เช็คชีพจร 3 บิ๊ก “ร้านหนังสือ” เมืองไทย ในวันที่ “หนังสือ” คือ สิ่งเกินจำเป็น!

เช็คชีพจร 3 บิ๊ก “ร้านหนังสือ” เมืองไทย ในวันที่ “หนังสือ” คือ สิ่งเกินจำเป็น!

ชวนเช็คชีพจรร้านหนังสือ เชนสโตร์ 3 รายใหญ่เมืองไทย "ซีเอ็ด-บีทูเอส-นายอินทร์" ยังเต้นดีอยู่ไหม ในยุคที่เงินในกระเป๋ามีจำกัด จนทำให้ "หนังสือ" อาจถือเป็นสิ่งเกินจำเป็นสำหรับกระเป๋าสตางค์!

หลังได้ยินข่าวการปิดตัวของ ร้านหนังสือนายอินทร์ สาขาท่าพระจันทร์ ที่จะเปิดขายจนถึงแค่ 31 มีนาคม 2565 นี้ ก็ทำเอานักอ่านบ่นใจหายไปตามๆ กัน เพราะร้านนายอินทร์ “สาขาท่าพระจันทร์” ถือเป็นร้านหนังสือในความทรงจำของใครหลายคน โดยเฉพาะบรรดาศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ และ ศิลปากร รวมถึงนักเรียน และประชาชนในละแวกใกล้เคียง ที่ต้องได้ไปแวะเวียนเข้าร้านกันอยู่ตลอด ด้วยทำเลเป็นทางผ่านไปท่าเรือข้ามฟาก ที่มีผู้คนสัญจรผ่านอยู่ตลอดเวลา

เกือบ 30 ปีที่ผ่านมา ร้านนายอินทร์ ได้ต้อนรับผู้คนหลากหลาย มีทั้งที่เข้าไปแล้วได้หนังสือติดไม้ติดมือกลับออกมาบ้าง หรือจะยืนอ่านในร้านบ้าง ก็แล้วแต่ความพร้อมในกระเป๋าสตางค์ของแต่ละคน

แต่ทราบหรือไม่ว่า ในช่วงปีไล่เลี่ยกันกับที่ร้านนายอินทร์เปิดตัว (พ.ศ.2536) ก็มีอีก 2 แบรนด์ร้านหนังสือกระโดดเข้าร่วมวงด้วยเหมือนกัน และทั้ง 3 แบรนด์นี้ ต่างก็ขยายสาขา จนเป็น 3 บิ๊ก ร้านหนังสือเชนสโตร์ เจ้าใหญ่ของเมืองไทย

  • จุดเริ่มต้น 3 ยักษ์ ร้านหนังสือ “เชนสโตร์”

การปิดตัวของ นายอินทร์ สาขาท่าพระจันทร์ อาจทำให้นักอ่านบ่นเสียดาย แต่ถ้าถามถึงความใจหายสำหรับชาว “อมรินทร์” แล้ว สาขาท่าพระจันทร์ นี้ถือเป็นสัญลักษณ์อย่างเป็นรูปธรรมของการรุกเข้าสู่ “ธุรกิจร้านหนังสือ” ของเครืออมรินทร์ ซึ่งก่อตั้ง บริษัท อมรินทร์ บุ๊ค เซ็นเตอร์ จำกัด เพื่อดูแลการจัดจำหน่ายสิ่งพิมพ์ทั้งหมด รวมถึงการจัดตั้งร้านค้าปลีกขึ้น ให้ชื่อว่า “ร้านนายอินทร์” โดยเปิดสาขาแรกขึ้นที่ท่าพระจันทร์ ในปี 2536 

ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันกับที่อมรินทร์เปิดร้านนายอินทร์ ก็พบว่า มีอีกสองกลุ่มธุรกิจ ที่เข้าสู่ตลาดนี้เช่นเดียวกัน นั่นคือ “ร้านบีทูเอส” ในเครือเซ็นทรัล ซึ่งจดทะเบียนในนาม บริษัท บีทูเอส จำกัด เมื่อเดือนมีนาคม 2538 และ “ร้านซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์” ของ บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) ที่รุกเข้าธุรกิจร้านหนังสือช่วงปลายปี 2534 เปิดสาขาแรกที่ศูนย์การค้าฟอร์จูนทาวน์ โดยขณะนั้นยังไม่ได้เข้าตลาดหลักทรัพย์ และจดทะเบียนในชื่อ บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด 

  • เมื่อร้านหนังสือถูกดิสรัป

ร้านหนังสือทั้ง 3 แบรนด์ ได้แตกสาขาเป็นร้านหนังสือเชนสโตร์รายใหญ่ กลายเป็น "บิ๊กทรี" ที่ร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์เมืองไทย ในช่วงเกือบ 30 ปีผ่านมา แต่ด้วยสภาพสังคมและพฤติกรรมนักอ่านที่เปลี่ยนไป รวมถึงคลื่นดิจิทัลที่ถาโถม แน่นอนว่า ธุรกิจร้านหนังสือ ถูกดิสรัปโดยตรง

ขณะที่จำนวนนักอ่านกลับหดตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะนักอ่านที่ควักสตางค์จ่ายที่ดูจะเป็นเรื่องที่ยากมากขึ้น เห็นได้จาก “มูลค่าตลาดหนังสือ” ที่มีแต่ลดลง โดยข้อมูลจากสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ระบุตัวเลขมูลค่าตลาดในปี 2557 ซึ่งอยู่ที่ 29,300 ล้านบาท ผ่านมาแค่ 4 ปี เม็ดเงินก็หล่นวูบหายไปกว่า 5 พันล้าน เหลือเพียง 23,900 ล้านบาทในปี 2560

  • 3 บิ๊กเชนสโตร์ “บีทูเอส-นายอินทร์-ซีเอ็ด” ขาดทุนพร้อมหน้า

แม้ที่ผ่านมา เราได้เห็นการปรับตัวต่อเนื่องของทั้งสามผู้เล่น ไม่ว่าจะเป็นการปรับพอร์ตสินค้าที่วางขาย เพิ่มไลน์เครื่องเขียน งานฝีมือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ไปจนถึงขนมขบเคี้ยว และล่าสุดที่กลายเป็นไอเทมประจำทุกร้าน ก็คือ สินค้าป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 รวมถึงสำคัญที่สุด ก็คือ การปรับเพิ่มช่องทางการขายผ่านออนไลน์ ร่วมด้วย อย่างไรก็ดี แม้จะสู้สุดใจ แต่ก็ดูเหมือนจะไม่เป็นผลเท่าไรนัก เมื่อดูจากผลประกอบการล่าสุดของทั้งสามบริษัท ในปี 2563 ต่างประสบภาวะขาดทุนพร้อมหน้า

จากปี 2562 ที่ต่างฝ่ายต่างยังมีกำไร ก็กลายเป็นติดลบอย่างพร้อมเพรียงในปีถัดมา รายละเอียด ดังนี้

  • ร้านบีทูเอส 

จำนวนสาขาปัจจุบัน : 109 สาขา

ผลประกอบการ ปี 2562
รายได้ 4,515.72 ล้านบาท
กำไร 233.34 ล้านบาท

ผลประกอบการ ปี 2563
รายได้ 3,287.03 ล้านบาท ลดลง 27.20 %
ขาดทุนสุทธิ 286.45 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้า 222.76%

  • ร้านหนังสือนายอินทร์

จำนวนสาขาปัจจุบัน : 125  สาขา

ผลประกอบการ ปี 2562
รายได้ 1,040.03 ล้านบาท
กำไร 15.36 ล้านบาท

ผลประกอบการ ปี 2563
รายได้ 768.88 ล้านบาท ลดลง 26.07%
ขาดทุนสุทธิ 18.23 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้า -218.70%

  • ร้านซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์

จำนวนสาขาปัจจุบัน 261 สาขา

ผลประกอบการ ปี 2562
รายได้ 2,812.78 ล้านบาท
กำไร 2.9 ล้านบาท

ผลประกอบการ ปี 2563
รายได้ 1,903.66 ล้านบาท ลดลง 32.32%
ขาดทุนสุทธิ 43.46 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้า 1,590.44%

ธุรกิจร้านหนังสือ

จึงต้องจับตามองกันต่อไปว่า นับจากนี้ "3 บิ๊ก" ร้านหนังสือเชนสโตร์เมืองไทย ทั้งสามราย จะต้องปรับ ขยับ อย่างไรต่อไป เพื่ออยู่รอดในยุคที่ "หนังสือ" อาจกลายเป็น "สิ่งฟุ่มเฟือย" ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจ!

-------------------------
หมายเหตุ : 
- ข้อมูลผลประกอบการ จาก กรมพัฒนาธุรกิจการค้า 
- ข้อมูลสาขา ณ 27 มี.ค.65 จากเว็บไซต์ se-ed.com , naiin.com , b2s.co.th