ผู้บริโภคกระเทือนแค่ไหน? “มาม่า” ขอขาย 7 บาท พยุงวิกฤติต้นทุน

ผู้บริโภคกระเทือนแค่ไหน?  “มาม่า” ขอขาย 7 บาท พยุงวิกฤติต้นทุน

คนไทยบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเฉลี่ย 53.2 ซอง/คน/ปี "มาม่า" ส่งสัญญาณขอขึ้นราคาเป็น 7 บาท/ซอง เพราะวิกฤติต้นทุน น้ำมันเชื้อเพลิงพุ่ง น้ำมันปาล์มขึ้น 3 เท่าตัว แป้งสาลีตลาดโลกจ่อขยับอีก 20% หลังแพงกว่า 2 เท่า ผู้บริโภครับได้แค่ไหน? ต้องกินมาม่าแพงเพิ่ม 1 บาท

ยังคงเป็นประเด็นร้อนแห่งชาติ สำหรับการปรับขึ้นราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “มาม่า 7 บาท” จากปัจจุบันสินค้าหลักมาม่า รสหมูสับ มาม่าต้มยำ และมาม่าต้มยำกุ้งน้ำข้น ซึ่งขายราคา 6 บาท มานานถึง 14 ปี หรือตั้งแต่ปี 2551 นั่นเอง

ทั้งนี้ไม่ได้มีแค่รสชาติยอดฮิตที่ขายราคาเดิม แต่อีกหลายรสชาติราคายัง 6 บาทเช่นกัน

ทว่า นาทีนี้สถานการณ์ “ต้นทุน” เปลี่ยนรายวัน โดยสิ่งที่ฟากผู้ผลิต คือบริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด(มหาชน)เผชิญในช่วงที่ผ่านมา คือราคาของแป้งสาลีขยับขึ้นในช่วง 2-3 ปีมานี้ พุ่งขึ้นกว่า “2 เท่าตัว” จากกว่า 200 บาทต่อถุง 22.5 กิโลกรัม(กก.) ขยับเป็นเกือบ 500 บาทต่อถุง ส่วนน้ำมันปาล์มขยับจาก 19 บาทต่อกก. เป็น 59 บาทต่อกก. หรือราว 3 เท่าตัว

หากพลิกหลังซองบะหมี่ฯ จะพบว่าวัตถุดิบ 2 รายการ มีสัดส่วนสูงถึง 60-70% ทำให้ที่ผ่านมาบริษัทพยายามกัดฟันตรึงราคา แต่พลัน “สงครามรัสเซีย-ยูเครน” สะเทือนโลก ไม่เพียงกดดันให้ราคาพลังงานเชื้อเพลิงปรับตัวขึ้นแรงมาก “แป้งสาลี” ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตบะหมี่ฯ ก็ขยับขึ้นแล้ว 20% นั่นหมายความว่าการซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์(Commodity) เพื่อผลิตสินค้าในอนาคตไม่กี่เดือนข้างหน้า จะเป็นต้นทุนที่สูงขึ้นไปอีก

ฟากผู้จัดจำหน่ายคือ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด(มหาชน) สิ่งที่แบกรับรายวันคือราคาน้ำมันที่พุ่งพรวดจาก 60 ดอลลาร์สหรัฐ ทะยานทะลุกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ปัจจัยเหล่านี้ ทำให้มีสัญญาณจากแบรนด์ “มาม่า” จะขอขึ้นราคาขายปลีกเป็น 7 บาทต่อซอง!!

กรุงเทพธุรกิจ สอบถามไปยัง “เวทิต โชควัฒนา” กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ถึงแนวทางการขอปรับขึ้นราคามาม่า 7 บาท ได้รับคำตอบว่า “ยังขึ้นไม่ได้ครับ ต้องรออนุมัติจากภาครัฐ”

แหล่งข่าวจาก สหพัฒนพิบูล เล่าว่า ขณะนี้สถานการณ์ต้นทุนสินค้าปรับตัวขึ้นมาสูงมากทั้งฝั่งผลิตและผู้จัดจำหน่าย ทำให้พิจารณาขอปรับขึ้นราคา 17% เป็น 7 บาท แม้ไม่การันตีว่าจะพยุงให้ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปได้ก็ตาม

“ต้นทุนขึ้นมาเยอะ ทางโรงงานก็ไม่ไหวแล้วล่ะ ถ้าจะขอรัฐปรับขึ้นราคาปลีกสัก 17% เป็น 7 บาท น่าจะพอพยุงให้ผ่านวิกฤตินี้ไปได้ แต่ก็ไม่ง่ายเลย”

ในงานแถลงข่าวครบรอบ 50 ปี ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ ทีมผู้บริหารได้ให้ข้อมูลการบริโภคบะหมี่ฯของคนไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 53.2 ซองต่อคนต่อปี สูงสุดเป็นอันดับ 5 ของโลก ส่วนขนาดตลาดราว 3,700 ซองต่อปี เป็นอันดับ 9 ของโลก โดยปีก่อนตลาดเติบโต 10%

สิ่งที่น่าสนใจ หาก “มาม่าขาย 7 บาท” ต่อซอง หากการบริโภคเฉลี่ยดังกล่าว จะกระทบต้นทุนค่าครองชีพผู้บริโภค 53.2 บาทต่อคนต่อปี ซึ่ง “ผู้บริโภค-รัฐ” ต้องมาพิจารณาว่า การปล่อยให้บะหมี่ฯ “อาหารขวัญใจผู้มีรายได้น้อย” ขยับราคาแล้วจะแบกรับภาระราคากันไหวหรือไม่

ก่อนหน้านี้ “มาม่า” มีการปรับราคาสินค้ากับทางร้านค้า ซึ่งเป็นการการลดราคาชั่วคราว หรือ Temporary price reduction จนร้านค้าปลีกต้องร้อง…เพราะ “กำไร” จากการขายปรับตัวลดลง

อ่าน การปรับส่วนลดราคาร้านค้าของมาม่า

ผู้บริโภคกระเทือนแค่ไหน?  “มาม่า” ขอขาย 7 บาท พยุงวิกฤติต้นทุน ++ไวไวปรุงสำเร็จ ขึ้นราคาแล้ว

เพราะแรงกดดันต้นทุนยังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ต้นเดือนที่ผ่านมา “ไวไวรสปรุงสำเร็จ” ตัดสินใจปรับปริมาณสินค้าจาก 55 กรัม เป็น 57 กรัม โดยส่วนที่เพิ่มมาคือปริมาณเครื่องปรุงอย่าง “โซเดียม” เป็น 1,020 มิลลิกรัม(มก.) จาก 710 มก. และไขมัน 12 กรัม จาก 10 กรัม

ส่วนราคาขายเพิ่ม 50 สตางค์ต่อซอง เป็น 6 บาท จากเดิม 5.50 บาท

ที่น่าสนใจของการขึ้นราคา 6 บาทในครั้งนี้ “บางส่วน” เป็นสินค้าสต๊อกเดิม และวางจำหน่ายอยู่บนเชลฟ์ด้วย

อ่าน ไวไวปรุงสำเร็จขึ้นราคา 6 บาทต่อซอง

++บะหมี่ฯไทย VS รามยอนเกาหลี

ราคา “แพง” ทำไมผู้บริโภค “ซื้อ”

บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปราคา 6 บาท เป็นสินค้าหลักในตลาดที่จำหน่ายราคาเดิมมา 14 ปี และรสชาติหลักยังคงเป็นหมูสับ ต้มยำต่างๆ ขึ้นอยู่กับแต่ละแบรนด์พัฒนาออกมาเป็นจุดขาย เพื่อแข่งขัน

 

ผู้บริโภคกระเทือนแค่ไหน?  “มาม่า” ขอขาย 7 บาท พยุงวิกฤติต้นทุน บะหมี่ฯเกาหลีหลากราคา เช่น 39 บาท 45 บาท 49 บาทต่อซอง

ทว่า ห้วงเวลาที่ต้นทุนเพิ่มขึ้น ประกอบกับเทรนด์ “รามยอน” หรือบะหมี่ฯเกาหลี ตลอดจนบะหมี่ฯนำเข้าจากต่างประเทศมาตีตลาด ผู้บริโภคจึงได้เห็น “ราคา” ที่แตกต่างและแพงกว่าบะหมี่ฯไทยเป็น "เท่าตัว" ทั้งที่ขายเฉพาะ “เส้น-เครื่องปรุง” ไม่แตกต่างกัน

ทั้งนี้ บะหมี่ฯเกาหลี ต่อซองราคาสูงถึง 30-40 บาท และบางช่วงเรียกว่ากระแสตอบรับจากผู้บริโภคดีมาก โดยเฉพาะ “รสเผ็ด” ที่มีการชาเลนจ์ แข่งกินบะหมี่ฯเผ็ดสุดโหด เมื่อตลาดและผู้บริโภคเปิดใจรับ “บะหมี่ฯแพง” ทำให้ผู้ผลิตในไทยตบเท้าพัฒนาสินค้า “สู้” ไม่ว่าจะเป็น มาม่า โอเรียนทอล คิทเช่น ขนาด 85 กรัม ราคา 15 บาท ยำยำสูตรเด็ดราคา 10 บาทต่อซอง เป็นต้น

++คอทองแดงร้องไหม..เบียร์ช้าง-ไฮเนเก้น ขึ้นราคา

ภาวะราคาสินค้าแพงลามทุกหมวดหมู่ ทั้งสินค้า “จำเป็น” และสินค้าฟุ่มเฟือย อย่าง น้ำเมาสีอำพัน “เบียร์” 2 ค่ายใหญ่ ขึ้นราคาสินค้าเรียบร้อยแล้ว โดย “เบียร์ช้าง” ของไทยเบฟเวอเรจ อาณาจักรน้ำเมา "เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี" เปลี่ยนแปลงราคาแล้ว โดยขวดแก้วขนาด 620 มิลลิลิตร(มล.) แพ็ค 3 ขวด ราคา 160 บาท จากเดิม 154 บาท แพ็ค 2 ขวด ราคา 110 บาท จาก 104 บาท

ผู้บริโภคกระเทือนแค่ไหน?  “มาม่า” ขอขาย 7 บาท พยุงวิกฤติต้นทุน

ส่วน “ไฮเนเก้น” ขยับตาม สำหรับเบียร์กระป๋อง 490 มล. 65 บาท จากเดิม 62 บาท ขวดแก้วขนาด 620 มล. ราคา 76 บาท จากเดิม 72 บาท เชียร์ราคา 56 บาท จาก 54 บาท เป็นต้น ส่วนเบียร์จากค่ายสิงห์ยังราคาเดิม ซึ่งสินค้าทั้งหมดจำหน่ายช่องทางร้านสะดวกซื้อ

ส่วนร้านค้าทั่วในต่างจังหวัดเบียร์ช้างขวด 620 มล. ราคา 60 บาท จาก 53 บาท ลีโอขวด 620 มล. ขายปลีก 60 บาท จาก 55 บาท เป็นต้น

อ่าน เบียร์ช้าง-ไฮเก้น ขึ้นราคา

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีแค่บะหมี่ฯ ที่กำลังฝ่าวิกฤติต้นทุน และฝ่าด่านอรหันต์ กรมการค้าภายใน เพื่อขอขยับราคาสินค้า แต่ "น้ำอัดลม" ก็ขึ้นราคาแล้ว เช่น แฟนต้า ล่าสุด มีรายงานการปรับราคาเครื่องดื่มกลุ่มน้ำดำเดือนมี.ค.65 เป๊ปซี่ ออริจินัลขนาด 430 มล. บรรจุ 12 ขวด(PET)ปรับราคาขายส่งเพิ่ม 4.60 บาท เป็น 136 บาท จาก 131.4 บาท เป็นต้น

++พาณิชย์ ปล่อยผีปุ๋ยขายแพงได้

ท่ามกลางปัญหา “ปากท้อง” ที่ประชาชนกำลังเจอ “สินค้าแพง” ขึ้นทุกขณะ ล่าสุด สิ่งที่ซ้ำเติมเกษตรกรฐานราก คือการพิจารณาอนุญาตให้ผู้ประกอบการปุ๋ยเคมี สามารถปรับราคาขายขึ้น โดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ จะพิจารณาอนุญาต ”เป็นรายๆไป”

วันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวกระทรวงพาณิชย์ รายงานว่า “วัฒนศักย์ เสือเอี่ยม” อธิบดีกรมการค้าภายใน ได้หารือกับผู้ประกอบการปุ๋ยเคมีของไทย เพื่อพิจารณาสถานการณ์การผลิต และจำหน่าย รวมถึงพิจารณาการปรับขึ้นราคาขายปุ๋ยเคมีในประเทศตามที่ผู้ค้าร้องขอว่า หากจะอนุญาตให้ปรับขึ้นราคาขายปุ๋ยเคมี กรมยืนยันว่า จะพิจารณาให้เป็นรายๆ ไป เพราะแต่ละรายมีต้นทุนแตกต่างกัน ไม่ใช่อนุญาตให้ปรับขึ้นเท่ากันหมด หรือให้ปรับขึ้นได้ทุกราย

ทั้งนี้ ต้นทุนการผลิตปุ๋ยเคมีปรับตัวสูงขึ้นมากถึง 36-49% เมื่อเทียบกับปี 64 หรือเกือบ 100% เมื่อเทียบปี 63 จากผลของราคาน้ำมันในตลาดโลกที่สูงขึ้น และสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ทำให้แหล่งผลิตปุ๋ยเคมีใหญ่ทั้ง 2 แหล่งได้รับผลกระทบจากสงคราม อีกทั้งไทยเป็นประเทศผู้นำเข้าปุ๋ยเคมีเกือบ 100% หรือปีละกว่า 5 ล้านตัน โดยมีแหล่งนำเข้าสำคัญคือ ตะวันออกกลาง จีน รัสเซีย แคนาดา ฯลฯ

สำหรับผู้ผลิตปุ๋ยรายใหญ่ในประเทศ เชื่อว่าผู้บริโภค เกษตรกรพอจะทราบว่าเป็นของ “2 เจ้าสัว” อภิมหาเศรษฐีของไทยที่มีธุรกิจการค้าครบวงจรอย่าง “ธนินท์ เจียรวนนท์” และ “เจริญ สิริวัฒนภักดี”

อ่าน พาณิชย์ ไฟเขียวขึ้นราคาปุ๋ยเคมี

อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกอบการปุ๋ยเคมีได้ขยับราคาสินค้า เชื่อว่าเกษตรกรโอดครวญแน่นอน แต่เสียงสะท้อนคงดังไม่ถึงภาครัฐ

จากบะหมี่ฯจ่อขึ้นราคา 7 บาทต่อซอง ถึงน้ำเมาที่ขยับราคาขายแล้ว ปุ๋ยเคมีเตรียมขายแพง กระทบผู้บริโภคแน่นอน ส่วนมากน้อยแค่ไหน..ขึ้นกับกำลังเงิน อำนาจซื้อที่มีอยู่ในกระเป๋าทุกคน