7แนวคิดของการพัฒนาTODเพื่อชีวิตคนเมือง
เปิด 7 แนวคิดของการพัฒนา TOD พื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้าที่คนเมืองควรรู้ ของ ปีเตอร์ คาลธอร์ป ของ ปีเตอร์ คาลธอร์ป บิดาแห่ง TOD (Transit Oriented Development)
“ลองคิดดูสิว่าจะดีแค่ไหน หากเราสามารถลดการใช้รถบนท้องถนนในเมืองใหญ่ได้ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ แล้วนำพื้นที่ที่เหลือบนท้องถนนเป็นเลนสำหรับจักรยาน มีพื้นที่ทางเดินเท้าที่มากขึ้น มีพื้นที่ปลูกต้นไม้มากขึ้น” นั่นคือภาพฝันและคำพูดของ ปีเตอร์ คาลธอร์ป บิดาแห่ง TOD (Transit Oriented Development) ได้กล่าวเอาไว้ในรายการ TED Talk ปี 2017
TOD คือแนวทางการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน ที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่ามีประสิทธิภาพในการพัฒนาเมือง โดยยึดสถานีขนส่งมวลชนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดระบบหนึ่งของโลกตั้งแต่ช่วงปี 1990 เป็นต้นมา ซึ่ง คาลธอร์ป ได้สรุปหลัก 7 ประการในการพัฒนาตามแนวทาง TOD ซึ่งจะช่วยทำให้เรามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ TOD มากขึ้นไว้ดังนี้
1. Preserve การอนุรักษ์ ใจความสำคัญของการพัฒนาตามแนวทาง TOD อันดับแรกที่สำคัญที่สุดคือ การอนุรักษ์ สิ่งเดิมให้คงอยู่ ทั้งด้านสถาปัตยกรรม วัฒนธรรม วิถีชีวิต ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เพราะคงไม่มีใครอยากเห็นสิ่งดีงามที่คุ้นเคยต้องสูญหายไป การพัฒนาพื้นที่ที่ดีคือการสร้างสิ่งใหม่ที่ดีกว่าเดิมโดยไม่ทำลายรากฐาน เอกลักษณ์ และความเป็นตัวตนของพื้นที่นั้น เช่น สถานีรถไฟหัวลำโพง เป็นสถานที่ที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน การพัฒนาตามรูปแบบ TOD ก็จะเป็นการพัฒนาเชิงอนุรักษ์ ทำให้สถานีรถไฟหัวลำโพงยังคงเป็นสถานีที่คนไทยคุ้นเคย แต่ได้รับการปรับปรุงพื้นที่โดยรอบสถานีให้สวยงามและเกิดประโยชน์ต่อทุกคนทุกฝ่ายมากขึ้น
2. Mix การผสมผสาน การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน จะเป็นไปในรูปแบบของการผสมผสานการใช้งานพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ระหว่างพื้นที่อยู่อาศัย และพื้นที่เชิงพาณิชย์ การออกแบบอาคารตามแนวทางของ TOD จึงเน้นการสร้างอาคารที่เป็นได้ทั้งที่อยู่อาศัยและพื้นที่เชิงพาณิชย์ในอาคารหลังเดียว นอกจากในแง่ความคุ้มค่าของการใช้พื้นที่อย่างผสมผสานแล้ว ยังช่วยเอื้ออำนวยความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตในเมือง ลดค่าใช้จ่ายการเดินทาง และทุกพื้นที่สามารถเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนได้อย่างสะดวกสบายและเท่าเทียม
3. Walk โครงข่ายทางเดินเท้า การสร้างโครงข่ายทางเดินเท้าเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญ ที่ช่วยดึงดูดผู้คนให้เดินทางมาใช้ระบบขนส่งมวลชน แต่การสร้างโครงข่ายทางเดินเท้าที่ดี ไม่เพียงแต่ต้องมีทางเดินที่กว้างขวาง ปลอดภัย แต่ต้องมีร้านค้าสิ่งอำนวยความสะดวก และสวนสาธารณะ ตลอดเส้นทางตั้งแต่อยู่อาศัยไปจนถึงที่ทำงาน ให้รู้สึกถึงความเป็นเมืองที่น่าอยู่มากขึ้น
4. Bike เส้นทางจักรยาน การสร้างเส้นทางสำหรับจักรยานโดยเฉพาะช่วยดึงดูดให้ประชาชนหันมาใช้จักรยานในการเดินทางในเมืองในระยะทางไม่เกิน 5 กม.ส่งผลให้มีการใช้รถยนต์น้อยลง ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และส่งเสริมให้คนเมืองออกกำลังกายไปด้วยในตัว ทำไมเราต้องเสียเวลาไปเข้าฟิตเนสในเมื่อเราสามารถใช้เส้นทางระหว่างบ้านและที่ทำงานเป็นเส้นทางออกกำลังกายด้วยสองขาของเราเองได้
5. Connect เชื่อมต่อทุกพื้นที่ในเมืองเข้าด้วยกัน เชื่อมต่อพื้นที่ต่างๆ ด้วยการสร้างเส้นทางคมนาคมที่หลากหลาย โครงข่ายทางเดินเท้า, เส้นทางจักรยาน, รถโดยสารประจำทาง, เรือ, เส้นทางรถไฟ และรถไฟฟ้าระบบราง เส้นทางสัญจรที่มีความหลากหลายจะช่วยให้ทุกคนสามารถเข้าถึงทุกพื้นที่ในเมืองได้อย่างสะดวกสบายไร้รอยต่อ
6. Ride สร้างระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อการรองรับความต้องการด้านการเดินทางของคนเมืองได้อย่างเพียงพอ การสร้างเส้นทางด้วยรถไฟฟ้าระบบรางคือระบบขนส่งมวลชนที่ได้รับการยอมรับว่ามีประสิทธิภาพมากที่สุด และคุ้มค่ากับการลงทุนระยะยาว เพราะสามารถรองรับผู้โดยสารได้เป็นจำนวนมาก ตรงต่อเวลา ช่วยให้ประชาชนสามารถวางแผนการเดินทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเชื่อมต่อไปสู่การเดินทางรูปแบบอื่นได้จากสถานีขนส่งมวลชนโดยตรง
7. Focus เฝ้าดูการเติบโตของเมืองและปรับเปลี่ยนอย่างเหมาะสม หลังจากพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชนตามแนวทางของ TOD สำเร็จแล้ว เราควรโฟกัสหรือจับตาดูแนวทางการเติบโตของเมืองอยู่เสมอ เพราะชุมชนเมืองทั่วโลกมีการเติบโตอยู่ตลอดเวลา แม้ TOD จะออกแบบเพื่อรองรับการเติบโตของเมืองเอาไว้ระดับหนึ่งแล้วก็ตาม
คาลธอร์ป ได้ประมาณการณ์การเติบโตของเมืองต่างๆ ทั่วโลกเอาไว้ว่า ประชากรโลกกว่า 2.5 พันล้านคนจะอพยพเข้ามาอยู่อาศัยในเขตเมืองภายในปี 2595 นั่นหมายความว่า วิถีชีวิตของผู้คน ราว 1 ใน 3 ของโลกใบนี้จะเข้ามาใช้ชีวิตเป็นคนเมืองในอีก 30 ปีข้างหน้า
จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายนักพัฒนาเมือง ในการออกแบบตามแนวทาง TOD ให้มีระบบขนส่งมวลชนที่เข้าถึงทุกพื้นที่เพื่อรองรับความต้องการของประชากรที่มากขึ้น และขณะเดียวกันเมืองนั้นก็ยังคงไว้ซึ่งธรรมชาติที่สวยงาม รวมทั้งรักษาเอกลักษณ์ของเมืองไว้อย่างครบถ้วน