ก.อุตฯ ปั้น SME ด้วย BCG Model พัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น นำร่อง 16 จังหวัดภาคกลาง
กระทรวงอุตสาหกรรม หนุนอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ นำ BCG Model เข้าไปพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่น นำร่อง 16 จังหวัดภาคกลาง ปั้นผู้ประกอบการ 37 ราย เพิ่มมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจโดยรวมกว่า 52 ล้านบาท
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งสร้างเศรษฐกิจ BCG Model หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy), เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ให้เป็นรากฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจไทยเพื่อให้เติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน
กระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้การนำของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้นำนโยบายการพัฒนา BCG Model ของรัฐบาลมาใช้ในภาคอุตสาหกรรม โดยสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในการดำเนินโครงการนำร่องใน16 จังหวัด เขตพื้นที่ภาคกลาง ภายใต้โครงการกิจกรรมให้คำปรึกษาเชิงลึกด้านการส่งเสริมและพัฒนาตามแนวทาง BCG Model ระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ.2564 จนถึงเดือนมีนาคม พ.ศ.2565
ซึ่งมีสถานประกอบการสมัครเข้าร่วมโครงการฯ มากถึง 82 กิจการ และได้ดำเนินการคัดเลือกสถานประกอบการ ที่มีศักยภาพซึ่งผ่านเกณฑ์การคัดเลือก จำนวน 37 แห่ง ซึ่งเป็นสถานประกอบการจากหลายกลุ่มผลิตภัณฑ์ อาทิ ประเภทพลาสติก ปุ๋ยอินทรีย์และอินทรีย์เคมี ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ผ้าทอพื้นเมืองและเสื้อผ้าสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหาร และผู้ประกอบการโรงแรมและรีสอร์ท
โดยมีการให้คำปรึกษาเชิงลึกในการนำองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วย ในการพัฒนาปรับปรุงกระบวนการผลิต และต่อยอดการผลิตสินค้าและบริการ ซึ่งสามารถเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ยกตัวอย่าง ด้าน Bio economy การคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่มมูลค่าจากวัสดุชีวภาพ ด้าน Circular economy การนำของเสียกลับมาใช้ในกระบวนการผลิตใหม่ ด้าน Green economy การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การลดมลพิษ โดยผลการดำเนินโครงการสามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวมกว่า 12.32 เท่า ของมูลค่าโครงการ หรือประมาณ 52 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในเขตพื้นที่นำร่อง 16 จังหวัด มีความเหมาะสมในการประยุกต์ใช้ BCG Model เนื่องจากมีจุดเด่นทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีภาคการผลิตแปรรูปที่เข้มแข็ง และศักยภาพเชิงพื้นที่ที่เหมาะสม ทั้งการเป็นฐานการผลิตในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และด้านโลจิสติกส์ ที่เชื่อมโยงไปยังภูมิภาคต่างๆ ได้อย่างสะดวก
ขณะเดียวกัน ยังเล็งเห็นโอกาสในการผลักดันและสนับสนุนสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ ในการขอรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว (GI) เพื่อการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรที่ดี และสอดคล้องตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ความตกลงปารีส) ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย