เช็กเงื่อนไข คู่สมรสทำธุรกิจร่วมกัน ยื่นภาษีอย่างไร

เช็กเงื่อนไข คู่สมรสทำธุรกิจร่วมกัน ยื่นภาษีอย่างไร

เมื่อ "คู่สมรส" ทำธุรกิจร่วมกัน นั่นหมายถึงต้องยื่น "ภาษีคู่สมรส" ใช่หรือไม่ หรือในทางภาษีจะต้องมีสถานะอื่น เช่น หุ้นส่วนธุรกิจกันแน่ รวมถึงคำถามสำคัญ คือ แล้วต้องเสียภาษีอย่างไร ? หาคำตอบได้ที่นี่

ธุรกิจขนาดย่อมที่นิยมทำกันภายในครอบครัว อย่างเช่นธุรกิจซื้อมาขายไป ขายของออนไลน์ ซึ่งส่วนใหญ่จะทำเพียง 1-2 คน คือภรรยากับสามี นั่นหมายความว่าจะต้องยื่นภาษีคู่สมรส ใช่หรือไม่ และต้องเสียภาษีอย่างไร

ทั้งนี้ การยื่นภาษีคู่สมรสสำหรับผู้ที่ผ่านการจดทะเบียนสมรส เมื่อทำธุรกิจร่วมกันจะมีเรื่องภาษีเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย 3 แบบ คือ

1. ภาษีมูลค่าเพิ่ม

2. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

3. ภาษีเงินได้นิติบุคคล

โดยภาษีทั้ง 3 แบบนี้ สามีและภรรยาผู้ทำธุรกิจร่วมกัน อาจเข้าเงื่อนไขเสียภาษีแค่แบบใดแบบหนึ่ง หรือสองแบบ หรือต้องเสียภาษีทั้งสามแบบ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละแบบดังต่อไปนี้

ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)

ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) คือภาษีที่เก็บจากมูลค่าการซื้อขายและการให้บริการภายในประเทศ รวมถึงสินค้านำเข้า โดยปัจจุบันภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ที่ 7% ซึ่งกฎหมายมีการบังคับให้ผู้มีรายได้จากการประกอบธุรกิจเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่เกิน 30 วัน นับจากวันที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท

และนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มทุกๆ เดือน นับตั้งแต่วันที่ยื่นจดทะเบียนภาษีมูลคาเพิ่มเป็นต้นไป แต่ถ้าหากมีรายได้ตลอดทั้งปีเท่ากับ 1.8 ล้านบาทพอดี ยังไม่ต้องจดภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะถือว่ายังไม่เข้าเกณฑ์

สำหรับกรณีที่สามี-ภรรยาได้มีการจดทะเบียนสมรสและทำธุรกิจร่วมกัน เมื่อมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ก็ถึงเวลาที่จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มร่วมกัน พร้อมกับเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในนามคู่สมรส โดยต้องนำรายได้รวมทั้งหมดจากการทำธุรกิจ มายื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยไม่สามารถแบ่งรายได้แยกออกจากกันได้ เนื่องจากภาษีมูลค่าเพิ่มถือเป็นหน่วยภาษีเดียวกันในนามของสามีและภรรยา หรือถ้าหากมีรายได้ไม่ถึง 1.8 ล้านบาท แต่มีความต้องการจดภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็สามารถแจ้งต่อกรมสรรพากรขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เป็นการเสียภาษีสำหรับบุคคลธรรมดาที่ไม่ได้จดทะเบียนนิติบุคคล โดยคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจาก

(รายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี (สูงสุด 35%)
= ภาษีที่ต้องจ่าย

ทั้งนี้ หากคู่สมรสมีการทำธุรกิจร่วมกันแต่ไม่มีการจดทะเบียนนิติบุคคล การเสียภาษีบุคคลธรรมดาจะต่างจากกรณีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากตามมาตรา 57 ฉ แห่งประมวลรัษฎากร ที่ให้สิทธิสามีและภรรยาสามารถแยกยื่นแบบแสดงรายการภาษีได้

โดยสามี-ภรรยาสามารถเลือกนำรายได้จากการทำธุรกิจที่ได้รับระหว่างปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว นำมายื่นแบบแสดงรายการได้ดังนี้

1.เลือกยื่นแบบฯ ร่วมกัน สามีและภรรยาต้องนำรายได้ยื่นแบบฯ รวมกันและเสียภาษีในนามของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

1.1 รวมยื่นแบบฯ ในนามสามี กล่าวคือ ให้นำรายได้จากการประกอบธุรกิจร่วมกัน และรายได้อื่นๆ ของภรรยาทั้งหมดไปรวมกับรายได้ของสามี แล้วให้สามีเป็นผู้ยื่นแบบฯ

1.2 รวมยื่นแบบฯ ในนามภรรยา กล่าวคือ ให้น้ำรายได้จากการประกอบธุรกิจร่วมกัน และรายได้อื่นๆ ของสามีทั้งหมดไปรวมกับรายได้ของภรรยา แล้วให้ภรรยาเป็นผู้ยื่นแบบฯ

วิธีการเลือกยื่นแบบฯ ร่วมกันนี้ จะเหมาะกับคู่สมรสที่มีรายได้ต่างกันมาก ซึ่งฝ่ายที่มีรายได้ต่ำกว่าจะไม่สามารถใช้สิทธลดหย่อนได้เต็มสิทธิ แต่เมื่อรวมรายได้กันแล้วก็จะได้รวมสิทธิค่าลดหย่อนทางภาษี ทำให้อีกฝ่ายที่มีภาระทางภาษีสูงกว่าได้ใช้ประโยชน์ได้เต็มสิทธิ์

2.เลือกยื่นแบบฯ แยกต่างหากออกจากกัน สามีและภรรยาสามารถนำรายได้ที่ได้รับจากการประกอบธุรกิจร่วมกัน นำรายได้มาแยกยื่นแบบฯ ได้ และสามารถใช้สิทธิหักค่าลดหย่อน และค่าใช้จ่ายแยกกันตามที่กฎหมายกำหนดได้ (ดูรายละเอียดค่าลดหย่อนคู่สมรส คลิกที่นี่)

โดยพิจารณาแยกรายได้จากธุรกิจที่ทำร่วมกัน ได้จาก...

2.1 หากแยกรายได้ได้อย่างชัดเจนว่าส่วนไหนเป็นของสามี และส่วนไหนเป็นของภรรยา แต่ละฝ่ายจำนวนเท่าไร แบบนี้สามารถยื่นแบบฯ และเสียภาษีแยกจากกันในนามของตัวเองได้

2.2 หากไม่สามารถแยกรายได้ได้อย่างชัดเจน ว่าส่วนไหนเป็นของสามีและส่วนไหนเป็นของภรรยา แต่ละฝ่ายจำนวนเท่าไร ก็ให้แบ่งรายได้เป็นของสามีและภรรยาฝ่ายละครึ่ง

2.3 หากรายได้จากการทำธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม เป็นต้น สามีและภรรยาสามารถแบ่งรายได้เป็นของแต่ละฝ่ายตามสัดส่วนที่ตกลงกันได้ แต่รวมกันต้องไม่น้อยกว่ารายได้ที่ได้รับ และถ้าหากตกลงกันไม่ได้ ให้แบ่งรายได้เป็นของสามีและภรรยาฝ่ายละครึ่ง

วิธีการยื่นแบบฯ แยกต่างหากออกจากกันนี้ จะเหมาะกับคู่สมรสที่มีรายได้พอกัน เสียภาษีในอัตราฐานภาษีใกล้เคียงกัน และมีค่าลดหย่อนใกล้เคียงกัน การแยกยื่นจะช่วยกระจายหน่วยภาษี ทำให้ต่างสามี-ภรรยาเสียภาษีในอัตราที่เหมาะสม

3.เลือกยื่นแบบฯ แยกเฉพาะเงินเดือนของตัวเอง ในกรณีที่สามี-ภรรยามีเงินเดือนจากการทำงานประจำ และมีรายได้จากการทำธุรกิจร่วมกัน อาจแยกยื่นแบบฯ เฉพาะเงินเดือนของตัวเอง ส่วนรายได้อื่นๆ นำไปให้อีกฝ่ายยื่นแบบฯ และเสียภาษีรวมได้ ดังนี้

3.1 สามีแยกเฉพาะเงินเดือนออกมาเพื่อยื่นแบบฯ ด้วยตัวเอง ส่วนรายได้จากการทำธุรกิจร่วมกัน และรายได้อื่นๆ เช่น ดอกเบี้ย เงินปันผล ค่าเช่าบ่น เป็นเต้น นำไปรวมกับรายได้ของภรรยา แล้วยื่นภาษีรวมกันในนามภรรยา

3.2 ภรรยาแยกเฉพาะเงินเดือนออกมาเพื่อยื่นแบบฯ ด้วยตัวเอง ส่วนรายได้จากการทำธุรกิจร่วมกัน และรายได้อื่นๆ นำไปรวมกับรายได้ของสามี แล้วยื่นภาษีรวมกันในนามสามี

วิธีการยื่นแบบฯ แยกเฉพาะเงินเดือนของตัวเอง จะเหมาะกับคู่สมรสที่มีรายได้จากการทำธุรกิจร่วมกัน รายได้อื่นๆ และมีรายได้จากงานประจำด้วย โดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่มีเงินเดือนมาก แต่ใช้หักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนในส่วนของเงินเดือนเต็มสิทธิทางกฎหมายแล้ว ทำให้รายได้จากการทำธุรกิจ และรายได้อื่นๆ ที่เพิ่มเข้ามาไม่สามารถหักค่าใช่จ่ายได้เพิ่มได้ ส่งผลให้เสียภาษีมากขึ้น

ดังนั้น การแยกยื่นแบบฯ เฉพาะเงินเดือน และนำรายได้อื่นๆ ไปรวมกับอีกฝ่ายที่มีรายได้น้อยกว่า และยังใช้สิทธิลดหย่อน รวมถึงค่าใช้จ่ายยังไม่เต็มสิทธิ ก็จะช่วยประหยัดภาษีได้มากขึ้น

ภาษีเงินได้นิติบุคคล

ภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นการเสียภาษีสำหรับกิจการที่ได้จดทะเบียนนิติบุคคล โดยใช้หลักเกณฑ์การคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก (รายได้ – ค่าใช้จ่าย) = กำไรสุทธิ แล้วนำกำไรสุทธิที่ได้มาคิดภาษีตามอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล (สูงสุด 20%)

ในที่นี้หากคู่สมรสที่ทำธุรกิจร่วมกันและต้องการจดทะเบียนนิติบุคคล ซึ่งไม่มีกฎหมายห้ามให้สามีและภรรยาที่จดทะเบียนสมรสห้ามจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทนิติบุคคล ดังนั้น คู่สามี-ภรรยาสามารถจดทะเบียนนิติบุคคล และเป็นหุ้นส่วนในกิจการได้ โดยสามี-ภรรยาถือเป็นแต่ละบุคคล

การเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับคู่สมรสจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ

1.รายได้จากธุรกิจที่ทำร่วมกันในนามนิติบุคคล จะนำกำไรสุทธิมาคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล แล้วยื่นภาษีในนามบริษัท

2.สามีและภรรยาจะยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เฉพาะรายได้อื่นๆ เช่น เงินเดือน เงินค่าปันผล ดอกเบี้ย เป็นต้น ซึ่งสามารถเลือกยื่นแบบฯ ร่วมกัน หรือยื่นแบบฯ แยกต่างหากได้ตามเงื่อนไขในข้อ “ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา”

สรุป

การยื่นภาษีสำหรับคู่สมรสที่ทำธุรกิจร่วมกัน มีรายละเอียดค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะในเรื่องของภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ต้องยื่นภาษีร่วมกันในนามของสามีและภรรยา รวมถึงภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งทั้งสามีและภรรยาควรทำความเข้าใจก่อนคิดเริ่มต้นทำธุรกิจร่วมกัน ถือเป็นการวางแผนภาษีที่จะช่วยลดภาระทางภาษีให้กับคู่ของคุณได้อย่างมาก

-----------------------------------
Source : Inflow Accounting
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่