Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 4 April 2022
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูง จากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังคงไม่มีความแน่นอน
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 98-105 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 103-110 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (4 – 8 เม.ย. 65)
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูง เนื่องจากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังไม่มีข้อสรุปแน่ชัดแม้ว่ารัสเซียจะประกาศถอนกำลังทหารแล้วก็ตาม ขณะที่กลุ่มโอเปคพลัสมีการปรับเพิ่มกำลังการผลิตสำหรับเดือน พ.ค. 65 ขึ้นตามแผนเดิม แม้ว่าหลายประเทศจะเรียกร้องให้ทางกลุ่มพิจารณาเพิ่มกำลังการผลิตมากขึ้นก็ตาม นอกจากนี้อุปทานมีแนวโน้มตึงตัวต่อเนื่องเพราะกระทรวงพลังงานคาซัคสถานแถลงปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของประเทศอาจได้รับผลกระทบนานถึง 1 เดือน จากท่อส่งน้ำมัน CPC ที่ได้รับความเสียหายจากพายุ อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงจับตาถึงความเข้มงวดของนโยบายโควิด-19 เป็นศูนย์ของจีน ที่อาจกดดันปริมาณความต้องการใช้น้ำมันในประเทศ
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
- การเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียและยูเครนครั้งล่าสุดวันที่ 30 มี.ค. ยังคงไม่มีความคืบหน้ามากนัก แม้ว่ารัสเซียจะประกาศถอนกำลังและลดระดับการใช้กำลังทางทหารในหลายพื้นที่ของยูเครน แต่สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรในยุโรปยังคงไม่ไว้วางใจถึงการประกาศดังกล่าว ส่งผลให้ตลาดยังกังวลต่อความเป็นไปได้ถึงการออกมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียรอบใหม่และมีความเป็นไปได้ที่การส่งออกน้ำมันดิบจากรัสเซียไปยังยุโรปและสหรัฐฯ จะปรับตัวน้อยลง อย่างไรก็ตาม ในเอเชียบริษัทน้ำมันแห่งชาติอินโดนิเซีย Pertamina ประกาศกำลังพิจารณาที่จะซื้อน้ำมันดิบจากรัซเซียเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการกลับมาดำเนินการผลิตอีกครั้งหลังมีการหยุดซ่อมบำรุงของหน่วยการผลิตของโรงกลั่น Balongan ในช่วงเดือน พ.ค.65
- กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบและชาติพันธมิตร หรือกลุ่มโอเปคพลัสประกาศปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบในเดือน พ.ค.65 ขึ้นเพียงเล็กน้อยเป็น 432,000 บาร์เรลต่อวัน จาก 400,000 บาร์เรลต่อวัน แม้ว่าหลายประเทศเรียกร้องให้ทางกลุ่มเพิ่มกำลังการผลิตมากขึ้นเพื่อชะลอความร้อนแรงของราคาน้ำมันดิบ ขณะที่การผลิตของกลุ่มยังคงอยู่ต่ำกว่าโควตาที่ได้รับอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดความร่วมมือในการลดกำลังการผลิต (OPEC+ Compliance) ในเดือน ก.พ. อยู่ที่ระดับ 136% เพิ่มขึ้นจากเดือน ม.ค. ที่ 129%
- กระทรวงพลังงานคาซัคสถานแถลงปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของประเทศ 0.32 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือ คิดเป็นกำลังการผลิตราว 20% ของประเทศมีแนวโน้มได้รับผลกระทบเป็นเวลา 2-4 สัปดาห์ จากท่าเรือ Caspian Pipeline Consortium หรือ CPC ที่ได้รับความเสียหายจากพายุก่อนหน้านี้ โดยท่อส่งน้ำมัน CPC เป็นท่อขนส่งน้ำมันราว 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน (1-2% ของกำลังการผลิตน้ำมันโลก) จากแหล่งผลิตในคาซัคสถาน และรัสเซีย ซึ่งส่งออกไปยัง Novorossiysk-2 บริเวณทะเลดำ แม้ว่าท่อดังกล่าวจะเริ่มใช้งานได้บางส่วนแล้วก็ตาม
- นักลงทุนจับตาสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในจีน หลังรัฐบาลประกาศล็อกดาวน์เมืองเซี่ยงไฮ้เป็นเวลา 9 วันเพื่อตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้กับประชาชน โดยก่อนหน้านี้จีนมีการประกาศล็อกดาวน์เมืองถังชาน (Tangshan) ซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรมเหล็กที่สำคัญ ทางตอนเหนือของจีน จากการประกาศล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดในหลายพื้นที่สะท้อนถึงการยึดมั่นต่อนโยบายโควิดเป็นศูนย์ของรัฐบาลจีนซึ่งกดดันการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและปริมาณความต้องการใช้น้ำมัน
- สหรัฐฯ ประกาศกำลังพิจารณาที่จะปล่อยน้ำมันจากคลังสำรองเชิงยุทธศาสตร์เพิ่มเติมจากแผนเดิมที่จะปล่อยน้ำมันราว 30 ล้านบาร์เรล ร่วมกับประเทศสมาชิก IEA แต่ยังไม่มีการกำหนดปริมาณอย่างชัดเจน เพื่อผ่อนคลายความตึงตัวของอุปทานน้ำมัน และลดความร้อนแรงของราคาน้ำมันดิบ
- บริษัทเบเกอร์ ฮิวจ์ รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติสหรัฐฯ ณ สัปดาห์สิ้นสุด 25 มี.ค. ปรับ เพิ่มขึ้น 7 แท่น แตะระดับ 531 แท่น ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 63 โดยทางรัฐบาลสหรัฐฯ เรียกร้องให้ผู้ผลิต เพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบ เพื่อรองรับอุปทานที่อาจได้รับผลกระทบจากการคว่ำบาตรทางพลังงานต่อรัสเซีย
- เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ รายงานยอดสั่งซื้อสินค้าของโรงงานสหรัฐฯ เดือน ก.พ.65 ที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้น ผลการประชุมรัฐมนตรีคลังยูโรโซนเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจ รายงานการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ และ ดัชนียอดค้าปลีกยูโรโซนเดือน ก.พ. 65 ที่คาดว่าจะปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (28 มี.ค. - 1 เม.ย. 65)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 14.63 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 99.27 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับลดลง 16.26 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 104.39 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 101.76 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในจีนที่จำนวนผู้ติดเชื้อกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งแม้ว่าจะมีการใช้มาตรการโควิด-19 เป็นศูนย์อย่างเข้มงวดส่งผลให้ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันได้รับแรงกดดัน อย่างไรก็ตาม ราคาได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 25 มี.ค. 65 ที่ปรับตัวลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปี สะท้อนถึงปริมาณความต้องการใช้น้ำมันในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้น