เปิดราคาปุ๋ยตลาดโลก พุ่ง 100-200% เกษตรกรเตรียมตัวรับปุ๋ยแพง
ราคาปุ๋ยตลาดโลกพุ่งกว่า 100% บริษัทปุ๋ย แจ้งต้นทุนราคาปุ๋ยต่อกรมการค้าภายในขอปรับราคา ด้านพาณิชย์ย้ำ ไฟเขียวขึ้นราคาต้องสมดุลทุกฝ่าย
สถานการณ์ราคาขายส่งปุ๋ยเคมีภายในประเทศเดือน มี.ค. 2565 ยังคงปรับตัวสูงขึ้น ตามราคาในตลาดโลก ซึ่งปัจจุบันแม่ปุ๋ยเคมีสูตรสำคัญที่เกษตรกรไทยใช้มากในตลาดโลก ได้ปรับขึ้นจากปีก่อนเกิน 100% ได้แก่
- ยูเรีย 46-0-0 เพิ่มจากปีก่อน 360 ดอลลาร์ต่อตัน เป็น 1,000 ดอลลาร์ต่อตัน
- แอมโมเนียมซัลเฟต 21-0-0 เพิ่มจากปีก่อน 180 ดอลลาร์ต่อตัน เป็น 400 ดอลลาร์ต่อตัน หรือเพิ่มขึ้น 122%
- ฟอสเฟต 18-46-0 เพิ่มจากปีก่อน 570 ดอลลาร์ต่อตัน เป็น 1164 ดอลลาร์ต่อตัน หรือเพิ่มขึ้น 104%
- โพแทสเซียม 0-0-60 ขึ้นจากปีก่อน 256 ดอลลาร์ต่อตัน เป็น 750 ดอลลาร์ต่อตันหรือเพิ่มขึ้น 193%
คาดว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะต่อเนื่องไปถึงไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 ซึ่งเป็นช่วงเพาะปลูกของไทย
โดยแม่ปุ๋ยยูเรียเป็นผลิตภัณฑ์ของน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติ ต้องพึ่งพาการนำเข้า ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ และราคาอิงกับตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามราคาน้ำมันตลาดโลก โดยไทยมีการนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศ 5 ล้านตันต่อปี โดยประเทศที่มีการนำเข้า
- อันดับหนึ่งจากจีน 1.09 ล้านตัน
- รองลงมาเป็นซาอุดิอาระเบีย 7.2 แสนตัน
- รัสเซีย-เบลารุส 7.1 แสนตัน
- โอมาน 3.67 แสนตัน
- เกาหลี 3.32 แสนตัน
- แคนาดา 3.27 แสนตัน
จาก ราคาปุ๋ยตลาดโลก ที่แพงขึ้น ทำให้หลายบริษัทเสนอต่อกรมการค้าภายในขอปรับราคาปุ๋ย โดยได้มีการทยอยแจ้งราคาต้นทุนให้กับกรมการค้าภายในให้พิจารณาไปแล้ว ซึ่งการยื่นของปรับราคานั้นต้องได้รับอนุญาตจากกรมการค้าภายในเนื่องจาก “ปุ๋ยเคมี” เป็นสินค้าควบคุมตามพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 กำหนดให้ปุ๋ยเคมีเป็นสินค้าควบคุมและกำหนดมาตรการให้ผู้ว่าจ้างผลิต/ผู้นำเข้า แจ้งราคาและรายละเอียดสินค้า ส่วนลด และห้ามจำหน่ายแตกต่างจากที่แจ้งไว้ เว้นแต่ได้รับอนุญาต และกำหนดให้ผู้จำหน่ายปลีกปิดป้ายแสดงราคาจำหน่ายปลีก
นายกองเอก เปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช นายกสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย กล่าวว่า แม้กระทรวงพาณิชย์ จะอนุญาตให้ปรับราคาและกระตุ้นให้นำเข้าได้ แต่ไม่แน่ใจว่าจะสามารถไปแข่งขันสั่งซื้อแม่ปุ๋ยเคมีกลับเข้ามาทันฤดูเพาะปลูกที่กำลังจะเริ่มหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมาราคาปุ๋ยก็แพงขึ้นอยู่แล้ว และพอเกิด สงครามรัสเซีย-ยูเครน ก็ยิ่งซ้ำเติมให้ราคาแม่ปุ๋ยพุ่งขึ้นไปอีก ที่สำคัญหลายประเทศ เช่น จีนก็มีการสั่งห้ามส่งออกปุ๋ย อีกหลายประเทศก็มีการเก็บสต็อกไว้ สำหรับเพิ่มความมั่นคงในการผลิตอาหารภายในประเทศ
ด้านนายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการหรือกับกับผู้ประกอบการปุ๋ยเคมีของไทย เพื่อพิจารณาสถานการณ์การผลิต และจำหน่าย รวมถึงพิจารณาการปรับขึ้นราคาขายปุ๋ยเคมีในประเทศตามที่ผู้ค้าร้องขอว่า หากจะอนุญาตให้ปรับขึ้นราคาขายปุ๋ยเคมี กรมยืนยันว่า จะพิจารณาให้เป็นรายๆ ไป เพราะแต่ละรายมีต้นทุนแตกต่างกัน ไม่ใช่อนุญาตให้ปรับขึ้นเท่ากันหมด หรือให้ปรับขึ้นได้ทุกราย
“กรมการค้าภายในยืนยันจะพิจารณาให้รอบด้าน และพิจารณาถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยจะต้องได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ทั้งผู้ผลิต ผู้ค้า เกษตรกรผู้ใช้ และผู้บริโภคปลายทาง แต่ถ้าไม่ขึ้นราคา ผู้ผลิตผู้ค้าก็อาจไม่นำเข้า และไม่ผลิต ซึ่งจะทำให้ปุ๋ยขาดแคลน และกระทบต่อเกษตรกรได้อีก “นายวัฒนศักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้กรมการค้าภายในยอมรับว่า ต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้นมากถึง 36-49% เมื่อเทียบกับปี 64 หรือเกือบ 100% เมื่อเทียบปี 63 จากผลของราคาน้ำมันในตลาดโลกที่สูงขึ้น และสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ทำให้แหล่งผลิตปุ๋ยเคมีใหญ่ทั้ง 2 แหล่งได้รับผลกระทบจากสงคราม อีกทั้งไทยเป็นประเทศผู้นำเข้าปุ๋ยเคมีเกือบ 100% หรือปีละกว่า 5 ล้านตัน โดยมีแหล่งนำเข้าสำคัญคือ ตะวันออกกลาง จีน รัสเซีย แคนาดา ฯลฯ
สำหรับนโยบายการปรับขึ้นราคาสินค้านั้น นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ได้เน้น ย้ำว่า หน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ คือคอยดูไม่ให้เกิดราคาที่สูงขึ้นจนกลายเป็นภาระกับผู้บริโภค ขณะที่ผู้ประกอบการสามารถประกอบการธุรกิจต่อไปได้ และจะไม่ให้เกิดการฉวยโอกาสปรับราคาขึ้นแบบไม่มีเหตุผล