SO  ลั่นปักหมุดเป็น "เทคคอมพานี" รายใหม่ของเมืองไทย

SO  ลั่นปักหมุดเป็น "เทคคอมพานี" รายใหม่ของเมืองไทย

"สยามราชธานี" พร้อมปรับจากธุรกิจการจ้างเหมาบริการครบวงจรแบบดั้งเดิม เป็น Tech Company ลุยปรับพัฒนานวัตกรรม จับมือพันธมิตร คู่ค้าและสตาร์ทอัพสร้างระบบนิเวศให้เกิดผลิตภัณฑ์และการบริการใหม่ ไม่ห่วงสภาพคล่องหลังเข้าตลาดหุ้น ย้ำช่วยเพิ่มสถานะทางการเงินที่มั่นคง

นายณัฐพล วิมลเฉลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามราชธานี จำกัด (มหาชน) หรือ SO ผู้นำด้านธุรกิจการจ้างเหมาบริการครบวงจร (Outsourcing Services)  เปิดเผยว่า ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา หลังบริษัทจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เงินที่บริษัทได้นำเงินระดมทุนทำให้บริษัทเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น สรุปเป็น 3 ประเด็นหลักคือ 


1.ช่วยปรับเปลี่ยนจากการเป็นบริษัทธุรกิจการจ้างเหมาบริการครบวงจรแบบดั้งเดิม (Traditional Outsourcing) เป็นบริษัทที่เข้าสู่การใช้เทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรมใหม่ให้เกิดขึ้น หรือ Tech company เนื่องจาก SO มีบุคลากรทางด้านที่การใช้เทคโนโลยี (Peopleware) ทำให้มีฐานข้อมูล (Database) ด้านทรัพยากรบุคคล (Human Resource) มากกว่า 1 แสนคน ซึ่งกลายเป็นจุดแข็งให้กับบริษัทเพราะส่งผลให้สร้างนวัตกรรมอื่นเพิ่ม ตั้งแต่ด้าน Peopleware ด้าน Software และ Hardware ที่จะนำไปสู่การบริการที่หลากหลายและครบวงจร (Fully Integrated Solution) และยังช่วยตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้สะดวกสบาย รวมถึงช่วยประหยัดทั้งค่าใช้จ่ายและเวลาได้อีกด้วย
 

2.มีการตั้งแผนกเทคโนโลยี (Technology) และแผนกการลงทุน (Investment) แยกจากธุรกิจหลัก (Core Business) โดยเฉพาะ ทั้งนี้เพื่อให้หน่วยงานดังกล่าวสามารถมุ่งมั่น และโฟกัสในการสร้างธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตได้ก้าวกระโดดใหม่ (New S-Curve) ทั้งทางด้าน Technology และ Digital Transformation ให้แก่สยามราชธานี หลังจากได้ปรับการทำงานลดลำดับขั้นตอนที่ยุ่งยากโดยใช้ Agile มากขึ้น 

และ 3.เริ่มเกิดความร่วมมือเซ็นสัญญา และร่วมลงทุนกับพันธมิตรทางธุรกิจมากมาย ไม่ว่าจะเป็นคู่ค้า ผู้ที่ให้บริการครบวงจรเหมือนกัน สตาร์ทอัพ ต่างๆ อาทิเช่น ความร่วมมือเพื่อสร้าง IT Infrastructure ร่วมกันกับ Huawei Technology การได้เป็นหนึ่งในผู้ร่วมลงทุนพันธมิตร Strategic Partners ใน VC Fund ของ Krungsri Finnovate และยังอยู่ระหว่างการร่วมพัฒนา Outsourcing Solution ร่วมกันกับสตาร์ทอัพ รวมถึงเริ่มตั้งคณะกรรมการ (บอร์ด) ทางด้านยุทธศาสตร์ของบริษัท ที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับสตาร์ทอัพและเทคโนโลยีบล็อกเชน เพื่อนำไปสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่อนาคตจะร่วมกันพัฒนาเป็นแอปพลิเคชันต่างๆ ให้เกิดขึ้นเพื่อใช้ในหน่วยงานของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

“จาก 3 ปัจจัยหลักที่บริษัทพยายามทำอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นไปตามแผนและเป้าหมายที่ตั้งไว้เพราะต้องการให้สยามราชธานีเป็นบริษัทที่รู้จักในแวดวงธุรกิจและนักลงทุนมากขึ้น ที่สำคัญคือ การสร้างการรับรู้ว่า ปัจจุบัน SO อยู่ระหว่างการดำเนินงานเพื่อเป็นบริษัท Tech Company จากเดิมเป็น Traditional Outsourcing” 

นอกจากนั้น วิสัยทัศน์ของบริษัทในระยะยาวคือ สยามราชธานีต้องการเป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจบริการจ้างเหมาแบบครบวงจรระดับโลก (Global Business Process Outsourcing) ซึ่งมีเป้าหมายที่จะช่วยสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาสตาร์ทอัพให้เติบโต รวมถึงพร้อมเป็นผู้ลงทุน และเป็นพื้นที่สนามให้กับผู้คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ หรือสตาร์ทอัพได้ทดสอบ (Sandbox) การคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สามารถเกิดการใช้จริงในโลกปัจจุบันได้ (Real World Environment)

อย่างไรก็ดี  ปี 2565 บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโต 10% จากปีก่อนที่ทำได้ 2,086 ล้านบาท จาก 2 แรงขับเคลื่อนหลักคือ 1.การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการบริการ การจ้างเหมาบริการครบวงจรมากขึ้น เพื่อให้เกิดการวิจัยและการพัฒนา (R&D) และเกิดนวัตกรรมใหม่เพิ่มขึ้น และ 2.การพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ กับพันธมิตรของบริษัท รวมถึงพร้อมที่จะลงทุนธุรกิจใหม่เพิ่มขึ้นเมื่อมีโอกาส เนื่องจากมองว่าจะช่วยให้เกิดทั้งผลิตภัณฑ์ใหม่ และการบริการรูปแบบใหม่ที่จะสามารถตอบโจทย์ตามความต้องการลูกค้าได้หลากหลาย และครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้บริษัทขยายฐานได้กลุ่มลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นอีกด้วย 

“เช่นเดียวกันที่ปีนี้ บริษัทพยายามจะรักษาอัตราการทำกำไรอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเห็นผลชัดเจนจากที่ปีแล้วกำไรสุทธิเติบโตขึ้น 20% และตัวเลขอัตรากำไรสุทธิก็ปรับขึ้น รวมถึงอัตรากำไรขั้นต้นก็ยังสามารถรักษาในระดับเดียวกันกับปีก่อนหน้าได้ ทั้งนี้เพราะบริษัทมีนโยบายใช้กลยุทธ์การลดหรือตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นทั้งเรื่องของเวลาและเงินทุน (Lean) ที่ทำมาต่อเนื่องมาตลอด 2-3 ปี และที่สำคัญคือ การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่มาปรับใช้ในการดำเนินงานที่สามารถช่วยลดความซ้ำซ้อนการทำงานให้กับลูกค้า” 

นางสาวกัณธิมา แจ้งวันสุข กรรมการผู้จัดการ กล่าวว่า ปี 2564 SO มีกำไรสุทธิ 168 ล้านบาท เติบโตสูงถึง 20.8% จากปีก่อนที่ทำได้ 139 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเติบโตมาจากทุกหน่วยธุรกิจของบริษัท โดยมีอัตรากำไรสุทธิปีนี้อยู่ที่ 8.1% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ทำได้ 6.8% ขณะเดียวกันยังสามารถรักษาระดับอัตรากำไรขั้นต้นที่ 18.8% ซึ่งใกล้เคียงปีก่อนที่ทำได้ 18.3% ขณะที่ตัวเลขสถานะการเงินมีความแข็งแกร่งมาก

อย่างไรก็ดี บริษัทพยายามจะที่พัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการดำเนินในธุรกิจหลักของบริษัทให้เติบโตเฉลี่ยระดับ 10% จากฐานลูกค้าปัจจุบัน แต่ทั้งนี้ยังต้องคำนึงถึงสถานการณ์ โควิด-19 ซึ่งบริษัทส่วนใหญ่ยังลดค่าใช้จ่าย และการดำเนินงานต่อเนื่องตามการชะลอของเศรษฐกิจ


นอกจากนั้น  SO พยายามพัฒนาระบบต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งข้อติดขัดการใช้บริการของลูกค้า (Pain Point) อีกทั้งนี้บริษัทจะมีการเผยแพร่กรณีตัวอย่างของบริษัทที่มีการใช้นวัตกรรมใหม่มาแสดงผลให้บริษัทที่สนใจลดขั้นตอนกระบวนการทำงานได้เห็นว่าผลลัพธ์ที่ออกมาเป็นอย่างไร (Outsourcing Show Case) ซึ่งอาจจะใช้วิธีการจัดสัมมนาหรือแนวทางอื่นๆ เพื่อให้ธุรกิจอื่นได้สามารถนำแนวคิดเหล่านี้ไปประยุกต์การใช้งานในแบบฉบับของตัวเองได้ (Reapply)

นายอภิวัฒน์ เกรียงวัฒนากุล รองกรรมการผู้จัดการ ด้านการลงทุน และโครงการ กล่าวว่า การเข้าตลาดหุ้นทำให้บริษัทมีสถานะทางการเงินที่มั่นคงจนมีความสามารถให้เกิดการแข่งขันได้มากขึ้น โดยประเมินว่าสามารถจัดสรรงบประมาณเพื่อการลงทุนได้กว่า 1,000 ล้านบาท และปีที่ผ่านมา SO มีการเซ็นเอ็มโอยูเพื่อพิจารณาเรื่องการลงทุนกับร่วมพัฒนาธุรกิจ (Partnership) โดยมีเป้าหมายเน้นการลงทุนธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตในอนาคต โดยเฉพาะทางด้าน Software House และ Professional Training รวมถึง Outsourcing Provider ที่สามารถต่อยอดธุรกิจให้กับบริษัทได้อย่างต่อเนื่อง และบริษัทยังเปิดโอกาสที่จะให้กับบริษัทหรือสตาร์ทอัพต่างๆ ที่เห็นว่ามาช่วยกันทำให้เกิดสิ่งใหม่ก็สามารถเข้ามาร่วมกันพัฒนาเรียนรู้กันได้ตลอดเวลา

สำหรับความคืบหน้าการลงทุนในกลุ่มบริษัท ADI Thailand ซึ่งประกอบธุรกิจกิจการเกี่ยวกับการบริการจัดหาบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Staff Outsourcing) และให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Consulting Services) ในประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะ SO มีเป้าหมายที่จะเป็น IT Outsourcing เนื่องจาก ADI มีบุคลากรด้านไอทีกว่า 500 คนที่น่าจะช่วยให้บริการให้กับบริษัทชั้นนำในประเทศไทยได้หลากหลายอุตสาหกรรม 

ทั้งนี้ ปัจจุบันยังอยู่ในกระบวนการทำดำเนินการประเมินมูลค่าทางธุรกิจ (Due Diligent) ซึ่ง SO ตั้งใจเป็นการลงทุนแบบเชิงกลยุทธ์ (Strategic Investor) ที่จะซื้อทั้งบริษัท ทำให้ต้องมีการพิจารณารายละเอียดเพิ่มขึ้น รวมถึงการรวมพนักงานเข้ามาที่บริษัทด้วย ขณะที่รูปแบบการทำดีลที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา  แต่ทั้งหมดนี้ขอให้มั่นใจว่าจะลงทุนเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อบริษัทและผู้ถือหุ้นอย่างแน่นอน

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์