MONEY AND STOCK MARKET 28 มีนาคม-1 เมษายน 2565
เงินบาทผันผวนในกรอบแข็งค่า ขณะที่หุ้นไทยปรับตัวขึ้นจากสัปดาห์ก่อน
• เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 3 เดือนที่ 33.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ ก่อนจะพลิกแข็งค่าตามแรงซื้อสุทธิหุ้นไทยของต่างชาติ อย่างไรก็ดีกรอบการฟื้นตัวของเงินบาทเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากวิกฤตยูเครนยังไม่แน่นอน
• หุ้นไทยกลับมาปิดเหนือ 1,700 จุด แม้จะเผชิญแรงกดดันจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนช่วงปลายสัปดาห์
สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท
เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 3 เดือนที่ 33.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ ต้นสัปดาห์ ก่อนฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วน โดยเงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงแรกตามสกุลเงินเอเชีย นำโดย เงินเยน (ที่ร่วงลงหลังธนาคารกลางญี่ปุ่นส่งสัญญาณสกัดการพุ่งขึ้นของบอนด์ยีลด์ญี่ปุ่น) และเงินหยวน (ที่อ่อนค่าลงจากความกังวลต่อโควิดในจีน) อย่างไรก็ดีเงินบาทฟื้นตัวกลับมาได้ในระหว่างสัปดาห์รับความหวังต่อการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียและยูเครน ขณะที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ย่อตัวลงก็ช่วยหนุนสกุลเงินเอเชียด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี เงินบาทอ่อนค่ากลับมาอีกครั้งช่วงปลายสัปดาห์ท่ามกลางแรงซื้อคืนเงินดอลลาร์ฯ เพื่อปรับโพสิชันก่อนการรายงานตัวเลขตลาดแรงงานของสหรัฐฯ ประกอบกับนักลงทุนรอจับตาการเจรจาระหว่างรัสเซีย-ยูเครนอย่างใกล้ชิด
ในวันศุกร์ (1 เม.ย.) เงินบาทปิดตลาดที่ 33.45 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 33.57 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (25 มี.ค.) ขณะที่ระหว่างวันที่ 28 มี.ค.-1 เม.ย. นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทยรวม 12,438 ล้านบาท และมีสถานะเป็น NET INFLOW ในตลาดพันธบัตร 5,660 ล้านบาท (ซื้อสุทธิพันธบัตร 9,921 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 4,261 ล้านบาท)
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (4-8 เม.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 33.00-33.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อเดือนมี.ค.ของไทย รายงานการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 15-16 มี.ค.ที่ผ่านมา สถานการณ์ยูเครน-รัสเซีย และทิศทางเงินทุนต่างชาติ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI และ ISM ภาคบริการเดือนมี.ค. ยอดสั่งซื้อภาคโรงงาน ข้อมูลสต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนก.พ. และตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางออสเตรเลีย รวมถึงดัชนี PMI ภาคบริการเดือนมี.ค. ของจีน ยุโรป และอังกฤษ
สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย
หุ้นไทยดีดตัวขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์ โดยมีแรงหนุนจากแรงซื้อของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ ความคาดหวังเชิงบวกต่อการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซีย-ยูเครนรอบวันที่ 29-30 มี.ค. ผลการประชุมกนง. ซึ่งสอดคล้องกับที่ตลาดคาดการณ์ ตลอดจนการคลายล็อกกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมของทางการในช่วงปลายสัปดาห์ อย่างไรก็ดี หุ้นไทยย่อตัวลงสั้นๆ ในระหว่างสัปดาห์ตามทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ หลังการเจรจาระหว่างรัสเซียและยูเครนยังไม่คืบ ส่งผลให้สถานการณ์ความขัดแย้งดังกล่าวยืดเยื้อต่อไป
ในวันศุกร์ (1 เม.ย.) ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,701.31 จุด เพิ่มขึ้น 1.46% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 74,425.00 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.99% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 6.87% มาปิดที่ 672.17 จุด
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (4-8 เม.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,690 และ 1,670 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,720 และ 1,735 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนมี.ค. ของไทย สถานการณ์โควิด-19 ทิศทางเงินทุนต่างชาติ รวมถึงสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขนำเข้าและส่งออก ยอดสั่งซื้อสินค้าจากโรงงานเดือนก.พ. บันทึกการประชุมเฟด รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิตและยอดค้าปลีกเดือนก.พ. ของยูโรโซน