อสมท เสียดาย 8 คลื่นวิทยุหลุดมือ! ลุยจัดทัพการจัดการ เขย่าผัง ดึงฐานผู้ฟัง

อสมท เสียดาย 8 คลื่นวิทยุหลุดมือ! ลุยจัดทัพการจัดการ เขย่าผัง ดึงฐานผู้ฟัง

อสมท คว้าประมูล 47 คลื่นวิทยุ ทั้งกรุงเทพและภูมิภาค ยืนหนึ่งด้านผู้นำเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศมากที่สุด พร้อมเดินหน้าขยายดิจิทัลแพลตฟอร์มควบคู่พัฒนาคอนเทนท์ ตอบโจทย์ผู้ฟังทุกกลุ่ม

นายเกษมศานต์ โชติชาครพันธุ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หลังจากการประมูลคลื่นวิทยุครั้งประวัติศาสตร์ในประเทศไทยรอบ 92ปี อสมท ในฐานะผู้ประกอบการที่เคยครองคลื่นมากสุด 60 คลื่น และยื่นประมูล 55 คลื่น และเป็นผู้เสนอราคาสูงสุดทั้งสิ้น 47 คลื่น ภายใต้งบประมูลกว่า 500 ล้านบาท

ทั้งนี้ การประมูลคลื่นวิทยุครั้งนี้ บริษัทมองความสามารถในการทำกำไร ความแข็งแกร่งของเครือข่ายในการครอบคลุมพื้นที่หรือNetwork Coverage Area) และความรับผิดชอบในบทบาทภารกิจทางสังคมของบริษัทที่มุ่งสร้างเสริมการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง

สำหรับการประมูลครั้งนี้ เงินลงทุนส่วนหนึ่งมาจากเงินทุนหมุนเวียนของบริษัทมากกว่า 50% ที่เหลือเป็นสินเชื่อจากสถาบันการเงิน และบริษัทมีศักยภาพในการชำระคืนภายในระยะเวลา 5 ปี ขณะที่ใบอนุญาตประกอบกิจการครั้งนี้มีระยะเวลา 7 ปี การประมูลบางคลื่นไม่ได้ จึงไม่กระทบรายได้ของบริษัท

อสมท เสียดาย 8 คลื่นวิทยุหลุดมือ! ลุยจัดทัพการจัดการ เขย่าผัง ดึงฐานผู้ฟัง

“อสมท สร้างรายได้จากธุรกิจวิทยุสัดส่วน 24-25% การประมูลคลื่นครั้งนี้ อสมท ยังเป็นรายเดียวที่เป็นผู้ใช้คลื่นความถี่ระดับชาติ คือมีครบทั้งในกรุงเทพฯ ปริมาณฑล ต่างจังหวัด และท้องถิ่น คลื่นที่ไม่ได้ เรามีแผนจะสร้างเครือข่ายพันธมิตรเพื่อให้บริการครอบคลุมฐานผู้ฟัง”

ส่วนแนวทางการดำเนินธุรกิจวิทยุจากนี้ไป บริษัทจะมีการปรับโครงสร้างการทำงานใหม่เป็นตามกลุ่มจังหวัด หรือบริหารงานภูมิภาค จากเดิมแบ่งการบริหารเป็น 2 ส่วน ส่วนกลาง และคลื่นสถานีต่างๆกำกับโดยภูมิภาค การปับผังรายการ จัดสรรเวลาออกอากาศส่วนกลางและภูมิภาคให้เหมาะสมกับฐานผู้ฟัง พร้อมนำเสนอรายการทั้งทางวิทยุและช่องทางออนไลน์คู่ขนานด้วย

“วิทยุเป็นหนึ่งในเป้าหมายการเพิ่มรายได้ของบริษัท การประมูลไม่ได้ 8 คลื่น จะบอกว่าไม่เสียดาย ก็คงไม่ใช่ เพราะเราตั้งใจจะให้ได้ทั้ง 55 คลื่น เมื่อไม่ได้ก็ต้องเดินหน้าต่อ ส่วนหลังการประมูลคลื่น มองภาพรวมธุรกิจวิทยุจะไม่เปลี่ยนนัก หลักการทำตลาด กลยุทธ์ไม่แตกต่างจากเดิม สิ่งที่เปลี่ยนคือความรวดเร็วในการแข่งขัน และใครพัฒนารายการได้ดีกว่า”

นีลเส็นรายงานเม็ดเงินโฆษณาวิทยุมีมูลค่าเกือบ 5,000 ล้านบาท ช่วงหลายปีที่ผ่านมาตลาดหดตัวลง แต่เดือนมกราคม 2565 มีการเติบโตอัตรา 1 หลัก

อย่างไรก็ตามหลังจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ประกาศรายชื่อผู้ชนะการประมูล ผู้ชนะการประมูลจะต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตเท่ากับราคาที่ชนะรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม แจ้งข้อมูลสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับบริการด้านกระจายเสียง เพื่อประกอบการพิจารณาอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ และยื่นคำขอรับใบอนุญาต ตาม พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งการเป็นผู้ชนะประมูล