'นาแห้ว' ศรีประจันต์ ทำเงิน 3 หมื่น/เดือน

'นาแห้ว' ศรีประจันต์ ทำเงิน 3 หมื่น/เดือน

นาแห้ว(สมหวัง) ศรีประจันต์หนึ่งเดียวของประเทศไทยสร้างรายได้ให้เกษตรกรและชาวบ้านในพื้นที่อย่างงาม แม้โควิด 19 จะระบาดแต่ปีนี้แห้วกลับราคาดี เป็นที่ต้องการของตลาดเนื่องจากแห้ว สามารถนำไปแปรรูปเป็นอาหารได้หลากหลายเมนู

จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นอีกจังหวัดที่เป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญของภาคกลางเกษตรกรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา ทำสวน เลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้ง เป็นอาชีพหลักในสร้างรายได้ให้กับเกษตร แต่ที่อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี นอกจากเกษตรกรจะประกอบอาชีพ ทำนาทำสวน แล้วยังมีอีกอาชีพหนึ่งเป็นที่สร้างรายได้อย่างงามให้กับเกษตรและชาวบ้านนั่นคืออาชีพทำนาแห้ว หรือสมหวัง ซึ่งนาแห้วที่ว่าไม่สามารถทำได้ในพื้นที่ทั่วไปแต่จะทำได้ก็เฉพาะบางพื้นที่เท่านั้นอย่างที่จังหวัดสุพรรณบุรี ก็ใช่ว่าจะทำนาแห้วได้ทั้งจังหวัด มีเพียงอำเภอศรีประจันต์ และเฉพาะบางหมู่บ้าน ของบางตำบลเท่านั้นเรียก ได้ว่านาแห้วของจังหวัดสุพรรณบุรี นั้นนับเป็นแห่งเดียวและหนึ่งเดียวของประเทศไทย

น.ส.ศรีวิรุฬห์ แก้วศรีงาม ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 9 ต.วังยาง อำเภอศรีประจันต์ เปิดเผยว่า จังหวัดสุพรรณบุรี มีเพียงตำบลวังยาง ตำบลมดแดง ตำบลดอนปรู และอำเภอเมืองสุพรรณบุรี เฉพาะหมู่บ้านแต่ก็เล็กน้อย เท่านั้นที่สามารถทำนาแห้วได้ พื้นที่ส่วนมากอยู่ในตำบลวังยาง และตำบลมดแดง ที่สามารถทำนาแห้วได้ พื้นที่โดยรวมเนื่องจากสภาพดินและแหล่งน้ำเนื่องจากแห้วเป็นพืชที่ใช้น้ำเยอะใช้น้ำหล่อเลี้ยงตลอด ส่วนตนอยู่ในพื้นที่ หมู่ 9 ตำบลวังยาง ทำนาแห้ว 3ไร่ ที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ไม่มีพ่อค้ารับซื้อทำให้แห้วราคาตกต่ำ บางรายถึงกับปล่อยทิ้ง

แต่พอมาปีนี้เกษตรกรที่ปลูกแห้วเริ่มลืมตาอ้าปากได้เนื่องจากแห้วสดที่ยังไม่ปอกราคาสูงขึ้นถึงถังละ 250 บาทหรือตันละ 25,000 บาทจากเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาราคาอยู่ที่เกวียนละ 20,000 บาทแต่คนรับซื้อน้อยเกษตรกรบางรายต้องทิ้ง ส่วนต้นทุนการผลิตตกไร่ละ 10,000 กว่าบาทเพราะปุ๋ย ยา น้ำมัน ราคาแพง อีกทั้งยังต้องจ้างคนงมก็หายาก โดยค่าจ้างงมแห้ว ถังละ 70-100 บาทแล้วแต่สภาพดินอ่อนดินแข็ง ผลผลิตต่อไร่ อยู่ประมาณ 3 เกวียนราคา เกวียนละ 25;000 บาท ชาวบ้านที่มารับจ้างงมแห้วจะตื่นประมาณ ตีหนึ่งตีสอง เพื่อมางมแห้ว ประมาณหกโมงเช้าก็จะนำแห้วขึ้นชั่งกิโลก่อนจะรับเงินกลับบ้านแต่ละคนจะมีรายได้คนละ 400-500 บาท บางคนถ้ายังพอไหวก็จะงมแห้วต่อ หรือไปรับจ้างทำงานอื่นต่อทำให้มีรายได้แต่ละวันเกือบ 1,000 บาท

แห้วนับเป็นพืชเศรษฐกิจ ที่สำคัญรองจากนาข้าว ซึ่งชาวบ้านตำบลวังยาง ตำบลมดแดง ตำบลดอนปรู อำเภอศรีประจันต์ ที่กันมากว่า 80 ปีถือเป็นของดีของชาวจังหวัดสุพรรณบุรี โดยเฉพาะอำเภอศรีประจันต์ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกรายใหญ่ แห่งเดียวของประเทศ ได้รับความสนใจจากประชาชนและนักท่องเที่ยวจากทั่วประเทศ เข้ามาดูงานเป็นหมู่คณะและร่วมกิจกรรมงมแห้วโดยได้รับการสนับสนุนจากเทศบาลตำบลวังยาง นักท่องเที่ยวจะเสียค่าเหยียบนาแห้วให้กับเจ้าของ คณะละ 500 บาทเมื่องมแห้วเสร็จ นักท่องเที่ยวแต่ละคนก็จะได้แห้วที่ตัวเองงมกลับไปทานที่บ้าน ซึ่งแห้วของชุมชนเราเป็นแห้วที่ปลอดสารเคมีรับประทานแล้วปลอดภัย แห้วยังสามารถนำไปแปรรูปเป็นอาหารทั้งคาวและหวานได้มามายหลากหลายเมนู