นมโรงเรียนเดือด เกษตรกร-สหกรณ์ จี้ตัดโควตา ผู้ประกอบการ
ชุมนุมสหกรณ์ ไทย - เดนมาร์ค ร้อง มนัญญา โรงงานขาดเล็กผุดรับโควตานมโรงเรียน แต่อสค.ได้แค่ 9 % จี้ตรวจสอบคุณภาพ ตัดผู้ประกอบการออกเหลือเฉพาะเกษตรกรและสหกรณ์ เล็ง หารือ เฉลิมชัยก่อนยื่นนายก
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังประชุมหารือการแก้ไขปัญหาโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน และรับมอบหนังสือพิจารณาหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเข้าร่วมโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน จากตัวแทนชุมนุมสหกรณ์ นมไทย - เดนมาร์ค จำกัด ว่า
จะนำข้อร้องเรียนดังกล่าว เข้าหารือกับนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา ซึ่งเมื่อได้ข้อสรุปแล้วจะเสนอต่อ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมของไทยซึ่งเป็นอาชีพพระราชทานให้สามารถมีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการนมโรงเรียนได้
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้รับงบประมาณจากรัฐบาลที่จัดสรรให้ดำเนินการปีละกว่า 14,000 ล้านบาท สำหรับผลิตนมโรงเรียน ที่มีคุณภาพให้แก่เด็กนักเรียนของไทยได้ดื่มนม และยังช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมให้ความสามารถประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ จากข้อร้องเรียนของชุมนุมสหกรณ์โคนมไทย - เดนมาร์ค จำกัด ที่ได้มีการประชุมร่วมกันในหลายครั้งที่ผ่านมา พบว่า มีหลายประเด็นที่จะต้องตรวจสอบความถูกต้องให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมเกี่ยวกับข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไร อาทิ
- 1. การจัดสรรโควตานมโรงเรียน ให้กับองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ปีการศึกษาละ 96 ตัน เป็นจำนวนที่เหมาะสมหรือไม่ หากเทียบกับจำนวนเกษตรกร ที่ อ.ส.ค. จะต้องรับซื้อน้ำนมดิบวันละประมาณ 700 ตันต่อวัน หรือ 9% ของโครงการนมโรงเรียนที่จะใช้นมดิบทั้งระบบประมาณ 1,200 ตันต่อวัน จากผลผลิตนมทั้งประเทศ 3,500 ตันต่อวัน
- 2. คุณภาพนมดิบที่เข้าโครงการเป็นไปตามมาตรฐานที่มีการกำหนดหรือไม่ เนื่องจากเกษตรกรระบุว่า ในบางพื้นที่ยังพบปัญหาคุณภาพน้ำนมยังไม่ได้มาตรฐาน แต่บางโรงงานนำไปผลิตเข้าโครงการได้ ซึ่งเรื่องนี้เห็นควรต้องมีการมาวางระบบตรวจสอบให้ถูกต้อง และชัดเจน
- และ 3. การที่มีผู้ประกอบการไปจัดตั้งโรงงานผลิตนมขนาดเล็ก 3 – 5 ตัน เพื่อขอรับสิทธิ์เข้าโครงการนมโรงเรียน โดยไม่มีที่มาของฟาร์มโคนมที่นำมาผลิตเป็นวัตถุดิบ กรณีนี้จำเป็นที่จะต้องมีการตรวจสอบว่าเป็นจริงตามข้อร้องเรียนหรือไม่ เป็นต้น
“เจตนารมณ์ของโครงการนมโรงเรียน คือ ต้องการให้นักเรียนของไทยได้ดื่มนมที่มีคุณภาพ และขณะเดียวกันก็ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยง โคนมของไทยมีความยั่งยืนในการประกอบอาชีพ ที่ผ่านมาจึงได้มีการกำหนดรูปแบบโครงการว่า นมที่เข้าโครงการนมโรงเรียน ส่วนหนึ่งจะต้องมาจากเกษตรกร"
แต่จะเห็นว่าปัจจุบัน อ.ส.ค. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจมีหน้าที่รับซื้อ รับผิดชอบนมจากเกษตรกร ซึ่งมีสมาชิกประมาณ 4,500 ครัวเรือน ปริมาณน้ำนมดิบ 700 ตันต่อวัน แต่ได้สิทธิ์โควตานมโรงเรียนเพียง 96 ตันต่อวัน ที่เหลือเป็นภาคส่วนอื่นที่ได้รับโควตาไป
แต่เมื่อเกิดปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกร ทั้งราคาน้ำนม คุณภาพน้ำนม นมโรงเรียนบูด นมโรงเรียนเสีย อ.ส.ค. เป็นหน่วยงานแรกที่ถูกร้องเรียน ในขณะที่ อ.ส.ค. มีส่วนผลิตเพียง 9% เท่านั้น และสัดส่วนนมโรงเรียน 96 ตันต่อวัน ไม่สามารถที่จะดูแลสมาชิกสหกรณ์โคนมได้อย่างครอบคลุม ทำให้เกษตรกรเดือดร้อน
รวมถึง อ.ส.ค. ยังต้องแบกภาระสต็อกน้ำนม UHT กว่า 30,000 ตัน เนื่องจากประสบปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ดังนั้น จะเสนอ นายเฉลิมชัย ให้นำเรื่องนี้หารือในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยเร่งด่วน จะไม่รอให้เกษตรกรต้องขนนมมาทิ้งเหมือนในอดีตที่ผ่านมา”
ด้าน นายสมาน เหล็งหวาน ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์นมไทย - เดนมาร์ค จำกัด มีข้อเสนอในหนังสือให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณา ดังนี้
- 1. ทบทวนพิจารณาโควตานมโรงเรียนให้กับกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์โคนมที่มีเกษตรกรเลี้ยงโคนมเป็นสมาชิก ก่อนผู้ประกอบการบางรายที่ไม่มีโคนม และให้ยกเลิกคุ้มครองโรงงานโรงนมเล็กทั้งหมด ซึ่งไม่เกิดประโยชน์แก่เกษตรกรและนักเรียน ให้ยกเลิก ทั้งขนาด 5 ตัน และ 3 ตัน มิฉะนั้นจะเกิดโรงใหม่ขึ้นทุกปี แต่จำนวนเด็กนักเรียนตามงบประมาณเท่าเดิม
- 2. ให้สหกรณ์ที่มีเกษตรกรเลี้ยงโคนมจริงเป็นสมาชิก และได้ทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ซื้อขายน้ำนมดิบระหว่างกัน และต้องการขอสิทธิ์โควตาทำนมโรงเรียน โดยขอจัดสรรสิทธิ์โควตาให้เป็นไปตามสัดส่วนการรับน้ำนมดิบที่เป็นธรรมและโปร่งใส (เกษตรกรตัวจริง) ที่รวมตัวเป็นสหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกรตัวจริง
- 3. ให้ยกเลิกหลักเกณฑ์และเงื่อนไขคุณสมบัติของผู้ประกอบการนมโรงเรียน อนุญาตประกอบกิจการโรงงานเฉพาะกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์โคนม โดยให้สามารถจ้างโรงงานผลิตภัณฑ์นมในพื้นที่ที่มีกระบวนการผลิตผ่านหลักเกณฑ์อาหารเสริม (นม) โรงเรียน เป็นไปตามข้อกำหนด
- 4. พิจารณาให้กลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์ได้สิทธิ์โควตา เข้าไปทำนมโรงเรียนง่ายและมากขึ้น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มน้ำนมที่ผลิตได้ และเป็นช่องทางเพิ่มรายได้ให้สหกรณ์และเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมมีตลาดที่แน่นอน มั่นคง และยั่งยืน 5. ให้จัดสรรสิทธิ์ตามสัดส่วนการรับน้ำนมดิบของเกษตรกร เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายและยุติธรรม และ 6. ให้ตรวจสอบผู้ประกอบบางรายที่ไม่รับน้ำนมดิบจากเกษตรกรแต่กลับมาได้งบในโครงการนมโรงเรียน
ทั้งนี้ นายสมาน ระบุว่า ขณะนี้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนจากการจัดสรรโควตานมโรงเรียน ซึ่งมองว่าไม่เป็นธรรมกับภาคเกษตรกร จึงต้องมาขอความเป็นธรรมจากรัฐบาลช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว