ประชาชนทำใจรับราคาสินค้า หลังต้นทุนพุ่งจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน
พาณิชย์ยอมรับ ต้นทุนสูงขึ้นมากจริง จากผลกระทบรัสเซีย-ยูเครน แต่ยันพิจารณาให้เป็นรายๆ และห้ามค้ากำไรเกินควร วอนประชาชนเข้าใจ ต้นทุนพุ่งเพราะสงคราม และเตรียมมาตรการลดค่าครองชีพไว้แล้ว
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงสถานการณ์ราคาสินค้าในประเทศว่า ได้สั่งการให้กรมการค้าภายในรายงานสถานการณ์ราคาสินค้ามาให้ทราบทุกวัน โดยเฉพาะสินค้าที่สำคัญต่อการอุปโภคบริโภค 18 หมวด ซึ่งส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดราคาทรงตัว โดยเฉพาะหมวดอาหารสด ทั้งหมูเนื้อแดง ไก่ ขณะที่บางรายการ ราคาลดลง เช่น ไข่ไก่ แต่ยอมรับว่า บางรายการขอปรับขึ้นราคามแล้ว เช่น นมและลิตภัณฑ์จากนม 1 ราย แต่ยังไม่อนุญาตให้ปรับขึ้นราคา รวมถึงอาหารกระป๋อง ที่ขณะนี้ต้นทุนกระป๋องสูงขึ้น เพราะราคาเหล็กในตลาดโลกสูงขึ้น 40-45% จากผลของสงครามรัสเซีย-ยูเครน
สำหรับอาหารสัตว์ ต้นทุนสูงขึ้นจริง ทั้งจากข้าวสาลี และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพราะแหล่งผลิตข้าวสาลีรายใหญ่ของโลกคือ ยูเครน อยู่ในภาวะสงคราม ส่งผลต่อปริมาณในตลาดโลก และผลักดันให้ราคาสูงขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องเป็นหลักในการแก้ปัญหา แต่ได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์ หารือกับปลัดกระทรวงเกษตรฯ หาทางออกร่วมกันแล้ว เช่น หาทางลดต้นทุนการผลิต ลดผลกระทบกลุ่มผู้ใช้ เช่น ผู้เลี้ยงสัตว์ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม วันที่ 15 มี.ค.นี้ ทราบว่า ปลัดทั้ง 2 กระทรวงจะหารือร่วมกัน โดยจะต้องดูข้อเท็จจริงทั้งหมดให้ลึกถึงต้นทุนและมาตรการต่างๆ ที่ควรนำมาใช้ให้ต้นทุนการผลิตด้านปศุสัตว์ปรับลงมาได้ รัฐบาลมีหน้าที่ดูแลทุกฝ่าย ทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค คิดว่าในภาวะนี้ทุกฝ่ายเริ่มเข้าใจและเห็นภาพว่าเป็นภาวะสงคราม แม้จะไม่เกิดบ้านเรา แต่มีผลกระทบไปทั่วโลก เห็นทันตาว่า กระทบอะไรบ้าง รัฐบาลต้องมาดูในสิ่งที่คิดว่าเป็นคำตอบที่ดีที่สุดสำหรับทุกฝ่าย
ส่วนกรณีที่ผู้ผลิตสินค้าหลายรายการ ทั้งปุ๋ยเคมี อาหารสัตว์ อาหารกระป๋อง และวัสดุก่อสร้าง จะขอปรับขึ้นราคาขาย เพราะต้นทุนวัตถุดิบขึ้นราคา จากผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครนนั้น กระทรวงพาณิชย์ จะพิจารณาอย่างเป็นธรรม เพื่อให้เกษตรกร ผู้ผลิต และผู้บริโภคอยู่ร่วมกันได้ แต่การจะให้ขึ้นราคาหรือไม่ จะพิจารณาเป็นรายๆ ไม่ใช่ให้ขึ้นได้ทั้งหมด เพราะแต่ละรายได้รับผลกระทบต่างกัน รวมถึงได้เตรียมมาตรการช่วยลดค่าครองชีพประชาชนไว้แล้ว ซึ่งที่ผ่านมา มีโครงการพาณิชย์ ลดราคา! ช่วยประชาชน โดยขายสินค้าราคาประหยัดออกมาแล้วถึง 16 ล็อต สามารถช่วยบรรเทาค่าครองชีพให้ประชาชนได้
“การจะให้ขึ้นราคาหรือไม่ ต้องดูที่ข้อเท็จจริง มีเอกสารหลักฐานยืนยันชัดเจน ไม่ใช่ใช้ความรู้สึก และถ้าพบว่า ผู้ผลิตรายใดแจ้งข้อมูลเท็จ จะมีความผิดแน่นอน กระทรวงพาณิชย์จะพิจารณาเป็นหมวดสินค้าและเป็นรายๆ ไป เชื่อว่า ราคาสินค้าจะมีทั้งทรงตัว ปรับขึ้น และลดลง ไม่ได้มีขึ้นอย่างเดียวแน่นอน”
ด้านนายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า วันที่ 15 มี.ค.นี้ จะหารือกับกระทรวงเกษตรฯ พิจารณาข้อเท็จจริงของสถานการณ์ปุ๋ยเคมี และอาหารสัตว์ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน เพื่อหาทางแก้ปัญหา และลดผลกระทบให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง แต่อยากให้ประชาชนเข้าใจด้วยว่า หากต้นทุนผลิตสินค้าปรับตัวสูงขึ้น ผู้ประกอบการก็จำเป็นต้องปรับขึ้นราคาขาย ไม่มีใครอยากขึ้นราคาในภาวะที่กำลังยังน้อยอยู่ เพราะการขึ้นราคา อาจทำให้ขายสินค้าได้น้อยลง อีกทั้งประชาชนมีทางเลือกมากขึ้น ถ้ารายใดขึ้นราคาขาย ก็สามารถซื้อจากรายอื่นได้อยู่แล้ว
“ในภาวะสงคราม ซึ่งเป็นสถานการณ์พิเศษเช่นนี้ ทั่วโลกได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด อยากให้ประชาชนเข้าใจด้วย ถ้าจะมีสินค้าปรับขึ้นราคา ก็เพราะได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้นมากจริงๆ ถ้าเราไม่ยอมให้ผู้ประกอบการขึ้นราคา เขาก็อาจไม่ผลิตสินค้า เพราะขายได้ไม่คุ้มทุน ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะขาดแคลนได้ กระทรวงพาณิชย์ จึงต้องสร้างความเป็นธรรมให้กับเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค และการให้ขึ้นราคาจะต้องสอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง ไม่ให้มีการฉวยโอกาสค้ากำไรเกินควรแน่นอน”