หุ้น SEAFCO ลุ้นปี65 พลิกกำไร ขานรับงานเมกะโปรเจคต์
อุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้าง“ชะลอตัว”มากในปี 2564 ที่ผ่านมา ปัญหาขาดแคลนแรงงานโดยเฉพาะ “คลัสเตอร์แคมป์คนงาน” มีการมาตรการประกาศปิดแคมป์คนงานก่อสร้างเป็นระยะเวลา 1 เดือน ในช่วงเดือนก.ค.2564
และหนึ่งในผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างงานฐานรากโครงการเบอร์ต้นๆ ของไทย อย่าง บริษัท ซีฟโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ SEAFCOมีผลดำเนินงานพลิก “ขาดทุนสุทธิ”ทันทีในปี 2564 จำนวน 56.64 ล้านบาท ลดลง 136.68% จากปี 2563 ที่มีกำไรสุทธิ 154.41 ล้านบาท...
“ณรงค์ ทัศนนิพันธ์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซีฟโก้ จำกัด (มหาชน) หรือSEAFCO เปิดเผยว่า ยอมรับว่าผลประกอบการณ์ปีที่ผ่านมาพลิกขาดทุนเนื่องจากสถานการณ์ของโควิด-19 ทว่าสำหรับปี 2565 ในแง่ของผลดำเนินงานทั้งปียอมรับว่าต้องรอลุ้นสิ้นปีว่าจะมีกำไรหรือไม่ โดยบริษัทยังต้องติดตามปริมาณงานในปีนี้ว่าจะมีปริมาณมากตามที่คาดการณ์ไว้หรือไม่
โดยปีนี้บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโตไม่ต่ำกว่า 1,600 ล้านบาท จากปีก่อนที่มีรายได้ 1,476.79 ล้านบาท ณ ปัจจุบันบริษัทมีงานในมือ (Backlog) มูลค่ารวม 1,113.46 ล้านบาท ประกอบด้วย งานที่รวมค่าแรง 996.80 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนกว่า 90% ของงานในมือ และในส่วนที่เหลืออีกราว 10% เป็นสัดส่วนของเฉพาะค่าแรง มูลค่า 116.67 ล้านบาท ซึ่งบริษัทจะสามารถส่งมอบงานและทยอยรับรู้เข้ามาเป็นรายได้ทั้งหมดในปีนี้
สะท้อนผ่าน ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทรับงาน 4 โครงการใหม่ในเดือนธ.ค.2564 รวมค่างานก่อสร้างข้างต้นยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงินประมาณ 105ล้านบาท ได้แก่1.งานกำแพงกันดินในโครงการอาคาร คิงส์บริดส์ ทาวเวอร์ถนนพระราม 3 กทม. ของบริษัท นันทวัน จำกัด เริ่มงานเดือนพ.ย.2564
2.โครงการวันแบงค็อก: ทางเชื่อมต่อทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) (งานเพิ่ม) ถ.วิทยุ กทม. ของบริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) หรือ NWR 3.โครงการเดอะ เบส สุขุมวิท 71 ซ.สุขุมวิท71กทม ของบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI และ 4. โครงการเมดิคอลคอมเพล็กซ์รามอินทรา กม.9 ถ.รามอินทรา กทม. ของบริษัท เมดิคอลคอมเพล็กซ์ รามอินทรา จำกัด
เขา บอกต่อว่า บริษัทคาดว่าในครึ่งปีหลัง2565 ผลดำเนินงานจะมีกำไรแน่นอน เนื่องจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ และ โครงการของเอกชนจะทยอยออกมาเพิ่มมากขึ้น จะหนุนให้อัตราการใช้เครื่องจักรเพิ่มขึ้นเป็นระดับ75-80% จากปัจจุบันอัตราการใช้เครื่องจักรอยู่ 40-50%
“เรายังคงต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อเนื่อง เพราะอาจจะเข้ามากระทบกับปริมาณงานที่จะออกมาได้ ซึ้งผลขาดทุนของบริษัทส่วนใหญ่มาจาก ค่าเสื่อมของเครื่องจักรที่มีอยู่มาก แต่อย่างไรก็ตามหากอัตราการใช้เครื่องจักรกลับมาอยู่ที่ระดับ 75-80% บริษัทก็จะสามารถสร้างผลกำไรได้”
ปีนี้ทิศทางของธุรกิจฟื้นตัวได้ดีขึ้นเมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน แม้ว่าสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงมีอยู่ แต่ด้วยความรุนแรงของโรคลดน้อยลงมากแล้ว รวมถึงผู้ประกอบการเริ่มกลับมาปรับตัวรับมือได้แล้ว ทำให้คาดว่าจะมีโครงการลงทุนใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น ทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชนที่เคยอัดอั้นในปีก่อน คาดว่าในปีนี้จะเริ่มทยอยออกมาเพิ่มมากขึ้น
ขณะนี้บริษัทยังอยู่ระหว่างการศึกษาธุรกิจใหม่ในหลากหลายธุรกิจ แต่ยังไม่ได้มีความชัดเจนในการลงทุนจึงยังไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่าในอนาคตจะเข้ามาช่วยเสริมรายได้อีกทางหนึ่งแน่นอน
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้อุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้างต้องปรับตัวในการทำงาน และเกิดต้นทุนฉับพลันในไซต์ก่อสร้าง ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการเชิงป้องกันเพื่อลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้นทุนที่เกิดจากการปฏิบัติงานเพิ่มขึ้น เช่น ค่าเดินทางรับส่งแรงงาน ค่าที่พักคนงาน และค่าใช้จ่ายอุปกรณ์ป้องกันโรคโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้น
ท้ายสุด “ณรงค์” บอกไว้ว่า คาดว่าหลังจากเปิดเมืองและสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย สถานการณ์ปริมาณงานก่อสร้างที่เปิดประมูลน้อยมากเมื่อปีที่ผ่านมา และการขาดแคลนแรงงาน ก็จะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นเช่นกัน ดังนั้น ปีนี้ภาพรวมอุตสาหกรรมก่อสร้างน่าจะฟื้นตัว