ไทยวา บุกตลาดไทย-ต่างประเทศ มุ่ง M&A ลงทุน ‘สตาร์ทอัพ’
‘ไทยวา’ วาดเป้าปีที่ 80 ยกชั้นขึ้นผู้เล่นระดับโลก เดินหน้าขยายธุรกิจในไทย-ตลาดประะเทศ ควักงบก้อนโตต่อยอดธุรกิจหลักผลิตแป้งมันสำปะหลัง เติมพอร์ตสินค้าอาหารเสิร์ฟกลุ่มเป้าหมายในประเทศ ลุยไบโอพลาสติก ธุรกิจใหม่ รับเทรนด์โลกหนุนโตยั่งยืน
นายโฮ เรน ฮวา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทดำเนินธุรกิจยาวนานถึง 75 ปี เป็นหนึ่งใน 5 ผู้ผลิตแป้งมันสำปะหลังรายใหญ่ของเมืองไทย ซึ่งแนวทางจากนี้ไป บริษัทยังคงเดินหน้าสร้างการเติบโตของยอดขาย และความสามารถในการทำกำไรมากขึ้น รวมถึงการปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการทรานส์ฟอร์มองค์กรมุ่งสู่การเป็นผู้เล่นระดับโลก รวมถึงการขยายสู่ธุรกิจใหม่ เพื่อตอบโจทย์แผนพัฒนาธุรกิจยั่งยืน
ทั้งนี้ แผนงานใน 3-5 ปีข้างหน้า บริษัทวางงบลงทุนราว 2,000 ล้านบาท เพื่อขยายธุรกิจทั้งสร้างโรงงานผลิตสินค้า และตั้งสำนักงาน(ออฟฟิศ)ให้เพิ่มเป็น 18-20 แห่ง เพื่อลุยการทำตลาดในต่างประเทศโฟกัสตลาดยุโรป สหรัฐมาก เอเชียเหนือ เช่น ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ เป็นต้น โดยปัจจุบันบริษัทมีโรงงานและออฟฟิศ 15 แห่ง ได้แก่ ตั้งอยู่ในประเทศไทย 9 แห่ง ประเทศเวียดนาม 3 แห่ง และมีสำนักงานตั้งอยู่ที่ประเทศจีน ประเทศกัมพูชา และประเทศอินโดนีเซีย
นอกจากนี้ การขยายธุรกิจยังให้ความสำคัญในการซื้อและควบรวมกิจการ(M&A)อย่างต่อเนื่อง ผ่านไทยวา เวนเจอร์(Thai Wah Ventures) โดยใช้งบประมาณหลักร้อยถึงพันล้านบาทต่อดีล ซึ่งโครงการที่จะเข้าไปลงทุนเน้นธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง ต้องต่อยอดธุรกิจหลักทั้งเทคโนโลยีการเกษตร การวิเคราะห์ข้อมูลตลอดห่วงโซ่อุปทานสำหรับธุรกิจหรือบีทูบี รวมถึงเสริมทัพธุรกิจใหม่ เช่น การผลิตพลาสติกชีวภาพหรือไบโอพลาสติก ซึ่งบริษัทเพิ่งเริ่มลุยตลาดมา 5-6 ปี แต่ภายใน 3 ปีข้างหน้า จะผลักดันธุรกิจไบโอพลาสติกให้มีสัดส่วนรายได้แตะ 1,000 ล้านบาท จากเดิมสัดส่วนน้อยมาก
ขณะเดียวกันจะมุ่งผลิตสินค้าที่มีมูลค่าค่าเพิ่ม(HVA) รวมถึงการออกสินค้าอาหารเสริมแกร่งพอร์ตโฟลิโอปีละ 10 รายการหรือเอสเคยู จากก่อนโควิดมีสินค้าเพียง 20-30 เอสเคยู ปัจจุบันเพิ่มเป็น 50 เอสเคยู เช่น กลุ่มวุ้นเส้นตรามังกรคู่ ตรากิเลน กลุ่มก๋วยเตี๋ยวและเส้นหมี่ กลุ่มแป้งมันสำปะหลังและสาคู ฯ และการขยายช่องทางจำหน่ายให้กว้างขวางขึ้นทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะการเจาะช่องทางห้างค้าปลีกสมัยใหม่(โมเดิร์นเทรด) จากเน้นขายร้านค้าทั่วไป(เทรดดิชันนอล เทรด)
สำหรับโครงสร้างธุรกิจไทยวาแบ่งเป็น 3 เสาหลัก ได้แก่ การผลิตแป้งมันสำปะหลัง อาหารจากแป้งมันสำปะหลัง และไบโอพลาสติก ซึ่งเป้าหมายใน 3-5 ปีข้างหน้า บริษัทต้องการผลักดันรายได้โต 50% และมีกำไรสุทธิเติบโต 2 เท่าจากปีนี้บริษัทตั้งเป้ายอดขายแตะ 10,000 ล้านบาท ขณะที่ปี 2564 มีรายได้กว่า 9,105 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 323 ล้านบาท
“บริษัทยังมีกระแสเงินสดเพียงพอต่อการลงทุนในอนาคต โดยงบ 2,000 ล้านบาท แบ่งการลงทุน 50% เพื่อต่อยอดธุรกิจหลัก สร้างการเติบโตอัตรา 2 หลักต่อปี อีก 50% จะลงทุนในธุรกิจใหม่ ทั้งหมดช่วยสานเป้าหมายรายได้ใน 5 ปีข้างหน้าเติบโต 50% ส่วนกำไรจะเติบโต 2 เท่าตัว”
แผนดังกล่าว ยังช่วยให้บริษัททรานส์ฟอร์มองค์กรสู่การเป็นบริษัทที่มีทีมงานและขยับเป็นผู้เล่นในระดับโลก(to scale globally)ยกระดับสู่ดิจิทัลทั้งด้านซัพพลายเชน การนำระบบการจัดการการขายระดับโลกมาใช้ ฯ ซึ่งเป็นสิ่งทำอย่างต่อเนื่องกว่า 2 ปีที่ผ่านมา
“ภาพในปีที่ 80 ของไทยวา ต้องการเห็นยอดขายและกำไรเติบโต มีทีมงานยอดเยี่ยมระดับเวิลด์คลาส และการแข่งขันในตลาดเราต้องมีความรวดเร็วในการทำธุรกิจ ความเร็วในการทำงานให้สำเร็จ”
ส่วนสถานการณ์ต้นทุนการผลิตสินค้า ปัจจุบันกำลังเผชิญแรงกดดันราคาพลังงานเชื้อเพลิงที่มีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้น จากวิกฤติความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน แต่ระยะกลางบริษัทวางแผนรับมือโดย 2 โรงงานผลิตในไทยได้ใช้พลังงานก๊าซชีวภาพ ยกระดับการผลิตให้มีประสิทธิผลมากขึ้น ขณะที่การทำตลาดส่งออกไปยังยุโรป คาดว่าจะไม่กระทบ กลับมองเป็นผลบวกที่บริษัทจะได้รับอานิสงส์จากความต้องการแป้งมันสำปะหลังมากขึ้น
ที่ผ่านมา ต้นทุนสินค้าปรับตัวเพิ่มขึ้น 5% และบริษัทขยับราคาขายสินค้าในประเทศ เช่น เส้นก๋วยเตี๋ยว วุ้นเส้น เพิ่มขึ้น 5%