พาณิชย์ ชี้ ไทยมีโอกาสเกิด stagflation น้อย

พาณิชย์ ชี้ ไทยมีโอกาสเกิด stagflation น้อย

สนค.วิเคราะห์ความเป็นไปได้ เกิด stagflation“หรือเงินฝืด ชี้โแกาสน้อย แม้ราคาน้ำมันสูงขึ้น แต่คาดว่า จะคลี่คลายเร็วๆ นี้ ส่งผลเศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้น และอัตราว่างงานดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ ไม่เข้าปัจจัยที่ทำให้เกิดเงินฝืด

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงกรณีที่มีความกังวลว่าไทยจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืด (stagflation) เพราะผลกระทบจากราคาน้ำมันตลาดโลกที่สูงขึ้น อาจทำให้เศรษฐกิจไทยถดถอย อัตราว่างงานสูงขึ้น ความต้องการสินค้าและบริการลดลง และเกิดภาวะเงินฝืดได้ว่า เมื่อพิจารณาปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะเงินฝืดแล้ว พบว่า โอกาสที่จะเกิดในไทยน้อยมาก แม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในปัจจุบันสูงขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลก แต่คาดว่า ในระยะต่อไป ราคาน้ำมันจะมีอิทธิพลต่อเงินเฟ้อน้อยลง ตามสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน และความตึงตัวด้านอุปทานน้ำมันที่มีแนวโน้มจะคลี่คลาย

นอกจากนี้ เศรษฐกิจและอัตราการว่างงานปี 65 คาดว่าจะดีขึ้นกว่าปี 64 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศที่มีความรุนแรงน้อยลง และรัฐบาลประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นในช่วงกลางปีนี้   

สำหรับโอกาสการเกิดภาวะเงินฝืดในไทยที่น้อยมากนั้นพิจารณาจาก อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะชะลอลงและอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก โดยคาดว่า ราคาน้ำมันในตลาดโลกเริ่มมีสัญญาณอ่อนตัวลง เพราะคาดว่า อิหร่านจะกลับมาส่งออกน้ำมันได้ในเร็วๆ นี้ หากการเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์ระหว่างอิหร่านและชาติตะวันตกได้ข้อสรุป ส่งผลให้ความตึงตัวด้านปริมาณการผลิตน้ำมันในกลุ่มโอเปก (ประเทศที่ส่งน้ำมันเป็นสินค้าออก) น้อยลง

 ประกอบกับความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน มีแนวโน้มที่จะคลี่คลายได้ และไม่น่ายืดเยื้อ เพราะทั้ง 2 ประเทศมีความพยายามเจรจาสันติภาพบ่อยครั้ง เนื่องจากตระหนักถึงความสูญเสียที่เกิดกับประชาชนและเศรษฐกิจ ซึ่งเกินกว่าที่คาดไว้ รวมถึงมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย ยังส่งผลให้ทั่วโลกได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้นขณะเดียวกัน ภาครัฐได้ออกมาตรการตรึงราคาน้ำมัน และกระทรวงพาณิชย์กำกับดูแลราคาสินค้าให้เหมาะสม ทำให้ราคาน้ำมันและราคาสินค้าไม่สูงเกินไป และส่งผลให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก   

นอกจากนี้ ยังคาดว่า เศรษฐกิจไทยปี 65 จะขยายตัวได้ 3.5-4.5% จากปี 64 ที่ขยายตัว 1.6% จากผลของนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศของภาครัฐ ทั้งการขับเคลื่อนการใช้จ่ายภายในประเทศ การส่งออก และการส่งเสริมการลงทุน ควบคู่กับการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 และรัฐบาลประกาศให้เป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญทำให้เศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนอัตราการว่างงานมีแนวโน้มลดลงตามเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้น จากไตรมาสที่ 4 ปี 64 อยู่ที่ 1.64% ลดลงจาก 2.25% ในไตรมาส ก่อนหน้า และเฉลี่ยทั้งปี 64 อยู่ที่ 1.93% ถือว่าไม่สูงมากนัก 

“จากปัจจัยเหล่านี้ ทำให้เห็นว่า โอกาสเกิดภาวะเงินฝืดในไทยน้อยมาก แต่ความขัดแย้งของ 2 ประเทศ และโควิด -19 ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเกิดภาวะเงินฝืด ซึ่งจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม    เพื่อเป็นการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการค้าของไทย ในช่วงภาวะยากลำบาก จำเป็นอย่างยิ่ง ที่ไทยต้องรักษา ทั้งแหล่งนำเข้า และตลาดส่งออก และสร้างสัมพันธภาพกับทุกมิตรประเทศ โดยไม่นำความขัดแย้งในภูมิภาคอื่น มาเป็นเงื่อนไขในการรักษาความสมดุลการค้าระหว่างประเทศของไทย”