สรุปภาวะสินค้าเกษตรประจำสัปดาห์ วันที่ 7-11 มีนาคม 2565
ราคาสินค้าเกษตรประจำสัปดาห์นี้ ข้าวโพด ถั่วเหลือง ปลาป่น ข้าวและสุกรเพิ่มขึ้น ไก่เนื้อและไข่ไก่ราคาทรงตัว
ข้าวโพด : ราคาเพิ่มขึ้น
สัปดาห์นี้ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ณ ไซโลโรงงานอาหารสัตว์ ราคาเพิ่มขึ้นจากหาบละ 711 บาท เป็นหาบละ 780 บาท เนื่องจากผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เหลือน้อย ขณะที่ผลผลิตใหม่จะออกสู่ตลาดช่วงปลายเดือนมีนาคมนี้
ด้านตลาดซื้อขายล่วงหน้าชิคาโก ประจำวันที่ 9 มีนาคม 2565 ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รอบส่งมอบเดือนพฤษภาคม 2565 ราคาอยู่ที่ 733.0 เซนต์/บุชเชล ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปรับตัวสูงขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยรายงานคาดการณ์ภาวะอุปสงค์-อุปทานสินค้าเกษตรโลก (WASDE) เดือนมีนาคม คาดการณ์สต็อกข้าวโพดสหรัฐอเมริกาลดลง 100 ล้านบุชเชล เป็น 1,440 ล้านบุชเชล เนื่องจากความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นทั้งจากในประเทศและจากการส่งออก สำหรับผลกระทบจากความขัดแย้งในประเทศแถบทะเลดำทำให้คาดการณ์การส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ยูเครนลดลงจาก 33.5 ล้านตัน เป็น 27.5 ล้านตัน ขณะที่สภาพอากาศในประเทศบราซิลส่งผลดีต่อความคืบหน้าการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่นสอง และการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่นหนึ่งของบราซิล
แนวโน้ม : คาดว่าราคาข้าวโพดในประเทศน่าจะยืนแข็ง
ถั่วเหลือง : ราคาเพิ่มขึ้น
กากถั่วเหลืองจากเมล็ดถั่วเหลืองนำเข้าในสัปดาห์นี้ ราคาเพิ่มขึ้นจากกิโลกรัมละ 22.50 บาท เป็นกิโลกรัมละ 23.00 บาท ภาวะสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ราคาถั่วเหลืองเม็ดและกากถั่วเหลืองปรับตัวขึ้น ขณะที่คาดการณ์ผลผลิตยังคงน้อยลงเช่นเดิมจากจากสภาวะอากาศทางฝั่งประเทศอาร์เจนตินาและบราซิลที่ยังไม่ดีขึ้น และค่าระวางเรือปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น
ด้านตลาดซื้อขายล่วงหน้าชิคาโก ประจำวันที่ 9 มีนาคม 2565 เมล็ดถั่วเหลือง รอบส่งมอบเดือนพฤษภาคม 2565 ราคาอยู่ที่ 1,671.75 เซนต์/บุชเชล และ กากถั่วเหลือง รอบส่งมอบเดือนพฤษภาคม 2565 ราคาอยู่ที่ 474.70 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ช็อตตัน รายงานคาดการณ์ภาวะอุปสงค์และอุปทานสินค้าเกษตรโลก (WASDE) ประจำเดือนมีนาคม 2565 คาดการณ์สต็อกถั่วเหลืองประเทศสหรัฐอเมริกาลดลง 40 ล้านบุชเชล เป็น 285 ล้านบุชเชล มากกว่าที่ตลาดประเมินไว้ก่อนหน้าที่ 278 ล้านบุชเชล ส่วนบราซิลและอาร์เจนตินาลดลงจากเดือนที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 127 ล้านตัน และ 43.5 ล้านตัน ตามลำดับ เนื่องจากประเทศบราซิลคาดการณ์ปริมาณน้ำฝนเยอะกว่าปกติ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพของผลผลิตถั่วเหลืองในบริเวณพื้นที่ตอนใต้ของบราซิล ด้านประเทศอาร์เจนตินามีสภาพอากาศเหมาะสม ช่วยสนับสนุนการเจริญเติบโตช่วงก่อนการเก็บเกี่ยวผลผลิต
แนวโน้ม : คาดว่าราคาถั่วเหลืองนำเข้าน่าจะปรับขึ้น
ปลาป่น : ราคาเพิ่มขึ้น
ประเทศเปรู อยู่ในระหว่างดำเนินการออกสำรวจน่านน้ำทะเล เพื่อกำหนดโควต้าจับปลาสำหรับฤดูกาลถัดไป และยังคงคาดการณ์ว่าฤดูกาลใหม่จะเริ่มในช่วงต้นเดือนเมษายน ขณะที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ปริมาณซื้อหน้าท่าเรือในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้นมากจากการเร่งสร้างสต็อก ส่งผลให้ราคาปลาป่นปรับราคาขึ้น 1 บาท ทุกเบอร์
โดยปลาป่นเกรดกุ้ง ราคาปรับเพิ่มขึ้นจากกิโลกรัมละ 47.00 บาท เป็นกิโลกรัมละ 48.00 บาท ส่วนปลาป่นเบอร์ 1 เกรดที่สูงกว่า 60 โปรตีนขึ้นไป ราคาเพิ่มขึ้นจากกิโลกรัมละ 41.70 บาท เป็นกิโลกรัมละ 42.70 บาท และปลาป่นเกรดที่ต่ำกว่า 60 โปรตีน ราคาเพิ่มขึ้นจากกิโลกรัมละ 39.20 บาท เป็นกิโลกรัมละ 40.20 บาท
ด้านปลาป่นคุณภาพรองลงมา ปลาป่นเบอร์ 2 ชนิดที่มีโปรตีนสูงกว่า 60 โปรตีนขึ้นไป ราคาเพิ่มขึ้นจากกิโลกรัมละ 38.70 บาท เป็นกิโลกรัมละ 39.70 บาท ส่วนปลาป่นเบอร์ 2 ชนิดที่มีโปรตีนสูงกว่า 56 แต่ไม่เกิน 60 โปรตีน ราคาเพิ่มขึ้นจากกิโลกรัมละ 37.20 บาท เป็นกิโลกรัมละ 38.20 บาท
แนวโน้ม : คาดว่าราคาปลาป่นน่าจะปรับขึ้น
ข้าว : ราคาเพิ่มขึ้น
การซื้อขายข้าวตลาดต่างประเทศ ข้าวขาว 100% ชั้น 2 ส่งออกท่าเรือกรุงเทพฯ เอฟ.โอ.บี. ราคาเพิ่มขึ้นจากตันละ 434 ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นตันละ 435 ดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนปลายข้าว เอ.วัน.พิเศษ ส่งออก เอฟ.โอ.บี. ราคาเพิ่มขึ้นจากตันละ 397 ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นตันละ 405 ดอลลาร์สหรัฐฯ
ด้านตลาดซื้อขายข้าวในประเทศ ข้าวขาว 100% ชั้น 2 ราคาเพิ่มขึ้นจากกระสอบละ 1,270 บาท เป็นกระสอบละ 1,300 บาท ส่วนปลายข้าว เอ.วัน.พิเศษ ณ โรงงานอาหารสัตว์ ราคาเพิ่มขึ้นจากกระสอบละ 1,150 บาท เป็นกระสอบละ 1,200 บาท
แนวโน้ม : คาดว่าราคาข้าวน่าจะทรงตัว
สุกร : ราคาเพิ่มขึ้น
สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ประกาศราคาสุกรขุนมีชีวิตหน้าฟาร์ม ณ วันพระที่ 10 มีนาคม ที่กิโลกรัมละ 88-91 บาท สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ รานงานว่า ราคาสุกรขุนหน้าฟาร์มปรับขึ้นเล็กน้อย แม้ต้นทุนเลี้ยงสัตว์ ค่าพลังงานน้ำมัน เพิ่มขึ้น กระทบทั้งต้นทุนการผลิตและต้นทุนการขนส่ง ขณะที่ราคาจำหน่ายเนื้อสุกรและสุกรขุนหน้าฟาร์มยังคงถูกจับตา
ปัจจัยที่ท้าทายภาคปศุสัตว์ไทยในสถานะการณ์สงครามที่เป็นปัญหาหนัก นอกเหนือจากปัญหาราคาน้ำมัน คือ ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ เพราะรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกพืชวัตถุดิบอาหารสัตว์รายใหญ่ของโลก โดยมีปริมาณการส่งออกข้าวสาลีรวมกันราว 29% ของปริมาณการส่งออกทั่วโลก และมีสัดส่วนการส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูงถึง 19% ของตลาดโลก สร้างปัจจัยบวกให้การค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแบบไร้การเข้ามาควบคุมราคา ทั้งๆ ที่ Corn CBOT เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2565 รอบส่งมอบเดือนพฤษภาคม 2565 ราคาย่อตัวมาปิดที่ 722.1 เซนต์/บุชเชล (เทียบเท่า 9.380 บาทต่อกิโลกรัม ณ THB32.9983/USD)
ส่วนลูกสุกรน้ำหนัก 16 กิโลกรัมต่อตัว ราคาอยู่ที่ 2,700 บาท (บวก/ลบ 84)
แนวโน้ม : คาดว่าราคาสุกรน่าจะยืนแข็ง
ไก่เนื้อ : ราคาทรงตัว
สมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ ตรึงราคาไก่เนื้อมีชีวิตหน้าฟาร์มที่กิโลกรัมละ 40 บาท เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพให้แก่ประชาชน
ด้านลูกไก่เนื้อ ราคาตัวละ 15.50 บาท และลูกไก่ไข่ ราคาตัวละ 26.00 บาท
แนวโน้ม : คาดว่าราคาไก่เนื้อน่าจะทรงตัว
ไข่ไก่ : ราคาทรงตัว
สมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ ประกาศราคาแนะนำไข่ไก่คละ ณ หน้าฟาร์มเกษตรกร ที่ฟองละ 3.20 บาท เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา แต่เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชน สมาคมฯ ได้ให้ความร่วมมือ กระทรวงพาณิชย์ ตรึงราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มไว้ที่ไม่เกินฟองละ 3.10 บาท แม้ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์โลกเพิ่มขึ้นจากภาวะสงคราม
แนวโน้ม : คาดว่าราคาไข่ไก่น่าทรงตัว
-------------------------------------------
ที่มา : สื่อสารองค์กรและประชาสัมพันธ์ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)
โทรศัพท์ : 02-766-7343-5
E-mail : [email protected]