กรมศุลฯ จ่อเคาะพิกัดภาษีนำเข้า ’ชิ้นส่วน’ รถอีวี
กรมศุลฯ เร่งสรุปยกเว้นภาษีนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า เผยสู้รบรัสเซีย - ยูเครน ไม่กระทบนำเข้า - ส่งออก รายได้ 5 เดือน 8,800 ล้านบาท
นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ได้เร่งจัดทำรายละเอียดการยกเว้นภาษีนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ จึงต้องหารือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนในการให้สิทธิประโยชน์ เพราะปัจจุบันเอกชนได้รับสิทธิประโยชน์การผลิตยานยนต์ไฟฟ้าอยู่แล้ว จึงต้องหารือกำหนดอัตราภาษี เพื่อความเป็นธรรมต่อการลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ทำให้ผู้ประกอบการไม่ย้ายฐานการผลิต คาดว่าจะสรุปการจัดเก็บภาษีภายในปี 2565 นี้
ทั้งนี้ ตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเรื่อง นโยบายส่งเสริมการลงทุนการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า กำหนดให้ กิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่เป็นหลัก (Battery Electric Vehicles: BEV) ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี หากลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาสามารถได้รับสิทธิเพิ่มเติม ปัจจุบัน บีโอไอ ขยายสิทธิประโยชน์การส่งเสริมลงทุน ไปยังผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มเติมจากกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า BEV-PHEV-HEV โดยกำหนดให้ต้องผลิตภายในเวลา 3 ปี นับจากวันที่ออกบัตรส่งเสริม เพื่อส่งเสริมการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ
สำหรับการสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน มองว่าไม่ผลกระทบต่อการนำเข้า-ส่งออกของไทย เพราะเอกชนยังมีออเดอร์ปกติ หากสถานการณ์ยืดเยื้ออาจต้องประเมินอีกครั้ง โดยเฉพาะเรื่องของชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และการผลิตชิปยานยนต์ ที่ขาดแคลนมาตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด-19 ระบาด ซึ่งอาจถูกกระทบได้ ยืนยันว่าสงครามรัสเซีย-ยูเครน ไม่กระทบการจัดเก็บรายได้กรมศุลกากร
สำหรับในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2565 (ตุลาคม 64 - กุมภาพันธ์ 65) จัดเก็บรายได้ 8,800 ล้านบาท สูงกว่าปีงบประมาณ 64 ร้อยละ 6 หรือประมาณ 2,600 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าเอกสารงบประมาณร้อยละ 0.5 โดยในปีนี้ยังคงเป้าจัดเก็บไว้ 100,000 ล้านบาท หลังจากกระทรวงการคลัง ปรับลดเป้าหมาย จากสถานการณ์โควิด-19 การจัดเก็บรายได้สูงขึ้น มาจากมาตรการโควิดยังมีผลอยู่ทั่วโลก ทำให้การค้าขายระหว่างประเทศดีขึ้นกว่าปกติ แม้ผู้โดยสารไม่มีการเดินทาง แต่การค้าระหว่างประเทศยังต้องค้าขาย จึงเติบโตต่อเนื่องจากช่วงก่อนเกิดโควิดระบาด
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์