สนามบินเบตงหมุดหมายใหม่ ท่องเที่ยวไทย เริ่มใช้ 14 มี.ค.65
นายกฯ เปิดเที่ยวบินพาณิชย์ปฐมฤกษ์ท่าอากาศยานเบตง 14 มี.ค.นี้ หลังโควิด 19 พ่นพิษสร้างเสร็จ 2 ปียังเปิดใช้ไม่เต็มสูบ คมนาคมมั่นใจดันเป็นหมุดหมายใหม่ท่องเที่ยวไทย กระตุ้นเศรษฐกิจภาคใต้
ก่อสร้างแล้วเสร็จมากว่า 2 ปี สำหรับท่าอากาศยานเบตง ภายหลังคณะรัฐนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 6 ต.ค.2558 ให้กรมท่าอากาศยาน (ทย.) ดำเนินการพัฒนาเป็นท่าอากาศยานแห่งที่ 29 ของประเทศไทย เป้าหมายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
โดยในช่วงที่ผ่านมา ท่าอากาศยานเบตงเป็นหมุดหมายการเดินทางแห่งใหม่ของนักท่องเที่ยว ที่ต้องการเดินทางไปเปิดประสบการณ์การท่องเที่ยวในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ต้องเจอปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้อย่างการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลให้สายการบินที่มีแผนจะเปิดเส้นทางบินไปยังท่าอากาศยานเบตงต้องชะลอแผน
อีกทั้งด้วยพื้นที่ตั้งของท่าอากาศยานเบตง ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่ 920 ไร่กลางหุบเขา ในตำบลยะรม อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ที่มีสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงชัน ทย.จึงได้มีการศึกษาความเป็นไปได้ วิเคราะห์ข้อมูลทางกายภาพและทางเศรษฐศาสตร์ ได้ข้อสรุปในการก่อสร้างที่วางไว้คือ ทางวิ่ง(Runway) ขนาด 30x 1,800 เมตร สามารถรองรับเครื่องบินขนาด 80 ที่นั่ง (ATR-72/Q-400)
จากข้อจำกัดรันเวย์ที่รองรับได้เฉพาะเครื่องบินขนาดเล็ก ทำให้สายการบินที่จะสามารถทำการบินในเส้นทางลงท่าอากาศยานเบตงได้นั้น ต้องมีอากาศยานขนาดเล็กนี้ โดยปัจจุบันพบว่าสายการบินสัญชาติไทย มีเพียงสายการบินนกแอร์ และสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ข้อจำกัดเหล่านี้จึงกลายเป็นอีกอุปสรรคของนักเดินทาง เพราะทางเลือกในการเดินทางที่ไม่หลากหลาย และสายการบินที่มีเครื่องบินขนาดเล็ก ก็ยังไม่ตอบรับทำการบิน
ท้ายที่สุดกระทรวงคมนาคม หารือร่วมกับผู้ประกอบการสายการบิน และภาคท่องเที่ยว รวมไปถึงหน่วยงานในพื้นที่จังหวัดยะลา เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว จัดแพ็คเกจโปรโมชั่น จูงใจสายการบิน และกระตุ้นให้เกิดการเดินทาง โดยมีสายการบินนกแอร์ยืนยันความพร้อม ที่จะทำการบินไปยังท่าอากาศยานเบตง ด้วยอากาศยานประเภท Q400 จำนวน 86 ที่นั่ง พร้อมขอความอนุเคราะห์ในเรื่องการประกันที่นั่ง 75%
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงฯ เตรียมพร้อมเปิดให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์ท่าอากาศยานเบตง ในวันที่ 14 มี.ค.นี้ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานในพิธีเปิดเที่ยวบินพาณิชย์ปฐมฤกษ์ ซึ่งกระทรวงฯ มั่นใจว่าการเปิดให้บริการท่าอากาศยานแห่งนี้ จะพัฒนาเศรษฐกิจและความมั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
นอกจากนี้ การก่อสร้างท่าอากาศยานเบตง จังหวัดยะลา ยังช่วยแก้ไขปัญหาการเดินทางสู่อำเภอเบตงที่มีสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงชัน ไม่สะดวกต่อการเดินทางให้สามารถสัญจรไปมาได้อย่างสะดวกและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวในพื้นที่ เนื่องด้วยอำเภอเบตงมีสถานที่ท่องเที่ยวที่มีความสวยงามหลายแห่ง มีนักท่องเที่ยวให้ความสนใจเดินทางมาเป็นจำนวนมาก
โดยแหล่งท่องเที่ยวที่อยู่ใกล้กับท่าอากาศยานเบตง อาทิ วัดพุทธาธิวาส ระยะทาง 11.9 กม. ใช้เวลา 17 นาที อุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์ ระยะทาง 12.5 กม. ใช้เวลา 18 นาที บ่อน้ำร้อนเบตง ระยะทาง 19 กม. ใช้เวลา 27 นาที สวนหมื่นบุปผา ระยะทาง 28.1 กม. ใช้เวลา 43 นาที ทะเลหมอกอัยเยอร์เวง ระยะทาง 33.7 กม. ใช้เวลา 50 นาที เขื่อนบางลาง ระยะทาง 82.9 กม. ใช้เวลา 1 ชม. 45 นาที เป็นต้น
โดยเฉพาะทะเลหมอกอัยเยอร์เวง มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าชมในวันหยุดประมาณ 4,000-5,000 คน วันธรรมดาประมาณ 1,000-2,000 คน ซึ่งมีการจัดเตรียมที่พักได้เพียงพอสำหรับนักท่องเที่ยว ทั้งนี้ หากมีการเปิดใช้ท่าอากาศยานเบตง จะทำให้มีนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ช่วยส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวและด้านเศรษฐกิจของอำเภอเบตงและพื้นที่ใกล้เคียงรวมถึงบริเวณ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
สำหรับท่าอากาศยานเบตง เป็นท่าอากาศยานแห่งที่ 29 ของ ทย. ตั้งอยู่ในตำบลยะรม อำเภอเบตง จังหวัดยะลา บนพื้นที่ 920 ไร่ ประกอบด้วย ทางขับ จำนวน 2 วิ่ง ทางวิ่ง กว้าง 30 เมตร ยาว 1,800 เมตร ลานจอดเครื่องบินรองรับเครื่องบินขนาด 80 ที่นั่ง จำนวน 3 ลำ อาคารที่พักผู้โดยสารมีพื้นที่ใช้สอยขนาด 7,000 ตารางเมตร สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 300 คนต่อชั่วโมง หรือ 800,000 คนต่อปี และลานจอดรถยนต์ จำนวน 140 คัน
โดยสายการบินนกแอร์ จะเริ่มให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์แรก เส้นทางกรุงเทพฯ - เบตง - กรุงเทพฯ ในวันที่ 14 มี.ค. 2565 และให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์ จำนวน 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ (วันจันทร์ วันพุธ และวันศุกร์) อีกทั้ง กระทรวงฯ ยังได้มอบให้ ทย. ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาเส้นทางการบินสู่ท่าอากาศยานเบตงเพิ่มเติม เช่น สุวรรณภูมิ - เบตง