อย่ากลัว เศรษฐกิจถดถอย (Recession) เกินไป
กรุงไทย ชี้โอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะไม่สูงมาก จากเศรษฐกิจสหรัญยังฟื้นตัวดี แต่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ท่ามกลางแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง อาจเกิดขึ้นได้ในหลายประเทศ รวมถึงไทย หากเศรษฐกิจชะลอต่อเนื่อง จนซบเซาหนักก็อาจเข้านิยาม Stagflation ได้
โดยส่วนใหญ่แล้วภาวะเศรษฐกิจถดถอยของทั้งโลก มักจะมีสาเหตุมาจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ ดังนั้น เพื่อประเมินความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยของโลก จึงอาจเริ่มประเมินจากโอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในฝั่งสหรัฐฯ ก่อนได้
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ในช่วงนี้ผู้คนอาจจะกังวลกับโอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือ recession ในสหรัฐฯ ที่สะท้อนผ่าน ส่วนต่างระหว่างบอนด์ยีลด์ระยะสั้น กับบอนด์ยีลด์ระยะยาวสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลง จนติดลบ หรือเกิดภาวะ Inverted Yields Curve (IYC) ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา IYC ก็เป็นสัญญาณที่ดี ที่จะสะท้อนถึงโอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ในอนาคต
ตาราง: ส่วนต่าง (Yield Spread) ระหว่างบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ (bps) ที่มา Bloomberg and Krungthai Global Markets
ทว่า ในปัจจุบัน นับตั้งแต่มีการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอย่างมากตั้งแต่ช่วงหลังวิกฤติการเงินปี 2008 เป็นต้นมา โดยเฉพาะการอัดฉีดสภาพคล่องผ่านการซื้อสินทรัพย์หรือการทำคิวอี เพื่อกดดันให้บอนด์ยีลด์ระยะยาวอยู่ในระดับต่ำ ทำให้มีโครงสร้างของตลาดบอนด์มีการเปลี่ยนแปลงไปจากในอดีต ดังนั้น บอนด์ยีลด์ระยะยาวที่ระดับปัจจุบัน จึงอาจจะอยู่ในระดับที่ต่ำเกินไป
นอกจากนี้ ล่าสุดตลาดการเงินยังเผชิญความไม่แน่นอนจากภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครนก็ยิ่งทำให้ ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย เพื่อหลบความผันผวน กดดันให้บอนด์ยีลด์ระยะยาวปรับตัวขึ้นได้ยาก ในขณะที่ บอนด์ยีลด์ระยะสั้นกลับปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง เพื่อสะท้อนแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด จึงไม่แปลกที่จะเกิดภาวะ IYC ขึ้น
ทั้งนี้ ทางประธานเฟดได้กล่าวถึง IYC ที่เกิดขึ้นล่าสุดว่า เป็นสิ่งที่เฟดจับตาอยู่ แต่เฟดยังไม่ได้กังวลกับการเกิด IYC ไม่ว่าจะเป็นส่วนต่างบอนด์ยีลด์ 2ปี กับ 10ปี ที่ตลาดมักใช้ดู หรือ ส่วนต่างบอนด์ยีลด์ 5 ปี กับ 30 ปี
เพราะเฟดมองว่า ข้อมูลที่สะท้อนถึงความเสี่ยงการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ดีกว่า ส่วนต่างบอนด์ยีลด์ที่ตลาดใช้กันทั่วไป คือ ส่วนต่างระหว่างคาดการณ์ล่วงหน้า 18 เดือน ของบอนด์ยีลด์ 3 เดือน กับ บอนด์ยีลด์ 3 เดือนในปัจจุบัน หรือที่เฟดเรียกว่า Near-term forward spread
โดยจากงานวิจัยของเฟดในปี 2018 ได้ระบุว่า Near-term forward spread เป็นสัญญาณถึงแนวโน้มการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ดีกว่า IYC ทั่วไป เนื่องจากบอนด์ยีลด์ 3 เดือน มักจะเคลื่อนไหวสอดคล้องกับ อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด
ดังนั้น หากคาดการณ์ล่วงหน้าของบอนด์ยีลด์ 3 เดือน ปรับตัวลดลง ก็จะเป็นสัญญาณที่สะท้อนว่า อาจมีความเสี่ยงบางอย่างเกิดขึ้น จนเฟดจำเป็นต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง
ซึ่งหากพิจารณา Near-term forward spread ณ ปัจจุบัน ที่ระดับเกือบ 3.00% ก็ยิ่งสะท้อนว่า เฟดยังไม่มีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง และยังไม่ได้สะท้อนถึงความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งจะเห็นว่ามีความแตกต่างกับ ส่วนต่างบอนด์ยีลด์ที่ตลาดใช้ดูทั่วไป ที่หลายคู่เริ่มเจอภาวะ IYC ไปบ้างแล้ว
และนอกเหนือจากมุมมองโอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากตลาดบอนด์แล้ว หากประเมินจากสถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ ตอนนี้ก็ถือว่า โอกาสเกิด Recession นั้นยังมีโอกาสไม่มาก เพราะเศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง สะท้อนผ่านอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 3.7% ขณะที่การเติบโตของค่าจ้างก็สูงกว่า +5% สะท้อนถึงภาวะตลาดแรงงานที่ดึงตัว ซึ่งภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ เฟดกล้าที่จะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย เพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ
นอกเหนือจากการมองภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ หากพิจารณาภาพรวมเศรษฐกิจโลก จะเห็นว่าเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในช่วงทยอยฟื้นตัวจากผลกระทบของการระบาดโอมิครอน ขณะที่ผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนล่าสุด ก็ส่งผลกระทบให้การฟื้นตัวอาจสะดุดลงบ้าง แต่ยังไม่ถึงกับกดดันให้เศรษฐกิจถดถอย อีกทั้งล่าสุด รัฐบาลในหลายประเทศก็มีการเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมเพื่อลดผลกระทบจากสงครามที่ส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อสูงทั่วโลก
อย่างไรก็ดี แม้โอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะไม่สูงมาก แต่สิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย คือ ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ท่ามกลางแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งหากเศรษฐกิจชะลอต่อเนื่อง จนซบเซาหนักก็อาจเข้านิยาม Stagflation ได้
โดยภาวะ Stagflation ถือว่า เป็นฝันร้ายของบรรดาธนาคารกลาง เพราะในภาวะดังกล่าว เครื่องมือสำคัญ อย่าง อัตราดอกเบี้ยนโยบายก็ไม่สามารถที่จะช่วยกู้สถานการณ์ได้อย่างเต็มที่ เพราะหากธนาคารกลางต้องการแก้ปัญหาเงินเฟ้อ โดยปกติก็สามารถขึ้นดอกเบี้ยได้ แต่ในภาวะที่เศรษฐกิจซบเซา การขึ้นดอกเบี้ยก็อาจยิ่งฉุดให้เศรษฐกิจแย่ลงไปมากกว่าเดิม จึงน่าจับตามองว่า หากเศรษฐกิจโลก หรือ เศรษฐกิจไทยเผชิญความเสี่ยง Stagflation มากขึ้น บรรดาธนาคารกลางจะมีแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินอย่างไร เพื่อรับมือความเสี่ยงดังกล่าว
ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดก็ไม่ควรกังวลกับโอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือ Stagflation จนเกินไป เพราะหากเกิดภาวะดังกล่าวขึ้น ในมุมการลงทุน สินทรัพย์บางประเภทก็สามารถปรับตัวสวนทางภาพเศรษฐกิจที่ชะลอลงได้ โดยในฝั่งหุ้น นักลงทุนอาจเลือกหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอำนาจในการต่อรองราคา หรือ pricing power ที่สูง อาทิ อุตสาหกรรม Healthcare หรือ Consumer Staples รวมถึง Real Estate ซึ่งในส่วนของ Real Estate สินทรัพย์ที่น่าสนใจ คือ REITs เพราะภาคอสังหาฯ เพิ่งเริ่มฟื้นตัวจากผลกระทบของ COVID-19 ทำให้ในเชิงราคาหรือ Valuation ของอสังหาฯ ในหลายพื้นที่ อาทิ REITs ในไทยก็ยังมีความน่าสนใจอยู่มาก