“ออกกฎคุม “ธุรกิจดิจิทัล โจทย์ใหญ่”บอร์ดแข่งขันทางการค้า”
โลกหมุนสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล กขค .เตรียมออกกฎ กติกา กำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าธุรกิจดิจิทัล สร้างเกราะป้องกันเอสเอ็มอีให้ให้อยู่รอด
คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.)หรือบอร์ดแข่งขันทางการค้า เกิดขึ้นจากพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ที่ต้องให้มีคณะบุคคลเข้ามาดูและกำกับในเรื่องของการแข่งขันทางการค้าไม่ให้มีการผูกขาด เกิดการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม
ช่วง 4 ปี บอร์ดการแข่งขันทางการค้าได้รับเรื่องร้องเรียนรวมทั้งสิ้น 134 เรื่อง โดยในปี 2564 มีการรับเรื่องร้องเรียนสูงสุดถึง 71 เรื่อง เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ประมาณ 2.36 เท่า กลุ่มธุรกิจที่มีการรับเรื่องร้องเรียนมากที่สุดคือ ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Platform) จำนวน 40 เรื่อง รองลงมาคือธุรกิจแฟรนไชส์และธุรกิจบริการอื่นๆ จำนวน 15 เรื่อง และธุรกิจการผลิตและการค้าส่งค้าปลีกจำนวน 16 เรื่อง
เมื่อจำแนกตามพฤติกรรมพบว่าเป็นการใช้อำนาจเหนือตลาดโดยมิชอบจำนวน 40 เรื่อง การปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมจำนวน 28 เรื่อง และการตกลงร่วมกัน จำนวน 3 เรื่อง
ความท้าทายสำคัญของการทำงานของบอร์ดการแข่งขันทางการค้า คือการกำกับดูแลในเรื่องการผูกขาด การมีอำนาจเหนือตลาด และการควบรวมกิจการ โดยเรื่องที่ทำให้”บอร์ดแข่งขันทางการค้าหรือ 7 อรหันต์ ” เป็นที่รู้จักมากขึ้นก็คือ การตัดสินกรณีการควบรวมกิจการระหว่างกลุ่มซีพีและโลตัส ซึ่งเป็นกลุ่มค้าปลีกขนาดใหญ่ในไทย มีมูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท ที่ผู้คว่ำหวอดในวงการมองว่า”ไฟเขียว”ให้มีการควบรวมกิจการได้ จะทำให้เป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด เพราะคุมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ ไม่เกิดการแข่งขันอย่างเสรี เป็นลักษณะปลาใหญ่กินปลาเล็ก แต่สุดท้าย บอร์ดแข่งขันทางการค้าก็โหวตเสียงเห็นชอบรวมกิจการได้ แม้คะแนนจะไม่เป็นเอกฉันท์ คือ 4 ต่อ 3 คะแนน แต่นี่คือ ผลงานชิ้นประวัติศาสตร์และบททดสอบอำนาจหน้าที่ของบอร์ดแข่งขันทางการค้าชุดแรก
ปี 2565 เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย เปลี่ยนรูปแบบ เปลี่ยนโครงสร้างไปจากเดิม เนื่องจากผลกระทบของโควิด-19 โดยโลกได้หมุนเข้าสู่เศรษฐกิจในระบบดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีหรือเมกกะเทรนด์ ได้เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในชีวิตประจำวันของคนทำให้รูปแบบการประกอบธุรกิจเปลี่ยนไปสู่ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรือธุรกิจอีคอมเมิร์ซมากขึ้น เป็นสังคม”ไร้เงินสด” ทั้งการจำหน่าย การซื้อ การขนส่งสินค้า การให้บริการ
โดยทั้งหมดนี้เป็นการซื้อ-ขาย ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งนับวันจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และส่งสัญญาณความเสี่ยงไปยังธุรกิจขนาดเล็กที่สายป่านไม่ยาว อาจทำให้ต้องเลิกกิจการ หรือต้องปรับธุรกิจของตนเองให้อยู่รอดในยุคนี้ ซึ่งจากข้อมูลพบว่า ในปี 2564 มีมูลค่าธุรกิจดังกล่าวสูงถึง 4 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าพ.ศ.2560 ไม่มีการกำหนดแนวทางการกำกับดูแลธุรกิจดิจทัล หรือธุรกิจอีคอมเมิร์ซไม่ว่าจะเป็นคำนิยาม ลักษณะธุรกิจ ขอบเขตตลาด พฤติกรรมการมีอำนาจเหนือตลาด เพราะธุรกิจเหล่านี้ ไม่มีสถานที่ มองไม่เห็นตัวตน ธรรม ดังนั้นการกำหนดนิยาม “ธุรกิจดิจิทัล” ขนาดตลาด พฤติกรรม อำนาจเหนือตลาดต้องมีความชัดเจน ซึ่ง”สกนธ์ วรัญญูวัฒนา “ ประธานบอร์ดการแข่งขันทางการค้า มองว่า จำเป็นต้องทบทวนแก้ไขเพิ่มเติมใหม่ ในพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า
ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายหรือแนวทางการกำกับดูแลที่ชัดเจน นอกเหนือจากพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. … เพื่อรักษาความมั่นคงทางการเงินและการพาณิชย์ ซึ่งเป็นกฎหมายลูกของ พ.ร.บ.ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ออกมาเพื่อกำกับดูแลธุรกิจออนไลน์ และแพลตฟอร์มดิจิทัลทั้งหมด และนี่คือ โจทย์และภารกิจสำคัญของบอร์ดการแข่งขันทางการค้า ในการกำหนดแนวทางการดูแลธุรกิจประเภทนี้ให้มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม