ผู้ถือหุ้น ปตท.ยื่น "ก.ล.ต. - ดีเอสไอ" สอบอดีตบิ๊ก GGC ทุจริต

ผู้ถือหุ้น ปตท.ยื่น "ก.ล.ต. - ดีเอสไอ" สอบอดีตบิ๊ก GGC ทุจริต

ผู้ถือหุ้น ปตท.ยื่น ก.ล.ต. - ดีเอสไอ - ปอศ. สอบอดีตผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ GGC ทุจริต และพัวพันฟอกเงิน เสียหายกว่าพันล้านบาท

เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2565 นายสยามราช ผ่องสกุล ในฐานะผู้ถือหุ้นของ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) และบริษัทในเครือ ได้ทำหนังสือ ถึงเลขาธิการ ก.ล.ต., อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และผู้บัญชาการ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ(บก.ปอศ) ขอให้ดำเนินคดีกับกลุ่มบุคคลที่ร่วมกันกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 และพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องตามอำนาจหน้าที่

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.2563 นายสยามราช ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษกลุ่มบุคคลที่ร่วมกันกระทำความผิดตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 และอาจเข้าข่ายการกระทำความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 หลายกรณี

1.อดีตผู้บริหารของบริษัท ไทยโอลีโอเคมี จำกัด (TOL) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ปตท. ร่วมกันกระทำความผิดกับบริษัทเอกชน และร่วมกันปกปิดการกระทำความผิด (ระหว่างปี 2550-2552) มีการทุจริตซื้อวัตถุดิบที่มีราคาสูงกว่าราคาประกาศกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ และขายผลิตภัณฑ์ที่มีราคาขายต่ำกว่าราคาตลาด เป็นการเอื้อผลประโยชน์ให้กับกลุ่มเอกชนทำให้ TOL ได้รับความเสียหาย 314 ล้านบาท โดยไม่มีการดำเนินคดีกับอดีตผู้บริหาร และบริษัทเอกชนผู้ที่เกี่ยวข้อง  

2.อดีตเจ้าหน้าที่บริษัท โกลบอลกรีน เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GGC) ร่วมกันกระทำความผิดกับบริษัทเอกชน TOL ที่ต่อมาได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ใช้ชื่อว่าบริษัท GGC หลังจากที่มีคณะผู้บริหารชุดใหม่มาแทนผู้บริหารเดิมที่ลาออกในเดือนมิ.ย.2561

แต่ในช่วงระยะเวลาปลายปี 2561-2563 พบว่ายังมีการกระทำความผิดลักษณะเดียวกันกับ ปี 2550-2552 มีการซื้อวัตถุดิบที่มีราคาสูงกว่าราคาประกาศกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ทำให้มีผลต่างหรือขาดทุนทันทีในวันที่ซื้อหลายล้านบาท

นายสยามราช ระบุว่า การดำเนินงานดังกล่าวมีบริษัท เอกชนที่เกี่ยวข้องคือ บริษัท “พี” เป็นบริษัทเครือเดียวกันหรือกลุ่มเดียวกันกับ บริษัท “พ” เทรดดิ้ง จำกัด มีเจ้าของชื่อเฮีย “ป” ผู้ยิ่งใหญ่และมีอิทธิพลในวงการค้าน้ำมันภาคใต้มาเกี่ยวข้องตั้งแต่ TOL ยังไม่เข้าตลาดหลักทรัพย์ จนเข้าตลาดหลักทรัพย์ และเปลี่ยนชื่อเป็น GGC

3.เจ้าหน้าที่ GGC ปลอมเอกสาร แล้วนำเอกสารปลอมไปฉ้อโกงเงิน ปตท. ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงปี 2561 โดยพฤติการณ์คือ เจ้าหน้าที่ GGC ได้ปลอมเอกสารขึ้นมาหลายฉบับ เป็นรายงานปริมาณสินค้าในคลัง โดยได้ปลอมลายมือชื่อ และได้สแกนลายมือชื่อพนักงานของบริษัท คลังเก็บน้ำมัน ลงในเอกสารปลอม แล้วถ่ายเอกสาร

โดยที่เจ้าหน้าที่ ตลอดจนบริษัทคลังเก็บน้ำมัน ไม่รู้เรื่องการปลอมเอกสาร การปลอมเอกสารดังกล่าวเพื่อหลอกลวงให้ผู้อื่นเชื่อว่า GGC มีน้ำมันอยู่จริงตามรายงานปริมาณสินค้าในคลัง ซึ่งช่วงระยะเวลาดังกล่าวไม่มีน้ำมันอยู่จริง

ต่อมาได้มีการนำเอกสารปลอมดังกล่าวไปหลอกลวงต่อ ปตท.ว่ามีน้ำมันอยู่จริงตามรายงานปริมาณสินค้าในคลัง แล้วเบิกเงินจาก ปตท. เป็นเงินประมาณ 400-600 ล้านบาท อันเป็นการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง  

นายสยามราช กล่าวว่า มีเอกสารสำคัญจำนวนมาก ที่ชี้ชัดว่ามีผู้กระทำความผิดจริง ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 และอาจเข้าข่ายการกระทำความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และทำให้ ปตท.และบริษัทในเครือได้รับความเสียหายกว่า 1,000 ล้านบาท จึงทำหนังสือร้องขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด บูรณาการร่วมกันดำเนินการสืบสวนตามอำนาจหน้าที่เพื่อนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษต่อไป

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์