แรงเหวี่ยง รัสเซีย-ยูเครน ฉุดเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าหวั่นเกิด stagflation
สงครามรัสเซีย –ยูเครน ดันราคาน้ำมันทะยานสูงแตะ130 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทำไทยอ่วม จ่ายเพิ่ม เงินเฟ้อพุ่ง เศรษฐกิจหยุดชะงัก หวั่นเกิดภาวะ stagflation
เศรษฐกิจของโลกและเศรษฐกิจไทยเจอมรสุมลูกใหญ่อย่างโควิด-19 ทำเศรษฐกิจทั้งโลกหยุดชะงักไป2 ปี มาปีนี้แม้ยังมีโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนระบาด แต่เศรษฐกิจก็ยังขับเคลื่อนต่อไปได้ จากการที่ทั่วโลกเร่งฉีดวัคซีน สร้างภูมิคุ้มกันหมุ่ จนหลายประเทศสามารถกลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติและสามารถเดินเครื่องเศรษฐกิจของตนเองไปได้
ยังไม่ทันที่จะฟื้นตัวดี ก็กลับมาเจอสถานการณ์ที่รัสเซียเปิดศึกสงครามกับยูเครน ซึ่งไม่ได้กระทบเพียงแค่ 2 ประเทศแต่กระทบเป็นลูกโซ่ไปยังเศรษฐกิจโลกทั้งตลาดทุน ตลาดเงิน ทอง และตลาดน้ำมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำราคาน้ำมันพุ่งกระฉูดแตะ 130 บาทต่อดอลลาร์ สูงสุดในรอบ 13 ปี หลายประเทศโดยเฉพาะสหรัฐและชาติตะวันตก งัดมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย ซึ่งก็ไม่ได้ทำให้รัสเซียหยุดปฏิบัติการทางทหาร
ขณะที่บ้านเรา ก็ไม่พ้นที่จะโดยแรงเหวี่ยงจากสถานการณ์รัสเซียและยูเครน เศรษฐกิจที่เป็นเสาหลักของประเทศถูกกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากราคาน้ำมัน เพราะประเทศไทยนำเข้าน้ำมันกว่า 80 % มูลค่าหลายแสนล้านบาท ยิ่งราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นมากเท่าไร ไทยก็ต้องจ่ายค่าน้ำมันเพิ่มเท่านั้น และน้ำมันยังเป็นต้นทุนการผลิตสินค้าในหลายอุตสาหกรรม เมื่อน้ำมันขึ้น ก็ส่งผลต่อต้นทุนที่ต้องปรับตัวขึ้นเช่นกัน
อีกทั้ง”น้ำมัน”ยังเป็นแรงส่งให้”เงินเฟ้อ”ของไทยปรับสูงขึ้น จากข้อมูลของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.) รายงานว่า เงินเฟ้อเดือนก.พ.65 สูงขึ้นถึง 5.28% เป็นอัตราขยายตัวสูงสุดในรอบ 13 ปี นับตั้งแต่เดือนก.ย.51 ที่ขยายตัว 6.0% เพราะขณะนั้นเป็นช่วงสงครามอิรัก และราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศปรับตัวสูงขึ้นไปถึงลิตรละ 44.24 บาท ส่งผลให้เงินเฟ้อทั้งปี 51 ขยายตัวถึง 5.5%
แน่นอนว่า สาเหตุหลักที่ทำให้เงินเฟ้อก.พ.65 สูงขึ้นมาก มาจากราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานสูงขึ้นมากเช่นกัน ทั้งราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ ค่ากระแสไฟฟ้า รวมถึงสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นตามต้นทุนผลิตและราคาวัตถุดิบ
สงครามรัสเซียและยูเครน ยังไม่มีสัญญาณบ่งชี้ว่าจะยุติเมื่อใด แต่ขณะนี้ผลของสถานการณ์ความขัดแย้งดังกล่าวยังคงกระจายไปทั่ว ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย ได้ทำการวิเคราะห์สถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยใน 3 กรณีพร้อมทั้งประเมินความเสียหายด้านเศรษฐกิจของไทย 1.กรณีแย่ ความขัดแย้งจบภายใน 3 เดือน คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบราว 73,425 ล้านบาท ส่งผลให้ จีดีพีลดลง 0.5% หรือลงมาอยู่ที่ 3.7% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ อยู่ที่ 3.0-3.5%
2.กรณีแย่กว่า ความขัดแย้งจบภายใน 6 เดือน คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบราว 146,850 ล้านบาท ส่งผลให้จีดีพี ลดลง 0.9% หรือลงมาอยู่ที่ 3.3% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ อยู่ที่ 3.5-4.5%
3.กรณีแย่ที่สุด ความขัดแย้งยืดเยื้อตลอดปี 65 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบราว 244,750 ล้านบาท ส่งผลให้จีดีพีลดลง 1.5% หรือลงมาอยู่ที่ 2.7% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ อยู่ที่ 4.5-5.5
“สถานการณ์ยังไม่มีความแน่นอน ว่าจะจบลงเมื่อไร แต่หากยืดเยื้อถึงปีนี้ เศรษฐกิจไทยก็มีโอกาสที่จะเติบโตอยู่ในระดับ 2% ได้ ขณะที่เงินเฟ้อจะขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 5% จากราคาน้ำมันที่พุ่งทะลุ 110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจของไทยเข้าสู่ภาวะ stagflation ในทางเทคนิคได้
คำว่า “stagflation “เริ่มมีการพูดออกมามากขึ้นในห้วงเวลานี้ ส่วนใหญ่แสดงความกังวลว่าเศรษฐกิจมีความสุ่มเสี่ยงที่จะเข้าสู่ stagflation ซึ่งเป็นภาวะที่เศรษฐกิจซบเซา แต่เงินเฟ้อสูง คนไม่มีรายได้ ผู้ประกอบการขายสินค้าไม่ได้
วิกิพีเดียให้คำจำกัดความไว้ว่าเป็นสถานการณ์ที่อัตราเงินเฟ้อสูง อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัว และการว่างงานยังคงสูงอย่างต่อเนื่อง มันแสดงให้เห็นถึงภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกสำหรับนโยบายเศรษฐกิจ เนื่องจากการกระทำที่มุ่งเป้าไปที่การลดอัตราเงินเฟ้ออาจทำให้การว่างงานรุนแรงขึ้น ซึ่งภาวะนี้ไม่มีรัฐบาลไหนอยากให้เกิดขึ้นอย่างแน่นอนเพราะถือเป็นฝันร้ายทางเศรษฐกิจ
“สนั่น อังอุบลกุล” ประธานสภาหอการค้าไทยยังออกมาแสดงความเป็นห่วงว่า เศรษฐกิจของไทยจะมีโอกาสเกิด stagflation หรือภาวะที่มีเงินเฟ้อสูง ในขณะที่เศรษฐกิจยังเติบโตต่ำ ทำให้มีค่าใช้จ่ายมากเกินกว่ารายได้ที่จะเพิ่มขึ้น
stagflation จะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นต้องดูสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 จะฟื้นหรือไม่ฟื้น จากผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมทั้งต้องไม่ลืม”โอมิครอน” ที่มีการระบาดหนักมีผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น และภาคการท่องเที่ยวที่จะดึงเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทย ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป