‘คลัง’สั่งแบงก์รัฐหนุน‘สตาร์ทอัพ’ คาดเว้นภาษีลงทุน - ศก.พุ่ง 7.9 แสนล้าน!!
‘คลัง’ สั่ง ‘แบงก์รัฐ’ หนุนเงินทุนธุรกิจสตาร์ทอัพ คาดมาตรการเว้นภาษี Capital Gains Tax ปลุกลงทุนสตาร์ทอัพพุ่ง 3.2 แสนล้าน ‘ศุภชัย’ ชี้สร้างมูลค่าศก. 7.9 แสนล้าน 'ดีอีเอส' ชี้ปลุกแรงบันดาลใจสตาร์ทอัพสู่ Soft Power “บีโอไอ” กางแผน 4 ด้านพัฒนา “แอพ-ดีพเทค” ให้สิทธิเว้นภาษี 13 ปี
พลันที่คณะรัฐมนตรี เห็นชอบมาตรการภาษี สำหรับการลงทุนในสตาร์ทอัพไทยที่เน้นอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งลงทุนโดยตรง และลงทุนโดยอ้อมผ่าน Venture Capital (CVC) จะช่วยสนับสนุนให้สตาร์ทอัพไทย ระดมทุนจากนักลงทุนได้เพิ่ม โดยเว้นเก็บภาษีผลกำไรจากส่วนต่างของราคาหลักทรัพย์ หรือ Capital Gains Tax เป็นเวลา 10 ปี แก่นักลงทุนไทยและต่างชาตินับเป็นการ “จุดไฟ” ให้ติดอีกครั้งสำหรับวงการสตาร์ทอัพ
นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง ได้ให้นโยบายแก่สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ หรือแบงก์รัฐในการเข้าสนับสนุนด้านเงินทุนแก่ผู้ประกอบธุรกิจสตาร์ทอัพ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ที่รัฐบาลได้สนับสนุน
“นโยบายของรัฐบาลนั้น ชัดเจนว่า ต้องการเข้าไปส่งเสริมผู้ประกอบธุรกิจสตาร์ทอัพ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ ในอดีตเราเข้าใจว่า ธุรกิจสตาร์ทอัพ คือ ธุรกิจขนาดเล็กที่เพิ่งเริ่มต้น แต่เดี๋ยวนี้ จะเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่จะไปลงทุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ซึ่งเราก็พร้อมที่จะสนับสนุน โดยเฉพาะสตาร์ทอัพที่มีอนาคต”
เว้นภาษีดึงเม็ดเงินลงทุนทะลุ 3แสนล.
สำหรับมาตรการยกเว้นการเก็บภาษี Capital Gains Tax จะให้สิทธิประโยชน์เป็นเวลา 10 ปี แก่นักลงทุนไทยและต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในสตาร์ทอัพไทย ภายใต้ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายผ่านเวนเจอร์ แคปิตอล โดยต้องถือหุ้นไม่น้อยกว่า 24 เดือน
ทั้งนี้ สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคมแห่งประเทศไทย กรมสรรพกากร กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และสำนักนวัตกรรมแห่งชาติ ได้ร่วมผลักดันมาตรการภาษีดังกล่าว เพื่อส่งเสริมการระดมทุนในสตาร์ทอัพไทย เป็นอีกหนึ่งพลังเสริมสร้างการลงทุน กระตุ้นการจ้างงานในประเทศ สร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจไทย
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธาน สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมสตาร์ทอัพ จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้สตาร์ทอัพไทย เพิ่มขีดความสามารถการระดมทุนจากนักลงทุนได้เพิ่มขึ้น
สภาดิจิทัลฯ คาดการณ์ว่า จากมาตรการ Capital Gains Tax นี้จะทำให้ภายในปี 2569 มีเงินลงทุนในสตาร์ทอัพไทยเพิ่มขึ้น 320,000 ล้านบาท เกิดการจ้างงานทั้งทางตรง และทางอ้อมเพิ่มขึ้นมากกว่า 4 แสนตำแหน่ง รวมถึงสร้างความแข็งแกร่งให้ระบบเศรษฐกิจประเทศคิดเป็นมูลค่า 790,000 ล้านบาท
หนุนสตาร์ทอัพในอุตฯเป้าหมาย
สิทธิประโยชน์ทางภาษี Capital Gains Tax สำหรับการลงทุนในสตาร์ทอัพไทย จะเน้นที่อุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวระดับคุณภาพ อุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารที่มีมูลค่าเพิ่มสูง และอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ เป็นต้น
สำหรับ หลักการใจความสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เว้น ภาษี Capital Gains Tax นี้จะประกอบด้วย
1. ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ผู้ลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศสำหรับกำไรจากการขายหุ้นในสตาร์ทอัพ
2. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ CVC ทั้งไทยและต่างประเทศ และ PE Trust ต่างประเทศ สำหรับกำไรจากการขายหุ้นในสตาร์ทอัพ
3. ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ผู้ลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศสำหรับกำไรจากการขายหุ้นใน CVC ไทยและจากการที่ CVC ไทยเลิกกิจการ และกำไรจากการขายหน่วยทรัสต์ใน PE Trust ไทยและจากการที่ PE Trust ไทยเลิกกิจการ โดย CVC และ PE Trust ไทย ดังกล่าวเป็น CVC และ PE Trust ที่ลงทุนในสตาร์ทอัพ
สำหรับการลงทุนที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ภาษีตามข้อ 1-3 ต้องลงทุนในสตาร์ทอัพไทยที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย และต้องได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สำนักนวัตกรรมแห่งชาติ และมีรายได้จากอุตสาหกรรมเป้าหมายไม่น้อยกว่า 80% ของรายได้ทั้งหมดใน 2 รอบระยะเวลาบัญชีก่อนการขายหุ้น
4. ผู้ลงทุนต้องถือหุ้นหรือหน่วยทรัสต์ไม่น้อยกว่า 24 เดือนก่อนการขายหุ้นหรือหน่วยทรัสต์
5. CVC ไทยและ PE Trust ไทยต้องมีทุนไม่น้อยกว่า 20 ล้านบาทและจดแจ้งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
6. ระยะเวลาการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีคือ ตั้งแต่วันถัดจากวันที่พระราชกฤษฎีกาประกาศในราชกิจจานุเบกษาจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2575
ดีอีเอสเร่ง ร่างพรฎฯ
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า ขณะนี้ อยู่ระหว่างขั้นตอนการเสนอร่าง พรฎฯ ดังกล่าว ซึ่งการยกเว้นภาษีกำไรจากการขายหุ้นนั้น ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนอย่างสิงคโปร์ ก็มีการยกเว้นเช่นกัน โดยรวมทั้งการขายหุ้น สินทรัพย์ถาวร สินทรัพย์ไม่มีตัวตน กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศจากธุรกรรมทุน แต่หากเป็นตัวแทนจำหน่ายหรือผู้ค้า จะไม่ได้รับข้อยกเว้นนี้หากบุคคลซื้อและขายทรัพย์สินโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลกำไร
เมื่อถามว่า แล้วจะพิจารณาอย่างไรว่าการซื้อขายนั้นมีจุดประสงค์เพื่อผลกำไรหรือไม่ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า กฎหมายของสิงคโปร์จะดูที่ความถี่ในการได้มาและขายทรัพย์สิน วัตถุประสงค์ เหตุผลการซื้อและขายทรัพย์สิน วิธีการทางการเงินในการถือครองทรัพย์สินในระยะยาว และระยะเวลาการถือครองจะต้องมากกว่า 24 เดือน
นอกจากนี้ยังมีกฎหมาย The “Safe Harbour” Rule ที่กำหนดให้บริษัทที่มีการขายหุ้นจะต้องถือหุ้นอย่างน้อย 20% ของหุ้นสามัญในบริษัท และจะต้องถือหุ้นอย่างน้อย 20% เป็นเวลาอย่างน้อย 24 เดือนก่อนการจำหน่าย
“การเว้น Capital Gains Tax ทั้งของไทยที่กำลังจะเกิดขึ้น และสิงคโปร์ที่มีการใช้มาก่อนหน้าแล้ว เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์เช่นเดียวกัน คือจูงใจนักลงทุนด้วยมาตรการด้านภาษี เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการในประเทศ โดยไทยเรามีเป้าหมายในการสนับสนุนกลุ่มสตาร์ทอัพในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งเกษตร ประมง รวมถึง Soft Power ด้านภาพยนตร์ กีฬา และ E-Sport ที่คาดว่า จะมีสตาร์ทอัพหน้าใหม่ถึง 5,000 ราย ในปี 2565” นายชัยวุฒิ กล่าว
กาง 4 แผนบีโอไอร่วมหนุน
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ธุรกิจและการลงทุนของสตาร์ทอัพเป็นส่วนสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศในอนาคต โดยบีโอไอสนับสนุนการลงทุนของสตาร์ทอัพทั้งที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาแอพลิเคชั่น และสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Tech) เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเช่น การแพทย์ สมาร์ทฟาร์มมิ่ง และสามาร์ทดิจิทัลโดยบีโอไอสนับสนุนการพัฒนาสตาร์ทอัพในไทย 4 ด้าน ได้แก่
1.ด้านสิทธิประโยชน์ภาษี การลงทุนของสตาร์ทอัพ และกิจการที่ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาระบบนิเวศน์ (Ecosystem) เพื่อสนับสนุนการลงทุนของสตาร์ทได้สิทธิประโยชน์สูงสุด 13 ปี โดยกิจการที่เข้าข่ายได้รับสิทธิประโยชน์ ได้แก่กิจการพัฒนาซอฟต์แวร์ แพลตฟอร์มเพื่อให้บริการดิจิทัล หรือดิจิทัลคอนเทนต์ และกิจการด้านเทคโนโลยีชีวภาพ สมาร์ทฟาร์มมิ่ง การผลิตหุ่นยนต์ การพัฒนาระบบปฏิบัติการเกี่ยวกับอวกาศ การพัฒนาระบบ และสมาร์ทซิตี้
ส่วนกิจการที่พัฒนา Ecosystem เช่น ดิจิทัลปาร์ค Incubation Center ,Co-working Space, Fabrication Lab บริการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ และธุรกิจ Cloud Service เป็นต้น
2.ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ สตาร์ทอัพ เพื่อสนับสนุนค่าจ้างบุคลากรแก่สตาร์ทอัพ โดยใช้เงินจากกองทุน เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ ซึ่งมีหลักเกณฑ์สำคัญ คือ ต้องเป็นสตาร์ทอัพในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่จัดตั้งนิติบุคคลในไทยไม่เกิน 5 ปี และต้องได้รับเงินทุนจาก VC หรือ CVC มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาทโดยยื่นขอรับเงินสนับสนุนสำหรับค่าจ้างบุคลากรสัดส่วนไม่เกิน 50% รวมไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อบริษัท ในระยะเวลาสนับสนุนไม่เกิน 2 ปี
3.สนับสนุนให้บุคลากรที่มีความสามารถเข้ามาทำงานในธุรกิจสตาร์ทอัพในไทย โดยตั้งแต่ปี 2561 บีโอไออนุมัติสมาร์ทวีซ่าให้ผู้มีความสามารถเข้ามาทำงานในไทยแล้ว550 คน โดยส่วนใหญ่ทำงานในบริษัทสตาร์อัพด้านอุตสาหกรรมดิจิทัล การแพทย์และสุขภาพ
4.การสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมการถ่ายทอดความรู้ และพัฒนาสตาร์ทอัพในไทย เช่น การจัดสัมมนา BCG Investment Day ในวันที่ 24 มี.ค.2565เพื่อให้ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพที่ต้องการได้รับข้อมูลเรื่องนี้สามารถรู้ข้อมูลที่จำเป็น และจะจัดงานลักษณะนี้เพิ่มเติมเกี่ยวกับสตาร์ทอัพสาขาอื่นในอนาคต