สามารถแข่งขันได้”
นอกจากนี้ กขค. จะมีการปรับปรุงกฎหมายการแข่งขันทางการค้าและแนวปฏิบัติทางการค้าและกฎระเบียบต่างๆ และเสริมสร้างความร่วมมือในการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้ากับหน่วยงานต่างประเทศ รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีและสร้างฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อเป็นเครื่องมือศึกษาวิเคราะห์โครงสร้างตลาดและพฤติกรรมการแข่งขันทางการค้าในการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยการจัดตั้งศูนย์วิเคราะห์ธุรกิจเชิงลึก (Business Intelligence Unit) เพื่อให้การแข่งขันทางการค้าไทยมีแนวทางการพัฒนาที่ดีขึ้น รวมทั้งการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมการแข่งขันทางการค้า
ทั้งนี้กขค.ได้มีการเปลี่ยนแปลงชื่อตราสัญลักษณ์ของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า และสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เพื่อให้เป็นไปตามหน่วยงานกำกับดูแลกฎหมายอื่นในประเทศ และชื่อภาษาอังกฤษเป็นรูปแบบเดียวกันกับองค์กรการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าของต่างประเทศ โดยมีเปลี่ยนชื่อย่อภาษาไทยเป็นสำนักงาน กขค. จากเดิม สขค. ส่วนชื่อภาษาอังกฤษเป็น TRADE COMPETITION COMMISSION OF THAILAND หรือ TCCT จากเดิม OFFICE OF TRADE COMPETITION COMMISSION หรือ OTCC
ส่วนประเด็นการควบรวมกิจการสื่อสาร ของ ดีแทค กับ ทรู นั้น อยู่ในการกำกับดูแลของ กสทช. โดยคณะกรรมการแข่งขันฯ ไม่สามารถเข้าไปก้าวล่วงได้ แต่ได้มีการส่งเจ้าหน้าที่เข้าร่วมให้ข้อมูลแล้ว อยู่ภายใต้คณะกรรมการของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งต้องยอมรับว่า เรื่องนี้มีความซับซ้อน จากกระแสข่าว เป็นการรวมกับของบริษัทแม่ ของทั้ง 2 บริษัท รวมถึงการประกอบธุรกิจ ก็ต้องมีข้อมูลพิจารณามาพิจารณาทั้งเชิงกฎหมาย และการประกอบธุรกิจ