TGH ชี้ สั่งปิด อาคเนย์ประกันภัย -ไทยประกันฯ ธุรกิจการเงินในเครือไร้ผลกระทบ

TGH ชี้  สั่งปิด อาคเนย์ประกันภัย -ไทยประกันฯ ธุรกิจการเงินในเครือไร้ผลกระทบ

"เครือไทย โฮลดิ้งส์" แจงหลังถูกรมว.คลังสั่งปิด "อาคเนย์ประกันภัย-ไทยประกันภัย" ตั้งแต่ 1 เม.ย. 2565 ยันไม่กระทบกลุ่มธุรกิจการเงินอื่นในเครือ ทั้ง อาคเนย์ประกันชีวิต -อาคเนย์แคปิตอล -อาคเนย์มันนี่ ยังดำเนินงานตามปกติ

นายโชติพัฒน์ พีชานนท์  รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  บริษัท เครือไทย โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)  หรือ TGH  แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า   ตามที่ บริษัท ได้เปิดเผยสารสนเทศเกี่ยวกับการเลิกประกอบธุรกิจ ประกันวินาศภัยของบริษัทย่อย กล่าวคือ บริษัท อาคเนย์ ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นกรณีที่ อาคเนย์ประกันภัยใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535(รวมที่แก้ไขเพิ่มเติม) เพื่อขอเลิกประกอบธุรกิจ ประกันวินาศภัยโดยสมัครใจและส่งคืนใบอนุญาตประกอบธุรกิจต่อนายทะเบียน

โดยอาคเนย์ประกันภัย ได้ยื่นคำขอเลิก ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยต่อคณะกรรมการ คปภ. เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2565 และที่ผ่านมาอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อ จัดการทรัพย์สิน หนี้สินและภาระตามกรมธรรม์ประกันภัยที่มีอยู่ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาที่ คณะกรรมการ คปภ. กำหนด รายละเอียดปรากฎตามสารสนเทศฉบับที่อ้างถึง 1 - 3ข้างต้น

โดย อาคเนย์ประกันภัย ได้ดำเนินการจัดการทรัพย์สิน หนี้สิน และภาระตามกรมธรรม์ที่มีผลบังคับอยู่ โดยบริษัทได้ นำเสนอการคืนเบี้ยเต็มจำนวนให้กับผู้ถือกรมธรรม์ Covid-19 ประเภทเจอ จ่าย จบ และมีผู้แสดงความจำนงค์มากกว่า 300,000 ราย

ต่อมาได้ดำเนินการโอนย้ายผู้เอากรมธรรม์ประเภทอื่นๆ จำนวนกว่า 8.6 ล้านราย ให้กับบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการ ตามความเห็นชอบของ สำนักงาน คปภ. เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองต่อเนื่อง พร้อมได้ดำเนินในการชำระค่าใช้จ่ายให้กับคู่ค้าของบริษัทพร้อมทั้งประสานการทำสัญญากับบริษัทผู้รับโอนกรมธรรม์ดังกล่าวจนแล้วเสร็จ

และดำเนินการจัดการในส่วนของ พนักงาน ตามกรอบที่กฎหมายกำหนด ทั้งได้มีการจัดหางานเพื่อให้พนักงานกลุ่มที่ได้รับผลกระทบสามารถได้รับการจ้างงานที่ใหม่ทั้งบริษัทในเครือและบริษัทพันธมิตร

รวมถึงได้มีความพยายามในการจัดการสินทรัพย์ หนี้สิน อื่นๆ ตามกรอบ วิธีการ และ เงื่อนไขที่ได้รายงานให้กับสำนักงาน คปภ. ทราบเป็นระยะ เพื่อให้ อาคเนย์ประกันภัย สามารถดำเนินการได้ตามที่ยื่นคำขอเลิก ประกอบธุรกิจวินาศภัยไว้

อย่างไรก็ดีในระหว่างที่อาคเนย์ประกันภัย พยายามที่จะดำเนินการตามเงื่อนไขการขอเลิกประกอบ ธุรกิจโดยสมัครใจ ได้มีผู้ยื่นขอเคลมสินไหม Covid-19 ประเภทเจอ จ่าย จบ เพิ่มสูงขึ้นจากการระบาดที่รุนแรงขึ้นของสายพันธุ์โอ มิครอน ส่งผลต่อสภาพคล่องของอาคเนย์ประกันภัย

ทำให้สำนักงาน คปภ. ออกคำสั่งที่ 3/2565 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2565 ให้ อาคเนย์ประกันภัยหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว และควบคุมการจ่ายเงินต่าง ๆ ให้เป็นไปตามที่ได้รับความเห็นชอบ

จากนายทะเบียน และเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2565 สำนักงาน คปภ โดยนายทะเบียน ด้วยความเห็นชอบของ คปภ. ได้เสนอท่าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของ อาคเนย์ประกันภัย

ต่อมาทางอาคเนย์ประกันภัยได้รับแจ้งคำสั่งกระทรวงการคลัง ให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย ของอาคเนย์ประกันภัย โดยมีผลทันทีตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 เป็นต้นไป โดยเป็นเหตุเพิกถอนใบอนุญาตตามความใน มาตรา 59(1) (2) (4) และ(5) แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535(รวมที่แก้ไขเพิ่มเติม) 

และในการนี้ คณะกรรมการ คปภ. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้กองทุนประกันวินาศภัยเป็นผู้ชำระบัญชี ของอาคเนย์ประกันภัย มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 เป็นต้นไป ตามคำสั่งกระทรวงการคลังเรื่องเพิกถอนใบอนุญาตฯ และ คำสั่งคณะกรรมการ คปภ. แต่งตั้งผู้ชำระบัญชี ส่งผลให้ กลุ่มบริษัทฯ ยุติการประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย ภายใต้ชื่อ อาคเนย์ประกันภัย นับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 เป็นต้นไป

อย่างไรก็ดี ทางบริษัทฯ ได้มีการบันทึกผลการขาดทุนจากการลงทุนในอาคเนย์ประกันภัยเต็มจำนวนในงบการเงินของบริษัทฯ สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2564 แล้วและการเพิกถอนใบอนุญาตดังกล่าวจะไม่กระทบต่อธุรกิจหลักอื่นๆ ภายใต้กลุ่มบริษัทฯ ซึ่ง ยังคงดำเนินงานตามปกติ กล่าวคือ ธุรกิจประกันชีวิตซึ่งดำเนินงานภายใต้ชื่อ อาคเนย์ประกันชีวิต ธุรกิจรถเช่าองค์กร บริการ ทางการเงิน และสินเชื่อ ซึ่งดำเนินงานภายใต้ชื่ออาคเนย์แคปิตอล และอาคเนย์มันนี่