"สกพอ." เร่งแก้หนี้นอกระบบ 5 แบงก์อัดสินเชื่อธุรกิจรายย่อย
เศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวจากโควิด-19 มีกลุ่มที่ยังได้รับผลกระทบและต้องการสินเชื่อช่วยเหลือประกอบอาชีพ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) สำรวจพบธุรกิจขนาดเล็กเข้าไม่ถึงสินเชื่อจากสถาบันการเงินทำให้ต้องไปพึ่งหนี้นอกระบบต้องเร่งแก้ไข
คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สกพอ. เปิดเผยว่า สกพอ.ทำความร่วมมือกับสถาบันการเงิน และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ รวม 5 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรม (บสย.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอีแบงก์)
ทั้งนี้ จัดทำแซนด์บ็อกซ์ หรือพื้นที่ทดลองในการช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยลงนามบันทึกความร่วมมือตั้งแต่เดือน ธ.ค.2564 และโครงการมีความคืบหน้าเป็นลำดับของสถาบันการเงินแต่ละแห่ง ดังนี้
ธนาคารออมสิน ปล่อยกู้ให้ประชาชนนำเงินกลับไปประกอบอาชีพใหม่แล้ว 24,728 ราย รวมวงเงิน 5,443 ล้านบาท หรือเฉลี่ยคนละ 190,000 บาท เอ็กซิม แบงก์ ให้เงินกู้กับธุรกิจ 22 ราย เพื่อปฎิรูปการณ์ผลิตมาใช้เทคโนโลยีแล้ว 22 ราย วงเงิน 1,940 ล้านบาท
บสย.เข้าไปค้ำประกันเงินกู้ 66,019 ราย วงเงิน 84,367 ล้านบาท ธ.ก.ส.ให้กู้ 3,785 ราย วงเงิน 2,047 ล้านบาท เอสเอ็มอี แบงก์ ปล่อยเงินกู้ 250 ราย วงเงิน 249 ล้านบาท โดยทั้งหมดเป็นจุดเริ่มต้นจากเป้าหมายที่ต้องการให้ผู้ได้รับการช่วยเหลือรวม 175,774 ราย ในอีอีซี
“เรื่องนี้คืบหน้าเป็นลำดับและถ้าสำเร็จก็นำไปใช้ทั้งประเทศได้ โดยจะเข้าไปช่วยผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก ผู้ค้ารายย่อย ผู้ประกอบอาชีพด้านการเกษตรและวิสาหกิจชุมชนได้ประกอบอาชีพอีกครั้ง รวมทั้งเปลี่ยนกิจการโดยนำเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้เพื่อลดค่าใช้จ่ายและต้นทุน รวมถึงพัฒนาสินค้าและบริการเพื่อให้ยอดขายเพิ่มขึ้น”
นอกจากนี้ ได้ประเมินการฟื้นตัวเศรษฐกิจของประเทศไทยหลังสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เป็นรูปแบบที่ไม่เท่ากันระหว่างส่วนที่สามารถเติบโตหลังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากวิกฤติบางส่วนที่ไปได้ และอีกส่วนที่ยังมีความยากลำบาก หรือที่เรียกว่าการฟื้นตัวในรูปตัว K หรือ K-shape สำหรับธุรกิจที่ดีขึ้น คือ ธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจส่งออก
ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศราว 60% ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ เนื่องจากรายได้ของประเทศหดหายไปกว่า 1 ล้านล้านบาทในช่วงปี 2563-2564 โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระและลูกจ้าง ซึ่งรายได้ที่หายไปทำให้คนกลุ่มนี้ต้องนำเงินออมมาใช้ และอีกระยะหนึ่งก็สร้างหนี้เพิ่มขึ้นมา ในส่วนนี้หนี้ภาคประชาชนได้ขึ้นมาใกล้เคียงกับรายได้ที่หายไป
สถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลต้องวางนโยบายเศรษฐกิจทั้ง 2 ขา โดยต้องสร้างให้คนกลุ่ม K ขาล่าง กลับมาสร้างรายได้ได้ด้วย
“ช่วงหนึ่งที่รัฐบาลมีนโยบายคนละครึ่ง เหมือนให้ข้าวประชาชนแค่ครึ่งชาม ซึ่งช่วยพยุงขึ้นมาได้แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งต้องนำเทคโนโลยีมาช่วยให้คนกลุ่มนี้หารายได้ด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะฝึกอบรมให้มีอาชีพ ใช้เทคโนโลยีมาสนับสนุนการผลิตสินค้าให้ตรงความต้องการของตลาด”
ทั้งนี้ เมื่อคิดจากจำนวนประชาชนของประเทศที่เป็นกลุ่ม K ขาบน รวมกับข้าราชการที่ได้เงินเดือนปกติไม่น่าจะเกิน 20% ของประชาชนในประเทศ ขณะที่ประชาชนอีก 20% พอเดินได้บ้าง แต่ในส่วน K ขาล่าง ที่เกี่ยวกับประชาชนส่วนใหญ่คิดเป็น 60% ยังไม่ฟื้นตัวไม่ได้ และถ้าไม่มีมาตรการมาช่วเหลือจะทำให้รายได้ที่หายไปจะสูงถึง 1.76 ล้านล้านบาท หากไม่ช่วยคนกลุ่มนี้หารายได้ด้วยตัวเองจะทำให้รัฐบาลมีรายจ่ายต่อเนื่อง ดังนั้น นโยบายของรัฐบาลจึงต้องเข้าไปดูแลคนกลุ่มนี้ให้ดี
“การทำนโยบายเศรษฐกิจของประเทศจากนี้จะยึดกรอบทฤษฎีอย่างเดียวไม่ได้ หนี้สาธารณะของประเทศปัจจุบัน 65% ของจีดีพี ไม่มีนัยยะอะไร สามารถเดินไปได้ เพราะไทยไม่ได้เป็นหนี้ต่างประเทศจำนวนสูง”
ในขณะที่ปัญหาของกลุ่มคนที่อยู่ใน K ขาล่าง มาจากที่ธุรกิจท่องเที่ยวยังไม่กลับมาได้ เพราะตราบใดที่นักท่องเที่ยวไม่กลับมาระดับ 30-40 ล้านคนต่อปี เศรษฐกิจของประเทศจะโตได้เพียง 2-3%
"พ่อค้าแม่ค้าเคยขายก๋วยเตี๋ยวได้วันละ 100 ชามก็เหลือแค่ 50 ชาม แต่ต้องให้เขาได้กลับมาขายเพื่อให้มีรายได้ ให้พอเดินไหวและอยู่ได้ ซึ่งต้องเป็นนโยบายของประเทศที่เข้าไปดูแลคนกลุ่มนี้”
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 21 มี.ค.2565 สกพอ.ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือหลักสูตรวุฒิบัตรการพัฒนาความสามารถผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกัน สถาบันพระปกเกล้า เพื่อร่วมกันจัดทำหลักสูตรพัฒนาศักยภาพผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และผู้นำชุมชนในอีอีซี โดยจัดอบรม“หลักสูตรวุฒิบัตรการพัฒนาความสามารถผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น”
ทั้งนี้ มีเป้าหมายหลักในการเปิดโอกาสให้ผู้เข้ารับการอบรม ได้แก่ กลุ่มผู้บริหาร อปท.ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และผู้ที่เกี่ยวข้องในอีอีซี เพื่อเพิ่มประสบการณ์และทักษะที่นำมาประยุกต์ใช้กับหน่วยงาน พื้นที่ ชุมชน และประชาชน เพื่อนำไปพัฒนาพื้นที่ ชุมชน และประชาชน
สำหรับผู้นำท้องถิ่นถือเป็นกลุ่มคนที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนในอีอีซี มีความใกล้ชิดกับประชาชนและเป็นสื่อกลางถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจ และร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งโครงการนี้่จะช่วยเพื่อเสริมความแข็งแกร่งด้านข้อมูล โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอีอีซี และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและผู้นำชุมชนรับทราบ รวมทั้งจุดประกายความคิดและนำไปสู่การปรับเปลี่ยนแนวคิด และการดำเนินงานอย่างเหมาะสม