ฟิทช์ชี้กำไรธุรกิจไทยแนวโน้มฟื้นตัว จับตาเอ็ฟเฟ็คต้นทุนพลังงาน
ฟิทช์ เรทติ้งส์ ชี้ ธุรกิจไทยมีแนวโน้มกำไรฟื้นตัว แต่ยังมีความท้าทายจากต้นทุนพลังงานที่สูงกดดันธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ
งานสัมมนาหัวข้อแนวโน้มธุรกิจไทย (2022 Thailand Corporate Credit Outlook) ที่ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จัดขึ้นผ่านระบบการประชุมออนไลน์เมื่อวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา ฟิทช์ เรทติ้งส์ กล่าวว่า ฟิทช์คาดว่าผลประกอบการของบริษัทในประเทศไทยที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตโดยฟิทช์จะฟื้นตัวต่อเนื่องในปี 2565 โดยการเพิ่มขึ้นของต้นทุนพลังงานเป็นปัจจัยความเสี่ยงหลัก ทั้งนี้ ธุรกิจค้าปลีก การบิน และโรงแรมน่าจะยังคงได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ที่ยังอ่อนแอจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อันดับเครดิตของบริษัทส่วนใหญ่มีเสถียรภาพ แม้ว่าบางบริษัทจะมีแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ เนื่องจากอัตราส่วนหนี้สิน (leverage) ที่อยู่ในระดับสูงจากการลงทุนที่เพิ่มขึ้น
คุณเลิศชัย กอเจริญรัตนกุล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายจัดอันดับเครดิตภาคธุรกิจอุตสาหกรรมของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ผลประกอบการของบริษัทไทยที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิตมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในปี 2565 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการเริ่มเปิดประเทศอย่างค่อยเป็นค่อยไปหลังจากสถานการณ์โรคระบาด อย่างไรก็ตาม ธุรกิจโรงแรม การบิน และค้าปลีก ซึ่งได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 และมาตรการจำกัดการเดินทางในปี 2564 น่าจะใช้เวลาในการฟื้นตัวนานกว่าธุรกิจอื่น
นอกจากนี้ ต้นทุนพลังงานที่สูงยังเป็นแรงกดดันต่อการเติบโตของกำไรของธุรกิจต่างๆ ที่ไม่ใช่ธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในปี 2565 โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจที่ดำเนินกิจการไฟฟ้าและผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก (Small power producers) ที่มีรายได้จากการขายไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้อุตสาหกรรมในสัดส่วนที่สูง
บริษัทไทยที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิตส่วนใหญ่มีการบริหารจัดการกระแสเงินสดอย่างรอบคอบในช่วงสถานการณ์โรคระบาด โดยมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายลงทุน และการปรับลดอัตราการจ่ายเงินปันผล อย่างไรก็ตาม การเข้าซื้อกิจการกลับเพิ่มมากขึ้น เพื่อฉวยโอกาสในการขยายธุรกิจ หรือการดำเนินการตามแผนการลดปริมาณการใช้คาร์บอน โดยการเข้าซื้อกิจการเหล่านี้ส่วนใหญ่ใช้แหล่งเงินทุนจากการกู้ยืมเป็นหลัก ส่งผลให้บางบริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินเพิ่มสูงขึ้น ฟิทช์คาดว่ากระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ดีขึ้นจากการฟื้นตัวของผลประกอบการจะช่วยลดผลกระทบจากการลงทุนและการจ่ายเงินปันผลที่สูงขึ้นในปี 2565
การเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตในทางลบลดลงในปี 2564 และมีการเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตในทางบวกสำหรับบางบริษัทในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 อย่างไรก็ตาม บริษัทที่มีแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบยังคงมีจำนวนมากกว่าช่วงก่อนสถานการณ์โรคระบาด
แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบในกลุ่มธุรกิจน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติและปิโตรเคมีส่วนใหญ่เกิดจากการลงทุนขนาดใหญ่ ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกอาหาร สะท้อนถึงอัตราส่วนหนี้สินที่สูงขึ้นจากการเข้าซื้อกิจการและผลประกอบการที่ยังคงอ่อนแอจากสถานการณ์โรคระบาด