SKY กำไรปี 64 วูบ 64% กู้แบงก์โปะสภาพคล่อง

SKY กำไรปี 64 วูบ 64% กู้แบงก์โปะสภาพคล่อง

โควิดพ่นพิษ SKY ขาดทุน APPS กว่า 308 ล้านบาท กดกำไรปี 64 ดิ่งหนัก 64% ส่งผลให้ต้องกู้แบงก์อุดสภาพคล่อง เผยรายได้ขายและวางระบบวูบ สวนทางค่าบริการงานรัฐพุ่ง

นายสิทธิเดช มัยลาภ กรรมการ SKY ระบุว่า บริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2564 จำนวน 55.20 ล้านบาท ลดลงจำนวน 102.39 ล้านบาท หรือลดลง 64.97% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิรวม 157.59 ล้านบาท

สาเหตุสำคัญมาจากที่บริษัทมีการส่งมอบโครงการได้หลายโครงการในปี 2564 แต่มีผลขาดทุนที่เกิดขึ้นจากโครงการจ้างให้บริการระบบตรวจสอบและคัดกรองผู้โดยสารล่วงหน้า (APPS) และประมวลผลรายการข้อมูลสำหรับฐานข้อมูลการเดินทางของผู้โดยสาร (PNR)

เนื่องจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 เป็นต้นมาจนถึงการระบาดระลอกใหม่ในช่วงปลายปี 2563 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการระบาดระลอกเม.ย.2564 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน บริษัทได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะผลการดำเนินงานจากธุรกิจการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการบิน จากมาตราการควบคุมการเดินทางทางอากาศ

ทำให้จำนวนผู้โดยสารทั้งในประเทศและต่างประเทศมีจำนวนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการรับรู้รายได้ตาม APPS และ PNR โดยบริษัทจะรับรู้ตามจำนวนผู้โดยสารขาเข้า ผู้โดยสารขาออก ผู้โดยสารผ่าน และผู้โดยสารเปลี่ยนลำที่เกิดขึ้นจริง ทำให้ในปี2564 บริษัทมีผลขาดทุนจากโครงการ APPS จำนวน 308.37 ล้านบาท ซึ่งกระทบต่อกระแสเงินสดหมุนเวียนของบริษัท ทำให้บริษัทมีความจำเป็นที่ต้องใช้วงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ภาระต้นทุนทางการเงินเพิ่มสูงขึ้น

อย่างไรก็ตามบริษัทยังคงส่งมอบงานและเรียกเก็บเงินในโครงการอื่นภายใต้สัญญาที่ทำไว้กับลูกค้าได้ตามกำหนดเวลา ทำให้ฝ่ายบริหารสามารถบริหารจัดการกระแสเงินสดหมุนเวียนได้

นายสิทธิชัย ระบุว่า หากพิจารณาผลกำไรสุทธิก่อนการรับรู้ผลขาดทุนจากโครงการ APPS บริษัทจะมีผลกำไรสุทธิประมาณ 301.90 ล้านบาท หรืออัตรากำไรสุทธิต่อรายได้รวมเท่ากับร้อยละ 10.04 ซึ่งสูงกว่า ปี 2563 ร้อยละ 4.96 (ปี 2563 มีผลกำไรสุทธิก่อนการรับรู้ผลขาดทุนจากโครงการ APPS สุทธิจากภาษีเงินได้จำนวน 180.48 ล้านบาท)

ด้านรายได้จากการจำหน่ายและวางระบบแบบเบ็ดเสร็จ  1,581 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 52.68 ของรายได้หลัก มีจำนวนลดลง 762.98 ล้านบาท หรือร้อยละ 32.55 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากปี 2563 ได้มีการส่งมอบงานโครงการคลาวด์กลางภาครัฐ (Government Data Center and Cloud Service: GDCC) ของ กสท โทรคมนาคม ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2563

อย่างไรก็ตามในปี 2564 บริษัทมีรายได้จากการส่งมอบงานจากโครงการต่างๆ คือ โครงการพัฒนาเทคโนโลยีระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดเพื่อควบคุมการตรวจคนเข้าเมือง ของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง โครงการจัดซื้อพร้อมติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด ให้กับท่าอากาศยาน

โครงการจัดซื้อพร้อมติดตั้งกล้องโทรทัศวงจรปิดเพื่อเพิ่มความปลอดภัยบริเวณพื้นที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรม ใน 4 พื้นที่ได้แก่ กรุงเทพใต้ กรุงเทพเหนือ กรุงเทพกลาง กรุงธนใต้ ให้กับกรุงเทพมหานคร  โครงการจัดซื้อพร้อมติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดชนิดเครือข่ายแบบมุมมองคงที่และอุปกรณ์ประกอบพร้อมติดตั้ง 212 กล้อง ให้กับกรุงเทพมหานคร

โครงการพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพอุปกรณ์เครื่องบันทึกภาพชนิดเครือข่าย ให้กับบริษัทเอกชน โครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการดิจิทัลด้านปฏิบัติการให้กับท่าอากาศยาน โครงการจัดซื้อพร้อมติดตั้งระบบ ICT และ Health Tech เพื่อส่งเสริมการรักษาพยาบาลและเพิ่มศักยภาพการรับมือของไวรัส Covid-19 โครงการจัดซื้อพร้อมติดตั้งระบบกล้องอ่านแผ่นป้ายทะเบียนอัตโนมัติ (License Plate Recognition) ใน 4 พื้นที่ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ ให้กับกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด

โครงการจัดซื้อพร้อมติดตั้งระบบติดตามตรวจสอบตำแหน่งและเส้นทางรถยนต์ด้วยสัญญาณดาวเทียม ระบบครุภัณฑ์เครือข่ายคอมพิวเตอร์เชื่อมโยงพร้อมอุปกรณ์ และระบบกล้องอ่านแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์อัตโนมัติแบบเคลื่อนที่ให้กับกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด และโครงการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกลของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ในระยะที่ 2 สำหรับพื้นที่ที่มีการส่งมอบครบถ้วนในช่วงต้นปี 2564

สำหรับรายได้จากการขาย จำนวน 75.14 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.50 ของรายได้หลัก มีจำนวนลดลง 385.40 ล้านบาท หรือร้อยละ 83.68 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากกลุ่มบริษัทมุ่งเน้นการให้บริการขายพร้อมติดตั้งแบบครบวงจร ทำให้รายได้ในส่วนนี้ถูกนำไปรวมอยู่ในรายได้จากการจำหน่ายและวางระบบเบ็ดเสร็จตามที่กล่าวไว้ข้างต้น โดยยังมีรายได้ในส่วนนี้จากโครงการขนาดเล็กที่ไม่จำเป็นต้องติดตั้ง เช่น การขายกล้องวงจรปิดพร้อมโปรแกรมตรวจจับใบหน้าให้ภาคเอกชน เป็นต้น

รายได้บริการ”งานรัฐ”พุ่ง 82%

รายได้ค่าบริการ จำนวน 1,344.88 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 44.81 ของรายได้หลัก มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 607.18 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 82.31 เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งรายได้ส่วนใหญ่ในปี 2564 มาจากค่าบริการจากการให้บริการดูแลและบำรุงรักษาโครงการจัดหาและติดตั้งระบบวิทยุสื่อสารดิจิตอล ระยะที่ 2 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ค่าบริการจากการให้บริการดูแลและบำรุงรักษา โครงการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกลของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ในระยะที่ 2 สำหรับพื้นที่ที่มีการส่งมอบครบถ้วนแล้วในปี 2564 โดยมีระยะเวลาการให้บริการ 5 ปี

ค่าบริการจากการให้บริการรถเข็นกระเป๋าที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยมีระยะเวลาการให้บริการ 7 ปี ค่าบริการจากการให้บริการดูแลและบำรุงรักษาระบบโทรทัศน์วงจรปิด ณ ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ บมจ. ท่าอากาศยานไทย โดยมีระยะเวลาการให้บริการ 3 ปี

ค่าบริการจากการให้บริการดูแลและบำรุงรักษาระบบโทรทัศน์วงจรปิดของกรมศุลกากร โดยมีระยะเวลาการให้บริการ 5 ปี ค่าบริการจากการให้บริการเช่าเครื่องคอมพิวเตอร์และเครื่องคัดแยกจดหมาย (Mix Mail Sorter) กับ บจก. ไปรษณีย์ไทย โดยมีระยะเวลาการให้บริการ 10 ปี

ค่าบริการระบบบริการผู้โดยสารขึ้นเครื่อง (CUPPS) ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยมีระยะเวลาการให้บริการ 10 ปี ซึ่งบริษัทมีการรับรู้รายได้ขั้นต่ำที่ 90% ของประมาณการจำนวนผู้โดยสารขาออกและผู้โดยสารเปลี่ยนลำเฉลี่ยต่อปีตามที่กำหนดในข้อกำหนด (TOR)

ค่าบริการจากโครงการจ้างให้บริการ APP) และ PNR โดยบริษัทมีการรับรู้รายได้อ้างอิงจากจำนวนผู้โดยสารขาเข้า ผู้โดยสารขาออก ผู้โดยสารผ่าน และผู้โดยสารเปลี่ยนลำที่เกิดขึ้นจริงของท่าอากาศยานทั้ง 6 ท่า แต่เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด 19 ทำให้จำนวนผู้โดยสารที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละเดือนมีจำนวนน้อยมาก

ด้านต้นทุนรวมสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2564 มีจำนวน 2,397.62 ล้านบาท ลดลงจำนวน 570 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 19.21 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีต้นทุนรวม 2,967.62 ล้านบาท  

 

นอกจากนี้บริษัทและบริษัทย่อยมีผลขาดทุนอื่นอันเนื่องมาจากอัตราแลกเปลี่ยนสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.2564 จำนวน 52.17 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงของสัญญาเช่าซื้ออุปกรณ์และระบบคอมพิวเตอร์สำหรับโครงการของบริษัทที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศ โดยบริษัทต้องทำการวัดมูลค่าหนี้สินทางบัญชีใหม่ทุกวันสิ้นงวด

ส่วนต้นทุนทางการเงินของบริษัทมีจำนวนรวม 176.72 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ปี 2563 เป็นจำนวน 89.29 ล้านบาท หรือร้อยละ 102.13 เนื่องจากวงเงินสินเชื่อที่นำมาใช้ลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ เช่น โครงการให้บริการและบำรุงรักษาระบบบริการผู้โดยสารขึ้นเครื่อง (CUPPS) ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โครงการ APPS และ PNR รวมถึงการใช้วงเงินสินเชื่อเพิ่มขึ้นสำหรับกระแสเงินสดหมุนเวียนของบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดดังกล่าวข้างต้น