สรท.เตือนผู้ส่งออกไป“รัสเซีย” ประกันความเสี่ยงก่อนส่งมอบสินค้า
สรท.ห่วงปมรัสเซีย-ยูเครน ยืดกระทบส่งออกไตรมาส 2 แนะผู้ส่งออกประกันความเสี่ยงการ ก่อนผลิต-ส่งมอบสินค้า หลังรัสเซียถูกตัด SWIFT เตรียมหารือ "พาณิชย์" เจรจาจีนเปิดเส้นทางรถไฟส่งสินค้าข้ามแดนไปเอเชียกลาง ยุโรป ลดต้นทุนขนส่ง
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สรท.ประเมินผลกระทบจสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน และมาตรการตอบโต้ด้านการค้าและการเงินของสหรัฐและสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งกระทบเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะต้นทุนภาคการผลิตสูงขึ้นจากราคาพลังงานและราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น อาทิ เหล็ก ธัญพืช เซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งอาจส่งผลให้คำสั่งซื้อจากคู่ค้าลดลงบางส่วนเพราะเศรษฐกิจรัสเซียมีขนาดใหญ่ใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก
ทั้งนี้ หากสถานการณ์การสู้รบไม่ยืดเยื้อบานปลายและเจรจาหาข้อยุติใน 3 เดือน การส่งออกไทยปี 2565 จะเติบโต 5% มูลค่า 284,731 ล้านดอลลาร์ ส่วนจะเติบโต 7-8 % มีความเป็นไปได้น้อย ขณะที่การส่งออกไตรมาส 1 จะเติบโต 5% มูลค่า 67,500-68,000 ล้านดอลลาร์ เพราะมีคำสั่งซื้อล่วงหน้าแล้ว
รวมทั้งหากสถานการณ์ยืดเยื้ออาจกระทบต่อการส่งออกไตรมาส 2 ที่คาดว่าจะมีมูลค่า 71,500 ล้านดอลลาร์ เพราะมีคำสั่งซื้อลดลง 4,000-5,000 ล้านดอลลาร์ ทำให้เหลือเพียง 66,000-68,000 ล้านดอลลาร์ หรือไม่เติบโตเมื่อเทียบไตรมาส 2 ปีที่แล้ว ที่มีมูลค่า 68,000 ล้านดอลลาร์ โดยสินค้าที่จะได้รับผลกระทบ อาทิ ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ
นอกจากนี้ต้องจับตาความผันผวนค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด โดยค่าเงินที่เหมาะสมกับการส่งออกควรอยู่กรอบ 32.50-33.50 บาทต่อดอลลาร์ รวมทั้งราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นจากการกดดันของราคาน้ำมัน ส่วนอัตราค่าระวางเรือก็ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง
นายชัยชาญ กล่าวว่า ผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรที่สหรัฐและชาติพันธมิตรใช้กับรัสเซียจะกระทบเศรษฐกิจรัสเซียหดตัว เงินเฟ้อรุนแรง เงินทุนไหลออกจากรัสเซีย ค่าเงินรูเบิลอ่อน กระทบการส่งออกน้ำมัน กระทบตลาดหุ้นและการซื้อขายตราสารหนี้
ส่วนการตัดรัสเซียออกจากระบบการเงินโลก (SWIFT) กระทบการชำระเงินเกือบทุกประเภท กระทบการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ ของผู้นำเข้าส่งออก รวมถึงการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวรัสเซีย ซึ่ง สรท.ขอให้ผู้ส่งออกเตรียมมาตรการรองรับเพื่อป้องกันความเสี่ยง เช่น รับชำระเงินก่อนผลิตหรือส่งมอบสินค้า เจรจาคู่ค้าเพื่อหาแนวทางทำธุรกรรมระหว่างประเทศ และต้องติดตามมาตรการอื่นที่อาจมีเพิ่ม
สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญ คือ สถานการณ์ข้อพิพาทระหว่างยูเครนและรัสเซีย ส่งผลต่อหลายปัจจัยที่สำคัญทั้งภูมิรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจ การค้าระหว่างประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อม หากสถานการณ์การสู้รบยืดเยื้อบานปลาย เช่น ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น ปัญหาราคาวัตถุดิบขาดแคลนและผันผวน อาทิ เซมิคอนดักเตอร์, เหล็ก, สินค้าธัญพืช
นอกจากนี้ เป็นสถานการณ์ค่าเงินบาทมีความผันผวนในทิศทางแข็งค่า New low ในรอบ 5-7 เดือน เพราะมีเงินทุนต่างชาติไหลเข้าตลาดทุนและตลาดพันธบัตรไทย รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในหลายประเทศเริ่มมีผู้ติดเชื้อสูงขึ้นอีกระลอก
ทั้งนี้ สรท.มีข้อเสนอให้ภาครัฐเตรียมรับมือต่อความผันผวนของตลาดเงินทั่วโลกที่อาจเกิดจากกรณีพิพาท สรท.ขอให้รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทให้อยู่ในกรอบ 32.50-33.50 บาทต่อดอลลาร์ กรณีการชำระเงินระหว่างประเทศ ผู้ประกอบการส่งออกควรขอให้ชำระเงินก่อนส่งมอบสินค้าเพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงระดับหนึ่ง
รวมทั้งการร่วมกับปลัดกระทรวงพาณิชย์กับภาคเอกชนในวันที่ 2 มี.ค.2565 จะนำข้อเสนอแนะดังกล่าวนี้ให้พิจารณาด้วย รวมทั้งการเสนอให้ช่วยเร่งรัดเจรจากับทางการจีนเปิดเส้นทางรถและทางราง เพื่อขนส่งสินค้าของไทยผ่านแดนจีนไปยังเอเชียกลาง และยุโรป ทั้งเพื่อลดต้นทุนและลดระยะเวลาการขนส่ง