"สุชาติ" โชว์ช่วยแรงงานลดผลกระทบวิกฤติยูเครน 24 ล้านคน วงเงิน 3.4 หมื่นล้าน

"สุชาติ" โชว์ช่วยแรงงานลดผลกระทบวิกฤติยูเครน 24 ล้านคน  วงเงิน 3.4 หมื่นล้าน

รมว.สุชาติ แถลงมาตรการช่วยแรงงานและประชาชนลดผลกระทบวิกฤตยูเครน กางแผนช่วย 24 ล้านคน วงเงินรวมกว่า 3.4 หมื่นล้านบาท เผยการปรับขึ้นค่าแรงจะต้องผ่านการพิจารณาคณะกรรมการไตรภาคี คาดได้ข้อสรุปหลัง ก.ค.ปีนี้

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน 
ร่วมแถลงข่าวมาตรการช่วยเหลือประชาชนจากสถานการณ์ความขัดแย้งยูเครน – รัสเซีย ว่าตามที่ได้เกิดสถานการณ์ความขัดแย้งดังกล่าว และท่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีความห่วงใยต่อพี่น้องประชาชนและพี่น้องผู้ใช้แรงงานทุกท่าน จึงให้แต่ละหน่วยงานกำหนดมาตรการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนโดยด่วนที่สุด 


ซึ่งภายใต้การกำกับดูแลของท่าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้กำหนดมาตรการช่วยเหลือและลดผลกระทบต่อประชาชนในช่วงสถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน เพื่อลดรายจ่ายของพี่น้องประชาชนที่เกิดขึ้น โดยการลดเงินสมทบทั้งในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันทุกมาตราเป็นระยะเวลา 3 เดือน ได้แก่ ผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 11.2 ล้านคน จะได้ลดเงินสมทบจากร้อยละ 5 เหลือ ร้อยละ 1 ยกตัวอย่างหากคิดบนฐานเงินเดือน 15,000 บาท จากเดิมต้องส่งเงินสบทบ 750 บาท จะลดลงเหลือส่งเงินสมทบ 150 บาท

ทำให้สามารถลดภาระค่าครองชีพ ไปได้ประมาณ 600 บาทต่อคนต่อเดือน ผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 1.9 ล้านคน จะได้ลดเงินสมทบจากร้อยละ 9 เหลือร้อยละ 1.9 คือจากเดิมที่ต้องส่งเงินสมทบ 432 บาท จะลดลงเหลือส่งเงินสมทบ 91 บาท หรือลดภาระค่าครองชีพไปได้ประมาณ 341 บาทต่อคนต่อเดือน

ผู้ประกันตนมาตรา 40 จำนวน 10.6 ล้านคน จะได้ลดเงินสมทบในแต่ละทางเลือกลงร้อยละ 40 คือ ทางเลือกที่ 1 ลดการส่งเงินทบจากเดิม 70 บาท ลดลงเหลือ 42 บาททางเลือกที่ 2 ลดการส่งเงินทบจากเดิม 100 บาท ลดลงเหลือ 60 บาท ทางเลือกที่ 3 ลดการส่งเงินทบจากเดิม 300 บาท ลดลงเหลือ 180 บาท หรือลดภาระค่าครองชีพไปได้ประมาณ 84 – 360 บาทต่อคนต่อเดือน นอกจากนี้ นายจ้าง จำนวน 5 แสนราย จะได้ลดเงินสมทบจากร้อยละ 5 เหลือ ร้อยละ 1 ซึ่งเป็นการลดต้นทุนการผลิต ยกตัวอย่างเช่น

หากนายจ้างจ่ายค่าจ้างบนฐานเงินเดือน 15,000 บาทต่อลูกจ้าง 1 คน หากนายจ้างมีลูกจ้าง 1,000 คน จะสามารถลดต้นทุน การผลิตของนายจ้างต่อเดือนลง 600,000 บาท รวมระยะเวลา 3 เดือนเป็นเงินทั้งสิ้น 1,800,000 บาท มาตรการดังกล่าวจะเกิดประโยชน์แก่พี่น้องประชาชนประมาณ 24.2 ล้านคน เป็นเม็ดเงินมูลค่าประมาณ 34,540 ล้านบาท 

นายสุชาติ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าประเด็นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำว่า กระทรวงแรงงานได้เร่งรัดติดตามการดำเนินการเรื่องนี้มาโดยตลอด ซึ่งอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทยหากเทียบกับประเทศคู่แข่งที่สำคัญด้านการลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว อัตราค่าจ้างขั้นต่ำของเรายังอยู่ในระดับที่สูงกว่า และ การขึ้นค่าแรงในแต่ละครั้งนั้น

มีคณะกรรมการค่าจ้างที่เป็นคณะกรรมการไตรภาคี 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง และฝ่ายรัฐบาล ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2551 ตามเกณฑ์การพิจารณาเกี่ยวกับ ดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานการครองชีพ ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ และสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและตามหลักการของ ILO ทั้งนี้ ในห้วง เดือน เม.ย. - มิ.ย. 65 อยู่ในขั้นตอนที่สำนักงานคณะกรรมการค่าจ้างและสำนักงานแรงงานจังหวัดดำเนินการสำรวจและประมวลผลค่าใช้จ่ายที่จำเป็น เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาทบทวนอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดและกรุงเทพฯ จากนั้นในเดือน ก.ค.65

คณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดและกรุงเทพฯ
จะจัดประชุมพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด และส่งผลประชุมให้คณะกรรมการค่าจ้าง ก่อนที่จะให้คณะกรรมการค่าจ้างพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นจัดการประชุมพิจารณาในเดือน ส.ค.-ก.ย.65 โดยในกรณีมีมติปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ กระทรวงแรงงานจะลงนามเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป