สรุปรวมมาตรการ "บีโอไอ" เสริมแกร่งสตาร์ทอัพ
วิสาหกิจเริ่มต้น หรือ "สตาร์ทอัพ" เป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยยะสำคัญด้วยนวัตกรรม และมีบทบาทในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนอย่างครบวงจรและถูกจุด
นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กล่าวว่า การจัดงานมหกรรม “BCG Startup Investment Day” ที่จัดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2565 โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA และหน่วยงานพันธมิตรร่วม 20 หน่วยงาน ทั้งภาครัฐ เอกชน และนักลงทุน บริษัทร่วมลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ เป็นจุดเริ่มต้นการส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพ ซึ่งจะเป็นเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ให้กับประเทศ
เปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพที่มีศักยภาพได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน และมาตรการสนับสนุนอย่างครบวงจร รวมไปถึงการสร้างเครือข่ายพันธมิตรเพื่อต่อยอดโอกาสทางธุรกิจในอนาคต โดยความสำเร็จของสตาร์ทอัพที่เกิดขึ้นจากการจัดงานในครั้งนี้ จะช่วยจุดประกายความสำเร็จให้คนรุ่นใหม่ได้เข้ามาร่วมกันพัฒนาประเทศในระยะต่อไป
ทั้งนี้ บีโอไอพร้อมให้การส่งเสริมสตาร์ทอัพ ผ่าน พ.ร.บ. ที่บีโอไอรับผิดชอบอยู่ 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุน และ พ.ร.บ.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย พ.ศ. 2560 โดยตั้งเป้าหมายจะใช้เงินกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัพ จำนวน 30 รายในปี 2565 นี้
สำหรับหลักเกณฑ์การให้เงินสนับสนุนสตาร์ทอัพของบีโอไอ ได้แก่ สตาร์ทอัพต้องเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นมาไม่เกิน 5 ปี ซึ่งต้องได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากหน่วยงานอื่นมาแล้ว เพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพ โดยดำเนินกิจการในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่กำหนด และต้องเสนอแผนงาน โดยเฉพาะด้านบุคลากร ซึ่งบีโอไอจะสนับสนุนเงินเป็นค่าจ้างบุคลากรด้านเทคโนโลยีและการบริหาร ในสัดส่วนไม่เกิน 50%
นอกจากนี้ บีโอไอยังมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสตาร์ทอัพและระบบนิเวศที่เกี่ยวข้อง อาทิ กิจการพัฒนาซอฟต์แวร์ แพลตฟอร์มเพื่อให้บริการดิจิทัล หรือ ดิจิทัลคอนเทนต์ ซึ่งกิจการเหล่านี้ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุดถึง 8 ปี
รวมทั้งมีมาตรการส่งเสริมการดึงผู้เชี่ยวชาญจากต่างชาติ ซึ่งรวมถึงกลุ่มสตาร์ทอัพเข้ามาทำงานในประเทศไทย ผ่าน 3 รูปแบบ ได้แก่
1. การอำนวยความสะดวกด้านวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน สำหรับผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญต่างชาติที่เข้ามาทำงานในกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน
2. มาตรการ Smart Visa เพื่อดึงดูดกลุ่มบุคลากรทักษะสูง รวมทั้งอาจารย์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นักลงทุนและกลุ่มสตาร์ทอัพ
3. มาตรการวีซ่าพำนักระยะยาว (Long-term Resident Visa: LTR) ซึ่งจะเสริมกับมาตรการที่บีโอไอทำอยู่ในปัจจุบัน โดยขยายกลุ่มเป้าหมายให้กว้างขึ้น เช่น กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง (Wealthy Global Citizen) กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศและมีเงินบำนาญสูง (Wealthy Pensioner) และกลุ่มพนักงานบริษัทชั้นนำที่อยากมานั่งทำงานที่ประเทศไทย (Work-from-Thailand Professional)