กองทุนประกันวินาศภัยเล็งกู้หมื่นล้านจ่ายเคลมโควิด

กองทุนประกันวินาศภัยเล็งกู้หมื่นล้านจ่ายเคลมโควิด

กองทุนประกันวินาศภัยเดินสายขอกู้เงินนับหมื่นล้าน เพื่อนำมาจ่ายค่าเคลมประกันโควิด หลังคปภ.ทยอยเพิกถอนใบอนุญาตบริษัทประกันและนำเงินกองทุนไปจ่ายค่าเคลมประกัน ทำให้เงินกองทุนทยอยหมดลง โดยอยู่ระหว่างการเจรจาขอกู้จากธนาคารออมสินและกองทุนผู้ประภัยรถยนต์​

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ขณะนี้ กองทุนประกันวินาศภัยมีแผนที่กู้เงิน เพื่อนำมาจ่ายให้กับประชาชนที่ขอเคลมประกันภัยโควิด หลังจากที่ประเมินกันว่า เงินกองทุนดังกล่าวน่าจะหมดลงแล้ว โดยอยู่ระหว่างการเจรจาขอกู้กับธนาคารออมสิน และ กองทุนผู้ประสบภัยรถยนต์

“ปัจจุบันเงินกองทุนประกันวินาศภัย น่าจะหมดลงแล้ว หลังจากที่บริษัทประกันภัย 2 บริษัท คือ บริษัทเอเซียประกันภัย และบริษัทสินทรัพย์ประกันภัย (เดอะวัน) ได้ถูกคปภ.เพิกถอนใบอนุญาต ทำให้ คปภ.ต้องนำเงินจากกองทุนประกันวินาศภัยไปจ่ายให้กับประชาชน ที่ยื่นเคลมประกันภัยโควิดจากทั้งสองบริษัทดังกล่าว”

 

สำหรับวงเงินกู้จะเป็นเท่าไหร่นั้น ยังไม่ชัดเจน แต่คาดว่า น่าจะเป็นหลักหมื่นล้านบาท เนื่องจาก ยังมีคนที่ยื่นเคลมประกันภัยโควิด โดยเฉพาะประเภท เจอ จ่าย จบ อีกเป็นจำนวนมากจากบริษัทอาคเนย์ประกันภัย และไทยประกันภัย ซึ่งเป็นบริษัทประกันภัยสองบริษัทล่าสุดที่ คปภ.เพิกถอนใบอนุญาต ทั้งนี้ทั้งสองบริษัท เป็นบริษัทในเครือของไทยกรุ๊ป โฮลดิ้งส์

อย่างไรก็ตาม ปัญหาของการที่กองทุนประกันวินาศภัย จะขอกู้จากสถาบันการเงิน ก็คือ ประเด็นความสามารถในการชำระหนี้คืนในอนาคต เนื่องจากรายได้ของกองทุน มาจากเงินที่บริษัทประกันภัย จ่ายสมทบเข้ากองทุน ในสัดส่วน 0.25 % ของเบี้ยประกันภัยของแต่ละบริษัท  ซึ่งปีหนึ่งๆจะมีเงินเข้ากองทุนไม่กี่ร้อยล้านบาท ขณะที่ กองทุนประกันวินาศภัย มีภาระที่ต้องชำระหนี้เป็นวงเงินกว่าหมื่นล้านบาท

สำหรับสองบริษัทประกันล่าสุดที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต คือ อาคเนย์และไทยประกันภัย มีการค้างจ่ายเคลมประกันภัยโควิด รวมกันราว 1.8 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทไทยประกันภัย ถือเป็นบริษัทประกันวินาศภัยของคนไทยรายแรก จัดตั้งขึ้นในปี 2481

อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่ชัดเจนว่า ผลกระทบจากกรมธรรม์ประกันภัยโควิด นิ่งแล้วหรือยัง จะยังส่งผลกระทบบริษัทประกันภัยอื่นๆอีกหรือไม่

แหล่งข่าวกล่าวว่า การแข่งขันกันในการขายกรมธรรม์ประกันภัยโควิด  โดยเฉพาะประกันภัยประเภท เจอ จ่าย จบ ที่มีบริษัทประกันวินาศภัย 16 บริษัท จากทั้งหมด 57 บริษัทที่ขายผลิตภัณฑ์ดังกล่าว โดยกำหนดราคาเบี้ยค่อนข้างต่ำ ทำให้มีประชาชนแห่กันมาทำประกันภัยประเภทนี้หลายล้านฉบับ

นอกจากที่ ที่สำคัญ คือ บริษัทประกันภัยรายที่ประสบปัญหา ไม่ได้ทำการรีไฟแนนซ์ หรือ ทำการรีไฟแนนซ์ออกไปในระดับต่ำ ทำให้บริษัทรับความเสี่ยงเต็มๆเมื่อมีการเคลมประกันภัยโควิดเป็นจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามกระทรวงการคลังยัง ยืนยันว่า ความเสี่ยงเชิงระบบในธุรกิจประกันภัยในประเทศไทยยังไม่มี แม้ว่าบริษัทประกันหลายแห่งในประเทศไทยต้องปิดตัวลง อันเนื่องมาจากผลกระทบจากโควิดก็ตาม