‘เงินบาท’ วันนี้เปิด’อ่อนค่า’ที่33.31บาทต่อดอลลาร์
“กรุงไทย” ชี้เงินบาทผันผวนกรอบกว้างหลังตลาดปิดรับความเสี่ยง หนุนดอลลาร์พลิกแข็งค่าต่อเนื่อง ควรระวังความผันผวนของตลาดค่าเงินช่วงก่อนและหลังรับรู้ รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในคืนนี้ มองกรอบเงินบาทวันนี้ที่ 33.20-33.40บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้(1เม.ย.) ที่ระดับ33.31 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลง จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.25 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ33.20-33.40 บาทต่อดอลลาร์
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังคงผันผวนในกรอบกว้าง โดยแรงกดดันฝั่งอ่อนค่า จะมาจากภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด ที่หนุนให้เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี เรามองว่า เงินบาทยังพอมีแรงหนุนฝั่งแข็งค่าจากทั้งฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่เริ่มไหลกลับเข้าตลาดทุนไทย นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลง หลังทางการสหรัฐฯ เตรียมระบายน้ำมันดิบสำรองวันละ 1 ล้านบาร์เรล เป็นเวลา 180 วัน ก็มีส่วนช่วยให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้บ้าง
นอกจากนี้ ควรระวังความผันผวนของตลาดค่าเงินในช่วงก่อนและหลังรับรู้ รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในคืนนี้ เพราะหากตลาดแรงงานสหรัฐฯ ฟื้นตัวได้แย่กว่าคาดไปมาก อาทิ ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม น้อยกว่า3 แสนราย ก็อาจกดดันให้เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงได้ อย่างไรก็ดี เรามองว่า ข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯอาจสอดคล้องกับประมาณการของตลาด ซึ่งอาจไม่ได้ส่งผลต่อตลาดค่าเงินอย่างมีนัยยะสำคัญได้ เพราะตลาดได้รับรู้แนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ไปมากแล้ว เนื่องจากโดยรวมตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่ง
ทั้งนี้ เรามองว่า แนวรับของเงินบาทจะอยู่ในช่วง 33.00-33.20 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นโซนแนวรับเส้นค่าเฉลี่ย 100 วัน และผู้นำเข้าส่วนใหญ่ต่างก็รอจังหวะเงินบาทแข็งค่าเพื่อทยอยแลกเงินดอลลาร์ในช่วงปลายเดือน ส่วนแนวต้านจะอยู่ในโซน 33.50-33.70 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งคาดว่าอาจมีผู้ส่งออกส่วนใหญ่ต่างรอทยอยขายเงินดอลลาร์ในช่วงดังกล่าว หลังเงินบาทกลับมาแข็งค่าเร็วในช่วง 2 วันที่ผ่านมา
ตลาดการเงินปิดไตรมาสแรกของปีนี้ ด้วยบรรยากาศปิดรับความเสี่ยง ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์สงครามและการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียกับยูเครน ขณะเดียวกัน ผู้เล่นในตลาดต่างคาดว่า เฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยได้ต่อเนื่องในการประชุมเดือนพฤษภาคมและเดือนมิถุนายน หลังอัตราเงินเฟ้อ PCE เดือนกุมภาพันธ์ พุ่งขึ้นแตะระดับ 6.4% สูงสุดในรอบ 40 ปี
ความไม่แน่นอนของสถานการณ์สงครามและแรงกดดันจากแนวโน้มฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย ได้กดดันให้ ในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดัชนี S&P500 ปรับตัวลงกว่า -1.57% ส่วนดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ยังคงปรับตัวลงราว -1.54% ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ปรับตัวลงต่อเนื่องกว่า -1.43% เช่นกัน หลังผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ทำให้ยังคงมีแรงขายหุ้นกลุ่ม Cyclical อาทิ หุ้นกลุ่มธนาคาร ING -2.7%, BNP Paribas -2.2% หุ้นกลุ่มยานยนต์ Daimler -2.4%, BMW -2.1% กดดันตลาดหุ้นยุโรปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเรามองว่าตลาดหุ้นยุโรปยังคงมีความเสี่ยงที่จะผันผวนต่อในระยะสั้น จากความไม่แน่นอนของสงครามและการเจรจาสันติภาพและแนะนำให้นักลงทุนชะลอการลงทุนในตลาดหุ้นยุโรปไปก่อน
ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ ภาวะตลาดปิดรับความเสี่ยงยังคงกดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ แกว่งตัวใกล้ระดับ2.35% ทั้งนี้ หากตลาดเริ่มคลายกังวลปัญหาสงครามและทยอยกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น เราประเมินว่าบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น ตามการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของเฟด โดยเฉพาะการลดงบดุลของเฟด ที่คาดว่าจะเริ่มได้ในเดือนพฤษภาคม
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์(DXY Index) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 98.33 จุดท่ามกลางความกังวลสถานการณ์สงครามและความไม่แน่นอนของการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียกับยูเครน ซึ่งส่งผลให้ สกุลเงินยูโร (EUR) ปรับตัวลงต่อเนื่องสู่ระดับ 1.107 ดอลลาร์ต่อยูโร นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังคงได้แรงหนุนจากแนวโน้มเฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ หลังจากที่เงินเฟ้อ PCE พุ่งขึ้น ทำจุดสูงสุดในรอบ 40 ปี ทั้งนี้ แม้ว่า เงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้น ทว่า ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด ได้หนุนให้ราคาทองคำสามารถทยอยปรับตัวสูงขึ้นจนแตะแนวต้านใกล้ระดับ 1,950 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่จะเผชิญแรงขายทำกำไรและย่อตัวลงสู่ระดับ 1,935 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเราประเมินว่า ราคาทองคำจะยังคงแกว่งตัวในกรอบระหว่างโซนแนวรับ-แนวต้าน โดยยังมีปัจจัยหนุน คือ ความไม่แน่นอนของสงคราม
สำหรับวันนี้ ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ตลาดจะจับตาแนวโน้มการฟื้นตัวของตลาดแรงงานสหรัฐฯ โดยตลาดประเมินว่า ตลาดแรงงานยังสามารถฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง สะท้อนผ่านยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม(Nonfarm Payrolls) เดือนมีนาคม ที่อาจเพิ่มขึ้นเกือบ 5 แสนราย ทำให้อัตราว่างงานลดลงเหลือ 3.7% ขณะเดียวกันความต้องการแรงงานที่อยู่ในระดับสูงจะยังช่วยหนุนให้ค่าจ้างต่อชั่วโมง (Average Hourly Earnings) โตกว่า+5.5%y/y ซึ่งภาพตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งนั้น จะช่วยหนุนให้เฟดสามารถเร่งขึ้นดอกเบี้ยได้ในการประชุมเดือนพฤษภาคม หลังเงินเฟ้อสหรัฐฯ ยังคงมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง
ส่วนในฝั่งยุโรป เรามองว่าสถานการณ์สงครามรวมถึงการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียกับยูเครนยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามและอาจส่งผลให้ตลาดการเงินกลับมาผันผวนได้ ทั้งนี้ ผลกระทบจากสงครามที่เห็นได้ชัด คือราคาสินค้าพลังงานที่ปรับตัวขึ้นหนัก ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป CPI ของยุโรปในเดือนมีนาคมอาจพุ่งขึ้นต่อเนื่องแตะระดับ 6.7% ซึ่งทิศทางเงินเฟ้อยุโรปที่อาจอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะส่งผลให้ECB สามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปลายปี