ธปท.ขยับกรอบเงินเฟ้อ4.9%ปีนี้ มั่นใจเศรษฐกิจไม่เกิดStagflation

ธปท.ขยับกรอบเงินเฟ้อ4.9%ปีนี้ มั่นใจเศรษฐกิจไม่เกิดStagflation

ธปท.หั่น “จีดีพี” ปีนี้เหลือ 3.2% ปีหน้า 4.4% เชื่อเศรษฐกิจฟื้นต่อตามศักยภาพ ยืนยันไม่เกิด Stagflation พร้อมขยับกรอบเงินเฟ้อปีนี้เป็น4.9% คาดไตรมาส 2-3 ทะลุ 5% จากซัพพลายช็อค ยันไม่ใช้เครื่องมือดอกเบี้ยสกัดเงินเฟ้อ

สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ส่งผลให้ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวเพิ่มขึ้น  ซึ่งกระทบต่อราคาสินค้าอุปโภคบริโภค และอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ในไทยยังรุนแรงมีผู้ติดเชื้อเกินวันละ 20,000 คน และทั้งหมดเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาสถานการณ์เศรษฐกิจหลังจากนี้

นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 2 ปี 2565 กนง.ลดประมาณการจีดีพีองปี 2565 อยู่ที่ 3.2% จากเดิม  3.4% และปรับจีดีพีของปี 2566 อยู่ที่ 4.4% จากเดิมที่ 4.7% 

สำหรับการลดจีดีพีดังกล่าวเพราะเศรษฐกิจมีความเสี่ยงจากปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบบางอุตสาหกรรมยืดเยื้อ และผลกระทบจากค่าครองชีพและต้นทุนสูงขึ้นต่อภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจในกลุ่มเปราะบาง รวมถึงมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียจะกระทบเศรษฐกิจไทยผ่านการปรับขึ้นของราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ ที่มีผลให้อุปสงค์ต่างประเทศชะลอลง

ส่วนสาเหตุที่ กนง.ไม่ปรับจีดีพีลงมากกว่าระดับดังกล่าว เพราะมองว่าเศรษฐกิจระยะข้างหน้ายังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง และปี 2565 แรงขับเคลื่อนหลักมาจากในประเทศเป็นหลัก แต่ปี 2565 จะมาจากปัจจัยต่างประเทศด้วย ซึ่งหลังโควิดเริ่มชะลอตัวลงทำให้เปิดประเทศมากขึ้น จึงคาดการณ์นักท่องเที่ยวปีหน้า 19 ล้านคน

อีกทั้งมองว่าเหตุการณ์รัสเซีย-ยูเครน สร้างซัพพลายช็อคใหญ่ด้านพลังงาน ทำให้ กนง.ทบทวนและปรับมุมมองลง แต่หากดูบริบทของไม่มีผลกระทบโดยตรง เศรษฐกิจไทยเข็มแข็งโดยเฉพาะภาคการเงิน ดังนั้นสิ่งที่กระทบเศรษฐกิจไทยมากที่สุด คือ ราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น ดังนั้นเศรษฐกิจไทยยังไม่วิกฤติ แต่มีการฟื้นตัวต่อเนื่อง

“เศรษฐกิจไทยมีทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจากความขัดแยังรัสเซีย-ยูเครน แม้ไม่กระทบการฟื้นตัวเศรษฐกิจ แต่มีผลต่อความเสี่ยงระยะข้างหน้าบ้าง และยังทำให้เศรษฐกิจคู่ค้าชะลอง รวมถึงต้นทุนสูงขึ้น สิ่งเหล่านี้บั่นทอนการบริโภคในประเทศให้ลดลง”

เงินเฟ้อไตรมาส 2 ทะลุ 5%

ด้านเงินเฟ้อ กนง.ปรับเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้เป็น 4.9% และปีหน้า 1.7% โดยคาดว่าเงินเฟ้อมีแนวโน้มอยู่ที่ 5% ในไตรมาส 2-3 ปีนี้ ซึ่งมาจากราคาพลังงานที่ส่งผ่านมาสู่ต้นทุนหมวดอาหารเพิ่มขึ้น แต่เงินเฟ้อจะค่อยๆ กลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในปี 2566 เพราะจะสูงช่วงหนึ่งเท่านั้น

ทั้งนี้เงินเฟ้อที่ยังเสี่ยงจากราคาน้ำมันที่มีโอกาสสูงกว่าประเมินทำให้ส่งผ่านต้นทุนไปสู่ผู้ประกอบการมากกว่าคาด แม้มีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงรับภาระระดับหนึ่ง แต่มองว่าปี 2566 แรงกดดันด้านราคาอาหารและพลังงานจะหมดไป

รวมทั้งเงินเฟ้อที่สูงขึ้น เป็นผลจากแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทาน (cost-push inflation) ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ (demand-pull inflation) ยังอยู่ระดับต่ำจากรายได้ที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัว

นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวในกรอบเป้าหมาย ทั้งนี้ กนง.จะติดตามพัฒนาการเงินเฟ้อใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจว่าอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางสอดคล้องกับเป้าหมายนโยบายการเงิน

ด้านเงินเฟ้อพื้นฐาน หากหักอาหารพลังงานก็ปรับขึ้นในปีนี้และปีหน้า ส่วนหนึ่งมาจากการฟื้นตัวเศรษฐกิจทำให้มีแรงส่งในการขึ้นราคา ซึ่งเป็นปัจจัยจากซํพพลายช็อคระยะสั้น

แต่สิ่งที่สำคัญคือการมองเงินเฟ้อไปข้างหน้า จากเครื่องชี้วัดหลายตัว ซึ่งชี้ให้เห็นว่าเงินเฟ้อระยะปานกลางไม่สูงขึ้นมาก และสอดคล้องเงินเฟ้อคาดการณ์ของ กนง.แม้จะมีแรงกดดันจากเงินเฟ้อระยะสั้นที่เพิ่มขึ้น แต่ในระยะปานกลางยังไม่มีสัญญาณเพิ่มขึ้น สะท้อนว่าเงินเฟ้อระยะปานกลางถูกยืดเหนี่ยวได้ดีแม้มีช็อคเข้ามา

“ไตรมาส 3 เงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงอีก จากฐานของระดับราคาที่สูง และแรงกดดันที่ยังมีในระบบ แต่ที่สำคัญ คือ การมองภาพระยะปานกลาง เพราะผลการส่งผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจต้องใช้เวลา 1 ปี ดังนั้น กนง.มองว่าเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมองทะลุการผันผวนของราคาระยะสั้นได้”

สำหรับเป้าหมายเงินเฟ้อระยะ 3 ปี มองว่ายังยึดกรอบเป้าหมาย 1-3%

ไทยไม่เข้าสู่ Stagflation

ส่วนการที่เงินเฟ้อสูงขึ้นจะทำให้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจชะลอ เงินเฟ้อพุ่ง (Stagflation) หรือไม่นั้น มองว่านิยาม Stagflation คือ เศรษฐกิจถดถอย ชะลอตัวกับภาวะเงินเฟ้อสูง แต่ไม่ได้มาจากเงินเฟ้อที่ปรับขึ้นชั่วคราว ดังนั้นหากมองลักษณะนี้ เศรษฐกิจไทยต้องขยายตัวต่ำหรือไม่ขยายตัวเป็นเวลานาน และมีแรงกดดันเงินเฟ้อต่อเนื่อง

ในขณะที่เศรษฐกิจไทยไม่อยู่ภาวะ Stagflation เพราะเศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัว 3.2% และปีหน้าขยายตัวมากกว่านี้ อีกทั้งมีทิศทางการขยายตัวมากกว่าศักยภาพเศรษฐกิจไทยที่ 3% ในปีหน้า ดังนั้น เศรษฐกิจโตเร็วกว่าศักยภาพจึงไม่เข้าข่าย Stagflation

นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยจะกลับเข้าสู่ระดับก่อนโควิด-19 ได้ เช่นเดิมในกลางปีนี้หรือต้นปีหน้า ตอกย้ำว่าเศรษฐกิจยังฟื้นตัวต่อได้

สำหรับไส้ในเศรษฐกิจที่ กนง.ปรับประมาณการณ์รอบนี้ หลัก มีการปรับการบริโภคภาคเอกชนลดลง ที่ 4.3%จาก5.6% การลงทุนเอกชน 4.7% จาก 5.4%และคาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะขาดดุลอยู่ที่ 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงที่ 5.6ล้านคน

ขณะที่ราคาน้ำมันปีนี้ ปรับมาอยู่ที่ 100ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จาก 68.3ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และปีหน้า 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล 

คงดอกเบี้ยหนุนเศรษฐกิจฟื้น

ทั้งนี้ เศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวทำให้ กนง.มีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย

อย่างไรก็ตาม เหตุที่กนง.ไม่ใช่นโยบายการเงิน มาคุมเงินเฟ้อ เพราะมองว่า การใช้เครื่องมือนโยบายการเงินผ่านดอกเบี้ย จะมีผลกระทบค่านข้างกว้าง ดังนั้นจำเป็นต้องชั่งน้ำหนัก ให้ดีในการขยับดอกเบี้ย

ซึ่งการใช้ดอกเบี้ยเพื่อลดเงินเฟ้อ หากเงินเฟ้อขึ้นแรงแล้วฉุดอุปสงค์ให้ถดถอยรุนแรง การขึ้นดอกเบี้ยอาจเป็นเครื่องมือที่ช่วยลดเงินเฟ้อได้ แต่หากมองไปข้างหน้า เงินเฟ้อไม่ได้ขึ้นร้อนแรงและต่อเนื่อง จึงไม่อยากใช้เครื่องมือที่มีผลกระทบค่อนข้างกว้างในขณะนี้ กับปัจจัยที่มีลักษณะชั่วคราว เพราะดอกเบี้ยมีผลพอสมควร

มั่นใจไม่กระทบเงินไหลออก

ทั้งนี้ ผลของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไทยและดอกเบี้ยของประเทศหลักของโลกที่มีแนวโน้มห่างขึ้นจากการที่ตลาดคาดการณ์ว่า เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยปีนี้ 5-6% สู่ระดับเกิน 2% เหล่านี้จะมีผลทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยไทยและต่างประเทศห่างขึ้น ซึ่งมองไปข้างหน้าคาดว่าส่วนต่างดอกเบี้ยจะไม่สร้างแรงกดดันทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมากนัก เพราะนักลงทุนมักให้ความสำคัญกับการฟื้นตัวเศรษฐกิจ มากกว่าส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย

ด้านภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลาย โดยสภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ระดับสูง แต่การกระจายสภาพคล่องยังแตกต่างกันแต่ละภาคเศรษฐกิจ ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ปรับอ่อนค่าลงจากความกังวลสถานการณ์รัสเซียและยูเครน 

และการคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางประเทศเศรษฐกิจหลัก คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินโลกและไทยอย่างใกล้ชิด

แรงขับเคลื่อนภาครัฐลดลง

ด้านแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากภาครัฐในปีนี้เชื่อว่าจะทยอยลดลง หากเทียบกับ 1-2 ปีที่ผ่านมา ที่มีการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจค่อนข้างมาก ดังนั้นปีนี้จะเห็นการทยอยลดการกระตุ้นเศรษฐกิจลดลง ซึ่งคล้ายกับต่างประเทศ

อีกทั้งหากดูการใช้จ่ายภาครัฐ ในช่วงไตรมาส 4ที่ผ่านมา มีการเร่งการใช้จ่ายมากกว่าที่คาดไว้ ดังนั้นระยะข้างหน้าอาจเห็นการใช้จ่ายการลงทุนภาครัฐเงินโอนลดลงได้ในปีนี้ แต่ภาครัฐยังทำหน้าที่ในการสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย จึงไม่ได้เป็นสิ่งที่กนง.กังวล

ส่วนการออกมาตรการภาครัฐเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนก่อนหน้านี้ กนง.มองว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นมีผลต่อประชาชนโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย ดังนั้น การออกมาตรการช่วยเหลือถือเป็นมาตรการที่ตรงจุดและรองรับแรงกระแทกช่วงนี้ที่ดี

“อาคม”หวังส่งออกปีนี้โต10%

สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) จัดประชุมประจำปีครั้งที่ 27 โดยมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง ”นโยบายทางการเงินการคลังกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี2565” 

นายอาคม กล่าวว่า จีดีพีไทยปี 2565 จะขยายตัว 3.5-4.5% โดยการส่งออกเป็นเครื่องยนต์หลักหลังจากปี 2564 การส่งออกขยายตัว 17% ส่วน 2 เดือนแรกของปี 2565 ขยายตัว 12% ซึ่งหากผลักดันให้ปีนี้สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้จาก 5% เป็น 10% จะช่วยภาพรวมเศรษฐกิจ ซึ่งแม้เป็นเรื่องที่ยากและท้าทายแต่ถ้าช่วยกันแก้ปัญหาโลจิสติกส์และสภาพคล่องผู้ประกอบการได้จะผลักดันส่งออกได้มากขึ้น

"อยากให้ภาคเอกชนและภาครัฐร่วมมือกันเบ่งหรือเพิ่มอัตราการเติบโตอัตราการเติบโต เพื่อทำให้การส่งออกทั้งปีนี้ถึง 10% เพื่อสร้างเซอร์ไพรส์ให้นักวิเคราะห์ที่มองว่าส่งออกไทยปีนี้จะเติบโตแค่ 5%“ นายอาคม กล่าว

นายอาคม กล่าวว่า ขณะที่การท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจไทยอีกตัวหนึ่งก็ยังไม่ฟื้นเต็มที่ซึ่งปีนี้ตั้งเป้าจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ 7 ล้านคน แต่ช่วง 3 เดือนนี้ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพียง 4 แสนคน ดังนั้นถ้าหากตัวเลขอยู่ในระดับนี้ ทั้งปีจะได้ 1.6 ล้านคน ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้

สรท.ห่วงสงครามฉุดส่งออก

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธาน สรท. กล่าวว่า การตั้งเป้าหมายการส่งออก 10% เป็นความท้าทายสำคัญสำหรับผู้ส่งออกไทย เพราะการส่งออกของไทยปีที่แล้วขยายตัว 17.1% มีมูลค่าถึง 271,000 ล้านดอลลาร์ สูงสุดรอบ 30 ปี ขณะที่เป้าหมายของ สรท.ปีนี้อยู่ที่ 5%

ทั้งนี้การส่งออกของไทยในปี 2565 ต้องเผชิญกับความผันผวน ความไม่แน่นอน ที่ซับซ้อนและคลุมเครือตั้งแต่การระบาดใหญ่ของโควิด-19 และสงครามรัสเซียและยูเครนทำให้สถานการณ์แย่ลงในปีนี้ผู้ส่งออกของไทยต้องติดตามปัจจัยที่ได้รับผลกระทบที่ซับซ้อนและเพิ่มขึ้น และจำเป็นต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว เช่น การขาดแคลนวัตถุดิบพื้นฐาน ได้แก่ ปุ๋ย อาหารสัตว์

ส่วนเป้าหมายที่จะเพิ่มการเติบโตของการส่งออกมากกว่า 5% ผู้ส่งออกต้องใช้การตลาดออนไลน์มากขึ้นในการค้าโลกตลอดจนการขยายตลาดผ่านการค้าชายแดนที่ควรค้าขายกับกัมพูชาลาว เมียนมาร์และเวียดนาม