2 ปีโควิด "ท่องเที่ยว" สูญ 5 ล้านล้าน! บิ๊กโรงแรมประสานเสียงจี้ยกเลิก Test & Go
วิกฤติโควิด-19 ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาสร้าง “บาดแผล” แก่ภาคท่องเที่ยวและโรงแรมของไทยแสนสาหัส เพราะเมื่อย้อนไปปี 2562 อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยเฟื่องฟูขีดสุด! สร้างรายได้รวมทั้งตลาดในและต่างประเทศสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 3 ล้านล้านบาท
จากยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติเกือบ 40 ล้านคน และนักท่องเที่ยวไทย 172 ล้านคน-ครั้ง
หากอยู่ในภาวะปกติ ช่วงปี 2563-2564 ควรมีรายได้รวมไม่ต่ำกว่า 6 ล้านล้านบาท คำนวณจากฐานรายได้ปี 2562 เป็นตัวตั้ง แต่พอหักลบด้วยรายได้จริงที่เกิดขึ้นในปี 2563 ซึ่งปิดที่ 8.12 แสนล้านบาท จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 6.69 ล้านคน และนักท่องเที่ยวไทย 90 ล้านคน-ครั้ง และปี 2564 ประเมินเบื้องต้นน่าจะปิดที่ราว 2.45 แสนล้านบาท จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 4.27 แสนคน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยประมาณ 70,000 บาทต่อคน และนักท่องเที่ยวไทย 53 ล้านคน-ครั้ง
เท่ากับว่าในช่วง 2 ปีดังกล่าว...อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยสูญโอกาสสร้างรายได้รวมเกือบ 5 ล้านล้านบาท!!
มาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า หลังจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สูญโอกาสสร้างรายได้การท่องเที่ยวจากวิกฤติโควิด-19 เกือบ 5 ล้านล้านบาท สมาคมฯมองว่าปีนี้ประเทศไทยไม่ควรเสียโอกาสอีก! หลังเห็น “โมเมนตัม” หรือแรงส่งการฟื้นตัวที่ดีขึ้น หวังว่าจะต่อเนื่องไปจนถึงไฮซีซั่นไตรมาส 4 ปีนี้ ให้กลับมาดีเท่ากับไตรมาส 4 ในปีปกติ ซึ่งถือเป็นกรณีการฟื้นตัวที่ดีที่สุด (Best Case Scenarios) หากทุกประเทศประกาศให้โควิด-19 เป็น “โรคประจำถิ่น” สามารถควบคุมการระบาดทั้งประเทศต้นทางและปลายทาง
ขณะที่วานนี้ (1 มี.ค.) ภายในเวทีอภิปราย “ไทยแลนด์ ทัวริสซึ่ม ลีดเดอร์ชิป ซัมมิต 2022” เหล่าผู้นำในวงการโรงแรมและท่องเที่ยวของประเทศไทยได้ร่วมกันถกถึงอนาคตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย และความเคลื่อนไหวของภาคธุรกิจโรงแรมทั่วโลกในยุค Next Normal รวมถึงเรียกร้องรัฐบาลเพื่อส่งเสริมและฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวอย่างเร่งด่วน มาริสา มองว่า “ควรยกเลิกระบบไทยแลนด์พาส (Thailand Pass) และ Test & Go ให้ Let it Go ได้แล้ว เพราะเป็นทางออกที่จะช่วยอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยให้อยู่รอดและฟื้นตัวแบบก้าวกระโดด”
ทางเหล่าตัวแทนผู้บริหารโรงแรมชั้นนำในงานนี้ต่างก็ “ประสานเสียง” ว่ารัฐบาลไทยควรยกเลิกระบบ Test & Go ด้วยเช่นกัน ผ่านการปรับลดเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคต่อการเดินทาง และคงเงื่อนไขที่จำเป็นเท่านั้น ได้แก่ การมีใบรับรองฉีดวัคซีนครบโดส และมีผลตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR จากประเทศต้นทาง ไม่ต้องมีการตรวจหาเชื้ออีกเมื่อเดินทางมาถึงไทย เพื่ออำนวยความสะดวก ทำให้การเดินทางเข้าไทยเป็นเรื่องง่ายขึ้น
วิลเลี่ยม เอ็ลล์วู๊ด ไฮเน็ค ประธานกรรมการ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT กล่าวว่า รัฐบาลไทยควรยกเลิกระบบ Test & Go เพื่อ “เปิดประเทศเต็มรูปแบบ” ได้แล้ว พร้อมยกเลิกเงื่อนไขต่างๆ เช่น การตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR เมื่อเดินทางมาถึงไทย เพราะส่งผลให้ต้นทุนการเดินทางของนักท่องเที่ยวแพงขึ้น ซ้ำเติมค่าบัตรโดยสารที่แพง แถมยังมีค่าประกันโควิด-19 ที่ยังต้องจ่ายเพิ่มอีก
ทั้งที่ประเทศไทยเป็นผู้นำในการนำร่องเปิดประเทศ แต่กลับเปิดไม่สุดทาง!! จนทำให้ตอนนี้เราเสียความสามารถในการแข่งขัน หลังจากหลายๆ ประเทศเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเต็มรูปแบบ เช่น สหราชอาณาจักร, สหรัฐอเมริกา, มัลดีฟส์, นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และกัมพูชา
“กุญแจสำคัญคือการฉีดวัคซีน และปรับมุมมองว่าโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น หรือโรคหวัดธรรมดาทั่วไป เพราะตอนนี้หลายๆ ตลาดมีศักยภาพเดินทางมาเที่ยวไทย แต่รัฐบาลกลับทำให้การเดินทางเที่ยวไทยเป็นเรื่องยาก ผมมองว่าประเทศไทยไม่ต้องไปแข่งกับใครหรอก แค่แข่งกับมาตรการของรัฐบาลให้ได้ก่อน”
ส่วนเป้าหมายของรัฐบาลที่ตั้งเป้าดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2565 ที่ 10 ล้านคน มองว่าหากยังไม่ยกเลิกระบบ Test & Go ซึ่งมีกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ยุ่งยาก อาจได้นักท่องเที่ยวแค่ 10% ของยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทย 40 ล้านคนเมื่อปี 2562 หรือคิดเป็น 4 ล้านคนเท่านั้น นอกจากนี้กรณีพิพาท “รัสเซีย-ยูเครน” ยังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว ทำให้เป้าหมายมีต่างชาติเที่ยวไทย 10 ล้านคนของรัฐบาลยากยิ่งขึ้นไปอีก!
สเตฟาน ฟานเดน อาวาเล หัวหน้าคณะกลุ่มโรงแรม บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AWC กล่าวเสริมว่า วิกฤติรัสเซีย-ยูเครนส่งผลกระทบต่อการให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศ ทำให้สายการบินต้องเปลี่ยนเส้นทางบินและใช้เวลาบินนานขึ้นอย่างน้อย 1-2 ชั่วโมง เมื่อกฎเกณฑ์ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาไทยยากอยู่แล้ว พอมีสถานการณ์ตึงเครียดเช่นนี้ ยิ่งทำให้เดินทางมาไทยยากขึ้นไปอีก
“อย่างไรก็ตามภาคเอกชนท่องเที่ยวและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกัน มองหาโอกาสในการเติบโต แสดงให้โลกเห็นว่าประเทศไทยยังคงเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโลก”
คลาเรนซ์ ตัน รองประธานอาวุโสฝ่ายพัฒนา ฮิลตัน โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท บอกว่า จากวิกฤติต่างๆ ที่ผ่านมา อาทิ วิกฤติต้มยำกุ้ง สึนามิ และเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง พบว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยสามารถฟื้นตัวกลับมาได้อย่างรวดเร็ว แต่พอเป็นวิกฤติโควิด-19 กลับฟื้นตัวได้ช้ามาก! ส่งผลต่ออัตราการเข้าพักโรงแรมไม่ได้สวยหรูเหมือนเคย แม้จะหวังพึ่งตลาดท่องเที่ยวภายในประเทศไทย แต่ก็ยังฟื้นตัวช้าอยู่ดี ต่างจากตลาดท่องเที่ยวในประเทศของจีนและอินเดียที่ฟื้นตัวรวดเร็ว
พราวพุธ ลิปตพัลลภ กรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท พราว กล่าวว่า แม้ประเทศไทยจะมีสินค้าบริการท่องเที่ยวที่โดดเด่น เช่น หาดทรายชายทะเล แต่ตอนนี้ทะเลสวยๆ มีอยู่ทั่วโลก สิ่งที่ประเทศไทยต้องทำคือการสร้างความแตกต่างด้วย “เอ็นเตอร์เทนเมนต์” เช่น การจัดอีเวนท์ และคอนเสิร์ต เพื่อกระตุ้นบรรยากาศการท่องเที่ยวให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง!
เดิร์ก อังเดร ลีน่า คุยเบอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ SHR ซึ่งเป็นบริษัทลูกในเครือบริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า อีกประเด็นสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามคือเรื่อง “แรงงาน” ว่าจะทำอย่างไรให้แรงงานกลับเข้ามาทำงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอีกครั้ง หลังจากวิกฤติโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กระทบต่อตลาดแรงงานท่องเที่ยวอย่างรุนแรง จนต้องออกไปหารายได้เลี้ยงชีพในเซ็กเตอร์อื่นแทนๆ เช่น ขายของออนไลน์
บุน ควี ลิ้ม ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ ดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า ในยุคระหว่างและหลังโควิด-19 ผู้ประกอบการโรงแรมจำเป็นต้อง “อัพสกิล” แรงงานท่องเที่ยวเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมดึงดูด “คนรุ่นใหม่” เข้ามาทำงานในวงการท่องเที่ยวมากขึ้น แสดงให้พวกเขาเห็นถึงศักยภาพและอนาคตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยว่าสามารถเติบโตได้ในระยะยาว ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาแรงงานและธุรกิจไปพร้อมๆ กัน