บีเจซี บิ๊กซี ส่งสัญญาณต้นทุนสินค้าพุ่งแรง Q2 ปี 65 ทุ่ม 15,000 ล. ขยายค้าปลีก
ปีเสือดุ สำแดงเดชต่อเนื่อง เปิดศักราชผู้บริโภค ภาคธุรกิเจอวิกฤติโควิด “โอมิครอน” ระบาด ล่าสุดอีกปัจจัยป่วนโลกคือ “สงครามระหว่างรัสเซียยูเครน” ไม่เพียงกดดันราคาพลังงานเชื้อเพลิงพุ่ง แต่กระเทือนความเชื่อมั่นของคนทั้งโลกด้วย บีเจซี บิ๊กซี หวั่นยืดเยื้อฉุดธุรกิจพลัง
อัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบีเจซี บิ๊กซี ให้มุมมองว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบีเจซี โดยเฉพาะโรงงานผลิตขวดแก้ว เพราะมีทั้งการใช้ก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันเตา แม้บางสัญญาการผลิตบางส่วน 50% จะส่งต่อต้นทุนไปยังราคาขวดแก้วได้ ส่วนการผลิตกระดาษชำระ ก็มีต้นทุนที่สูงขึ้นเช่นกัน
นอกจากนี้ การส่งสินค้าของบิ๊กซี ซึ่งมีหน่วยรถจำนวนมาก เบื้องต้นจะมีการปรับเปลี่ยนให้เป็นรถพลังงานไฟฟ้า และจะมีการพิจารณาสร้างจุดชาร์จไฟในสาขาต่างๆด้วย
ทั้งนี้ ภาพรวมของต้นทุนสินค้าที่เพิ่มขึ้น จะเห็นชัดช่วงไตรมาส 2 เพราะจัะมีตัวแปรทั้งค่าเงินบาทที่อ่อนและแข็งค่าขึ้น มีผลกระทบต่อการนำเข้าวัตถุดิบต่างๆ แนวโน้มราคาพลังงานที่คาดการณ์จะแตะ 140 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จาก 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล รวมถึงการขยับตัวของยักษ์ใหญ่สหรัฐฯและซาอุดิอาระเบีย จะหารือเกี่ยวกับสถานการณ์พลังงานทิศทางใด
“สงครามรัสเซีย-ยูเครนครั้งนี้ อาจก่อให้เกิดซัพพลายช็อกด้านพลังงาน และราคาปรับตัวสูงขึ้น กระทบต้นทุนภาคธุรกิจ หากสถานการณ์จบเร็ว ไม่ยืดเยื้อ ผลกระทบที่จะเกิดกับเราจะสั้น แต่ภาพรวมต้นทุนสินค้ายังมีต้นทุนแฝงอื่นๆ เมื่อน้ำมันแพง วัตถุดิบต่างๆราคาปรับตัวเพิ่มด้วย อย่างไรก็ตาม การสู้รบของ 2 ประเทศไม่ได้กระเทือนแค่ราคาพลังงาน แต่มีผลต่อความเชื่อมั่น กำลังซื้อผู้บริโภค จากเดือนมกราคมกำลังฟื้นตัว พอกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม กำลังซื้ออ่อนตัวชัดเจน ถือเป็นกระทบภาคธุรกิจอย่างแท้จริง”
ส่วนการขับเคลื่อนธุรกิจปี 2565 บีเจซี บิ๊กซี ยังเดินหน้าลงทุนต่อเนื่องภายใต้งบประมาณ 14,000-15,000 ล้านบาท เพื่อขยายธุรกิจค้าปลีก 70% อีก 30% เป็นธุรกิจอื่น โดยค้าปลีกจะเปิดบิ๊กซี ไฮเปอร์มาร์เก็ต 2-3 สาขา แบ่งเป็นไทย 1-2 สาขา กัมพูชา 1 สาขา บิ๊กซีมินิ 150-300 สาขาในประเทศ และ 50 สาขาในกัมพูชา บิ๊กซี ฟู้ดเพลส 5 สาขา ร้านขายยาเพรียว 7 สาขา
การมุ่งเปิดร้านสิริฟาร์มา 2 สาขา ในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นร้านขายเวชภัณฑ์ ยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ในราคา “ส่ง” ตั้งแต่ชิ้นแรก โดยสิ้นปี 2565บริษัทมีห้างค้าปลีกทุกรูปแบบกว่า 1,700 สาขา แบ่งเป็น ไฮเปอร์มาร์เก็ต 154 สาขา ซูเปอร์มาร์เก็ต 61 สาขา (บิ๊กซีมาร์เก็ต 38 สาขา และบิ๊กซี ฟู้ดเพลส ซูเปอร์มาร์เก็ต 10 สาขา บิ๊กซีดีโป้ 11 สาขา และเอ็มเอ็ม ฟู้ด เซอร์วิส 2 สาขา) บิ๊กซี มินิ 1,353 สาขา และร้านขายยาเพรียว 146 สาขา
อีกหมากรบใหม่คือเดินหน้าขยายร้าน “โดนใจ” แต่ยังไม่เคาะจำนวนสาขา โดยร้านดังกล่าวเป็นโมเดลธุรกิจที่ปลุกปั้นกลางปี 2564 ปัจจุบันมี 326 สาขา
“ร้านโดนใจเป็นโมเดลธุรกิจที่ชวนขายของชำหรือ Mom&Pop ซึ่งทั่วประเทศมีหลายแสนรายให้เป็นพันธมิตร แปลงโฉมร้านให้มีความทันสมัย มีมาตรฐาน จัดแต่งรูปแบบร้านให้สวยงามมากขึ้นเพื่อดึงดูดลูกค้ากลุ่มเป้าหมายในชุมชน โดยมีทีมงานผู้เชี่ยวชาญจากบิ๊กซีไปช่วยดูแลปรับปรุงร้านให้ และร้านเหล่านั้นซื้อสินค้าจากบิ๊กซีอยู่แล้ว”
นอกจากนี้ ยังมองโอกาสพัฒนาร้านเอ็มเอ็ม ฟู้ดเซอร์วิสต่อเนื่อง จากปัจจุบันมี 2 สาขา ซึ่งเป็นการพลิกบิ๊กซี มาร์เก็ต ทรานส์ฟอร์มสู่ร้านดังกล่าว เพื่อขายอาหารสดและอาหารแห้งซึ่งมีสินค้ากว่า 6,000 รายการ(เอสเคยู) รองรับความต้องการธุรกิจอาหารหรือฟู้ดเซอร์วิสต่างๆ
แผนขยายธุรกิจดังกล่าว บีเจซี บิ๊กซีมองโอกาสเติบโตรายได้ปี 2565 เป็นอัตรา 2 หลัก จากปี 2564 บริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่ 150,139 ล้านบาท ลดลง 4.8% และมีกำไรสุทธิ อยู่ที่ 3,585 ล้านบาท ลดลง 10.4% ซึ่งสาเหตุหลักผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ทำให้ค่าเช่า รวมถึงกลุ่มสินค้าและบริการทางการค้าปลีกสมัยใหม่หดตัวลง
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางวิกฤติ บริษัทมีการปรับตัวสร้างโมเดลค้าปลีกใหม่ ทั้งร้านสิริฟาร์มา เอ็มเอ็ม ฟู้ดเซอร์วิส ร้านโดนใจ รวมถึงเปลี่ยนบัตรสมาชิกจากบิ๊กการ์ดที่มีฐานลูกค้า 17.4 ล้านราย ไปเป็น “บิ๊กพอยท์”(BIG Point) พร้อมเพิ่มสิทธิประโยชน์ 1 คะแนน แลกรับส่วนลด 1 บาท จากเดิม 8 คะแนน ทำให้ลูกค้ากลับมาใช้จ่ายเพิ่มขึ้นทันที ส่วนบีเจซี มีการออกสินค้าอุปโภคบริโภคทำตลาดต่อเนื่อง เพื่อรักษาความเป็นผู้นำ เช่น โดโซะ สบู่นกแก้ว กระดาษชำระซิลค์ เป็นต้น