5 ปมสะดุด “สนามบินเบตง” บทเรียนราคาแพง กระทบภาพลักษณ์

5 ปมสะดุด “สนามบินเบตง” บทเรียนราคาแพง กระทบภาพลักษณ์

เปิด 5 ปมท่าอากาศยานเบตงให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์ไม่เต็มสูบ “นกแอร์” ยันความพร้อมกลับมาเปิดบินอีกครั้ง ขอเวลา 3 เดือนเร่งทำการตลาด จี้รัฐออกมาตรการอุ้ม

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ร่วมเดินทางไปกับเที่ยวบินพาณิชย์ปฐมฤกษ์ของสายการบินนกแอร์ และเป็นประธานในพิธีเปิดเที่ยวบินพาณิชย์ปฐมฤกษ์ สู่ท่าอากาศยานเบตง เมื่อวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา แต่แล้วก็เกิดเป็นปรากฎการณ์ผู้โดยสารโดนเท เมื่อสายการบินนกแอร์ยกเลิกเที่ยวบิน ดอนเมือง - เบตง กะทันหัน ในวันที่ 16 และ 18 มี.ค.2565

สำหรับท่าอากาศยานเบตง กระทรวงคมนาคม โดยกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ได้ดำเนินโครงการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 6 ต.ค.2558 เริ่มก่อสร้างในปี 2560 และก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2562 แต่ยังไม่สามารถเปิดให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์อย่างเป็นทางการ ซึ่งมีหลายสาเหตุที่ถูกวิพากย์วิจารณ์ทั้งในสังคมออนไลน์ นักวิชาการ ผู้ประกอบการสายการบินและภาคท่องเที่ยว

โดย “กรุงเทพธุรกิจ” หยิบยก 5 ปมสะดุด ของท่าอากาศยานเบตง ประกอบด้วย

1.ข้อจำกัดขนาดทางวิ่ง (รันเวย์)

ทางวิ่ง (Runway) ของท่าอากาศยานเบตง มีขนาด 30x 1,800 เมตร สามารถรองรับเครื่องบินขนาด 80 ที่นั่ง (ATR-72/Q-400) ซึ่งปัจุบันสายการบินที่มีเครื่องบินขนาด 80 ที่นั่งให้บริการ มีเพียงสายการบินนกแอร์ และสายการบินบางกอกแอร์เวย์ จึงทำให้หลายคนมองว่าเป็นข้อจำกัดของการให้บริการ

โดย ทย.ชี้แจงถึงประเด็นนี้ว่า การพัฒนารันเวย์ในขนาด 30x 1,800 เมตร เนื่องจากตามหลักการดำเนินงานท่าอากาศยานจะมีการติดตามตัวเลขผู้โดยสารและเที่ยวบิน เพื่อนำมาวิเคราะห์ในการเพิ่มศักยภาพของท่าอากาศยานต่างๆ โดยจะต้องมีระยะของการพัฒนาตามขนาดและความต้องการเดินทางของประชาชน

2.การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ท่าอากาศยานเบตงเดิมมีกำหนดจะเปิดให้บริการในปี 2563 แต่เนื่องด้วยการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้การเตรียมความพร้อมในส่วนของบุคลากร และการทำการตลาดของสายการบินที่ต้องดำเนินการคู่ขนานไปกับการท่องเที่ยวยังไม่เอื้ออำนวยต่อการเปิดให้บริการ

นายเจือ ราชสีห์ เปิดเผยในขณะดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในปี 2563 โดยระบุว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อาจส่งผลกระทบต่อการจัดส่งบุคลากรของ ทย. ไปประจำที่ท่าอากาศยานเบตง ขณะที่สายการบินนกแอร์ยังแสดงความสนใจทำการบิน แต่เมื่อเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ต้องทบทวนแผนธุรกิจ

3.มาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ

สายการบินนกแอร์และกระทรวงคมนาคมมีการหารือร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อเจรจาขอมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นการลดค่าธรรมเนียมค่าขึ้นลงอากาศยาน 50% และยกเว้นค่าธรรมเนียมจอดอากาศยาน และเงื่อนไขการรับประกันที่นั่งผู้โดยสาร 75%

โดยขณะนี้ภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือในส่วนของการลดค่าธรรมเนียมค่าขึ้นลงอากาศยาน 50% และยกเว้นค่าธรรมเนียมจอดอากาศยาน ส่วนเงื่อนไขการรับประกันที่นั่งผู้โดยสาร 75% นั้นยังไม่ได้มีข้อยุติของการเจรจา

นายธีรพล โชติชนาภิบาล ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยเมื่อวันที่ 18 มี.ค.ที่ผ่านมา หลังจัดเที่ยวบินกระตุ้นตลาดท่องเที่ยวเบตง ด้วยการนำสื่อมวลชนและบล็อกเกอร์สายท่องเที่ยวสำรวจสถานที่ท่องเที่ยว โดยระบุว่า “นกแอร์ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือ ด้วยการการันตีรายได้ 75% ในช่วง 6 เดือนแรกที่ให้บริการเส้นทาง กรุงเทพฯ-เบตง อยากให้ภาครัฐช่วยทำให้เราอุ่นใจ ช่วยชดเชยไม่ให้เราขาดทุนมากนัก”

4.ค่าบัตรโดยสารราคาสูง

เนื่องด้วยข้อจำกัดของท่าอากาศยานเบตงที่รองรับได้เฉพาะเครื่องบินลำเล็ก ขณะที่ระยะทางการบินค่อนข้างไกล ส่งผลให้สายการบินมีต้นทุนการดำเนินงานที่สูง ทำให้ราคาบัตรโดยสารต่อเที่ยวปรับสูงขึ้น โดยทางนกแอร์ประเมินว่าราคาขายเส้นทาง กรุงเทพฯ-เบตง อยู่ที่ประมาณ 3,000 บาทต่อเที่ยวบิน

ขณะที่ภาคท่องเที่ยวประเมินว่าราคาตลาดรับได้จะอยู่ที่ 2,500 บาทต่อเที่ยวบิน เพราะเมื่อเทียบกับการเดินทางด้วยเที่ยวบิน กรุงเทพฯ-หาดใหญ่ พบว่ามีราคาค่าโดยสารอยู่ที่ประมาณ 1,500 บาทต่อเที่ยวบิน บวกกับค่าเดินทางต่อมายังอำเภอเบตงด้วยรถโดยสาร ดังนั้นหากบัตรโดยสารมีราคาสูงเกินไปนั้น อาจไม่จูงใจผู้โดยสารเดินทาง

5.การตลาดน้อย

สายการบินนกแอร์ออกมายอมรับถึงสาเหตุที่ทำให้สายการบินนกแอร์ไม่สามารถทำการบินเส้นทางดอนเมือง - เบตง ได้ตามที่กำหนดไว้ ประเด็นสำคัญคือต้นทุนการดำเนินงาน และรายได้ไม่สมดุลกัน เนื่องจากสายการบินมีเวลาทำการตลาดน้อย ยอดจองการเดินทางไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ยกตัวอย่างเที่ยวบินวันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา มีผู้โดยสารจองตั๋วเพียง 11 ที่นั่ง ส่วนวันที่ 18 มี.ค.ที่ผ่านมา มียอดจองล่วงหน้าเพียง 4 ที่นั่ง จึงไม่คุ้มทุนหากจะทำการบิน

อีกทั้งยังไม่เห็นแนวโน้มที่ชัดเจนว่าดีมานด์การเดินทางจะมีเพียงพอสำหรับการให้บริการตามแผนที่วางไว้เมื่อไหร่ ส่งผลให้สายการบินตัดสินใจชะลอการให้บริการออกไป และขอเวลาทำการตลาดอีก 2-3 เดือนนับจากนี้ เพื่อเร่งโปรโมทเส้นทางเบตง ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น

อย่างไรก็ดี คงปฏิเสธไม่ได้ว่าความผิดพลาดของการวางแผนเปิดตัวท่าอากาศยานน้องใหม่ในครั้งนี้ ส่งผลกระทบไม่น้อยต่อภาคการท่องเที่ยวไทย ที่ต้องผิดหวังจากการวางแผนเดินทางของนักท่องเที่ยว และเป็นบทเรียนราคาแพงของผู้ประกอบการสายการบิน ต่อภาพลักษณ์การให้บริการ