พาณิชย์-เกษตรฯ งัดมาตรการสกัดปุ๋ยแพง
ปลัดกระทรวงพาณิชย์ บุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ระบุ ได้ประชุมร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ตัวแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ไก่เนื้อ สุกรและไก่ไข่ และตัวแทนเกษตรกรด้านการเพาะปลูก เกี่ยวกับสถานการณ์ ปุ๋ยเคมี วัตถุดิบอาหารสัตว์และผลไม้
โดยปัญหาวัตถุดิบอาหารสัตว์มีราคาแพง เป็นผลจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน จึงไม่สามารถนำเข้าข้าวสาลีจากยูเครนได้ ขณะที่ราคาข้าวโพดปรับตัวสูงขึ้น 12-13 บาท
ที่ประชุมจึงเห็นชอบให้ยกเลิกใช้มาตรการ 3 : 1 เป็นการชั่วคราว เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการนำเข้าข้าวสาลีได้อย่างเสรี ภายใต้เงื่อนไข ต้องนำเข้าได้ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2565 ซึ่งเป็นช่วงที่ไทยไม่มีผลผลิตข้าวโพดและจะไม่กระทบกับเกษตรกร โดยกรมการค้าภายในจะเร่งหารือเพื่อกำหนดวันเริ่มนำเข้าและปริมาณที่เหมาะสม
มาตรการ 3 : 1 นั้น นำมาใช้เพราะราคาข้าวโพดในขณะนั้น อยู่ที่ กิโลกรัมละ 3 บาท แต่ปัจจุบันราคาปรับเพิ่มขึ้นสูงมาก จึงให้ยกเลิกมาตรานี้เป็นการชั่วคราว ส่วนราคาข้าวสาลีขณะนี้ปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยบางช่วงราคาสูงกว่าข้าวโพดในประเทศ แต่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องนำเข้าเพราะสต็อกวัตถุดิบขณะนี้ จะผลิตอาหารสัตว์ได้เพียงไม่กี่เดือนเท่านั้น
สำหรับข้อเสนอของผู้ประกอบการอาหารสัตว์กรณีเรียกร้องให้ลดภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือ 2% ยังไม่ได้นำมาหารือกัน
ด้านการนำเข้าปุ๋ยเคมี ซึ่งแม่ปุ๋ยนำเข้าปรับราคาเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาขายปลีกปุ๋ยในประเทศต้องปรับเพิ่มตาม และส่งผลกระทบกับเกษตรกรโดยตรง และจากสถิติการนำเข้าแม่ปุ๋ยในช่วงที่ผ่านมาพบว่า ลดลงอย่างมีนัยและคาดว่าเป็นผลมาจากราคาแพง จึงน่าเป็นห่วงว่าจะเกิดการขาดแคลน ดังนั้นกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรฯ จะหาช่องทางให้เกษตรกรเข้าถึงปุ๋ยเคมีราคาถูกตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้นต่อไป
เบื้องต้นกระทรวงเกษตรฯ จะเร่งผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพมาทดแทนได้บางส่วน ซึ่งปัจจุบันพบว่าเกษตรกรกว่า 50% หันมานิยมมากขึ้น ถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดี
ด้านปลัดกระทรวงเกษตรฯ ทองเปลว กองจันทร์ ระบุ กรมส่งเสริมการเกษตรจะทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยอย่างถูกต้อง โดยใช้ให้เหมาะสม กับช่วงเวลา ให้ตรงสูตร และใช้ให้ถูกวิธี ซึ่งจะลดต้นทุนการผลิตได้
สำหรับปุ๋ยอินทรีย์และชีวภาพในปี 2565 จะผลิตได้รวม 32 ล้านตัน แต่จะขยายให้เป็นสหกรณ์และวิสาหกิจชุมชน เข้ามาช่วยผลิตให้ได้ 5 ล้านตัน