แกะรอยคน GGC ร่วมคู่ค้าสร้างความเสียหาย ปตท.นับร้อยล้าน
แกะรอยปมเจ้าหน้าที่ GGC กับคู่ค้าน้ำมันสร้างความเสียหาย ปตท.นับร้อยล้านบาท ชี้ควรต้องตรวจสอบปริมาณสินค้าคงคลังรอบคอบก่อนจ่ายเงิน
สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2565 นายสยามราช ผ่องสกุล ในฐานะผู้ถือหุ้น ของปตท.และบริษัทในเครือ ได้ทำหนังสือถึง เลขาธิการ ก.ล.ต.,อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษและผบก.กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ(บก.ปอศ) เรื่อง “ขอให้ดำเนินคดีกับกลุ่มบุคคลที่ร่วมกันกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 และพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องตามอำนาจหน้าที่” นั้น
นายสยามราช ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า ตนได้ส่งมอบเอกสารที่สำคัญให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว โดยปรากฏหลักฐานสำคัญที่เชื่อมโยง เจ้าหน้าที่ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด(มหาชน) (GGC) กับบริษัทเอกชน ว่าอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต และพัวพันกับการฟอกเงิน ในเรื่องที่เกี่ยวกับที่เจ้าหน้าที่ GGC ได้มีการปลอมเอกสาร และใช้เอกสารปลอมมาเบิกเงินกับบริษัทในเครือ ปตท. ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อประมาณกลางถึงปลายปี พ.ศ.2560
นายสยามราช ระบุว่า GGC ได้ทำธุรกิจร่วมกับ ปตท. โดย ปตท. จะเป็นผู้ซื้อสินค้าน้ำมันปาล์มจากบริษัทคู่ค้า ซึ่ง ปตท. จะจ่ายเงินให้แก่บริษัทคู่ค้าไปก่อน หลังจากนั้นประมาณ 30-45 วัน GGC จึงจะจ่ายเงินให้แก่ ปตท.
ทั้งนี้ขั้นตอนการซื้อขาย ระหว่างบริษัทคู่ค้ากับ ปตท. และปตท. กับ GGC กำหนดจุดส่งมอบสินค้าเป็นจุดเดียวกัน เมื่อถึงกำหนดวันที่บริษัทคู่ค้าต้องส่งมอบสินค้าให้ ปตท. GGC และบริษัทคู่ค้าจะจัดส่งเอกสารที่เรียกว่า SHORE TANK GAUGING REPORT(ปริมาณสินค้าคงคลัง) ให้แก่ ปตท. เพื่อยืนยันว่าบริษัทคู่ค้าได้จัดส่งสินค้าให้แก่ ปตท.แล้ว เพื่อรอส่งมอบให้แก่ GGC
หลังจากที่ ปตท. ได้รับเอกสาร SHORE TANK GAUGING REPORT แล้ว ปตท. จึงจะชำระเงินค่าสินค้าให้แก่บริษัทคู่ค้าไปก่อน หลังจากนั้น ปตท. จะจัดส่งใบแจ้งหนี้เรียกเก็บเงินค่าสินค้ามายัง GGC เมื่อ GGC ได้รับใบแจ้งหนี้จาก ปตท.แล้ว GGC จะจ่ายเงินค่าสินค้าให้แก่ ปตท.
จากการสืบค้นพบว่า บริษัท “A” บริษัทคู่ค้ารายหนึ่งไม่ได้มีการส่งสินค้าน้ำมันปาล์ม ณ จุดส่งมอบจริง โดยบริษัทคู่ค้ากับ เจ้าหน้าที่ GGC ได้ร่วมกันทำเอกสารปลอม มีการปลอมเอกสาร SHORE TANK GAUGING REPORT ของบริษัทคลังเก็บสินค้า เพื่อให้ปตท.เชื่อว่ามีน้ำมันอยู่จริง แล้วหลอกลวงให้ ปตท. ชำระเงินให้แก่ บริษัท “A” อันเป็นการกระทำที่ทำให้ บริษัท “A” ได้รับเงินค่าสินค้าโดยไม่ได้ส่งมอบสินค้า ณ จุดส่งมอบสินค้าตามที่กำหนดไว้เป็นเหตุให้ ปตท.ได้รับความเสียหาย ต้องชำระเงินค่าสินค้าจำนวน 400 ล้านบาท โดยไม่ได้รับสินค้าจากบริษัท “A” มีการกระทำเช่นนี้มากถึง 6 ครั้ง หรือ 6 สัญญา
นายสยามราช กล่าวว่า คดีนี้ มีการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ(บก.ปอศ) ในข้อหาหรือฐานความผิด ปลอมเอกสาร และใช้เอกสารปลอม ไปหลอกลวงเงินจากบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) การกระทำความผิดมากกว่า 2 ครั้ง เข้าข่ายเป็นการฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ อันเป็นความผิดมูลฐาน ตาม พ.ร.บ.ป้องกัน และปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3(18)
นายสยามราช กล่าวว่า ปตท. (Ptt Trading) ที่จ่ายเงินออกไปหลายร้อยล้านบาท ควรที่จะมีการตรวจสอบ ตรวจสอบปริมาณสินค้าคงคลังว่ามีน้ำมันอยู่จริงหรือไม่ให้ถูกต้อง ก่อนที่จะจ่ายเงินออกไป
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์