VAT 7% คืออะไร? ทำไมผู้บริโภคต้องจ่ายเพิ่มในทุกๆ การซื้อ
ผู้บริโภคต้องรู้! VAT 7% คืออะไร? เมื่อการซื้อสินค้าและบริการ หรือชำระค่าอาหารทุกครั้ง (ผ่านร้านค้าที่จดทะเบียน VAT) ผู้บริโภคไม่ได้จ่ายเฉพาะค่าสินค้าเท่านั้น แต่ต้องจ่ายค่า VAT 7% ที่รวมอยู่ในนั้นด้วย
เวลาไปกินข้าวนอกบ้าน หลังจ่ายเงินค่าอาหารแล้วทางร้านจะยื่น "ใบกำกับภาษี" ให้คืนมา เพื่อแสดงราคาสินค้าและบริการทั้งหมดที่เราจ่ายไป ซึ่งจะมีค่า "VAT 7%" รวมอยู่ในนั้นด้วย
แล้ว VAT 7%คืออะไร? ทำไมผู้บริโภคต้องจ่ายเพิ่มจากราคาอาหาร กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนไปหาคำตอบพร้อมกัน
- VAT 7% คือ "ภาษีมูลค่าเพิ่ม" ที่รัฐกำหนดในอัตรา 7%
ลองสังเกตดู เวลาซื้อสินค้าและบริการ หรือจ่ายค่าอาหารในร้านอาหารต่างๆ ทางร้านจะให้กระดาษใบเล็กๆ กลับมา (เรามักพูดติดปากกันว่าใบเสร็จ/บิล) ซึ่งกระดาษใบเล็กๆ นั้นก็คือ “ใบกำกับภาษีอย่างย่อ”
“ใบกำกับภาษี” เป็นเอกสารหรือหลักฐานที่ทางร้านค้าต่างๆ ส่งให้เมื่อเรา หลังจากเราชำระเงินค่าสินค้าเรียบร้อย โดยจะมีตัวเลขบอกว่าเงินที่เราจ่ายไป มี “VAT” อยู่ในนั้นเท่าไหร่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- นับถอยหลัง VAT 7% เผยวันสิ้นสุด ก่อนเตรียมปรับเพิ่มเป็น 10%
- เปิดเหตุผล 'ครม.' คง 'VAT' 7% ถึงปี 66 หวังเพิ่มจับจ่าย - ลงทุน
ทั้งนี้ คำว่า VAT ย่อมาจาก Value Added Tax แปลว่า "ภาษีมูลค่าเพิ่ม" หมายถึง ภาษีประเภทหนึ่งที่เก็บจากการขายสินค้าหรือบริการที่เข้าเงื่อนไข โดยปัจจุบันประเทศไทยกำหนดให้เก็บในอัตรา 7% ของราคาขายสินค้าหรือบริการ
หมายเหตุ : ในบางกรณีจะพบว่า ยอดรวมค่าอาหารหรือค่าสินค้าจะเป็นตัวเลขที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มให้แล้ว อันนี้จะเรียกว่า "ใบกำกับภาษีอย่างย่อ"
ยกตัวอย่างเช่น ซื้อสินค้าในราคา 500 บาท หากดูรายละเอียดใน “ใบกำกับภาษี” เราจะเห็นตัวเลขค่าสินค้าราคา 500 บาท และ ค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) อีก 35 บาท รวมทั้งสิ้นที่ต้องจ่ายเป็น 535 บาทนั่นเอง
- “ภาษีมูลค่าเพิ่ม” ผู้บริโภคมีหน้าที่ต้องจ่าย
เนื่องจาก “ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)” เป็นภาษีทางอ้อม ที่ทางผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สามารถเลือกที่จะผลักภาระให้กับผู้บริโภคได้ จึงทำให้ผู้บริโภคมีหน้าที่ที่ต้องจ่ายค่าสินค้าหรือบริการ รวมถึงจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย
โดยผู้ขายหรือผู้ประกอบการ มีหน้าที่เก็บรวบรวมในส่วนของภาษีดังกล่าว แล้วนำไปส่งให้กับกรมสรรพากร เพื่อเข้าสู่คลังของประเทศ (ภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ได้เข้าร้านแต่อย่างใด)
อย่างไรก็ตาม กรณีที่ทางร้านค้าหรือผู้ประกอบการ (ที่จดทะเบียน VAT) เรียกเก็บภาษีได้ไม่ครบถ้วน หรือมีข้อผิดพลาดในการจัดเก็บภาษีใดๆ ก็ตาม ร้านค้านั้นๆ ก็จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น เพราะถือว่ามีหน้าที่เรียกเก็บแล้วแต่ไม่สามารถเก็บได้ครบถ้วน
- ในต่างประเทศ มีอัตราการเก็บ VAT เท่าไหร่?
ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้า มีอัตราการจัดเก็บภาษี VAT ที่แตกต่างกันไป ซึ่งประเทศพัฒนาแล้วทั่วโลกมีการเก็บภาษี VAT ในอัตราต่างๆ ดังนี้ (อัปเดต ณ ปี 2022)
- นอร์เวย์ VAT 25%
- เดนมาร์ก VAT 25%
- ฟินแลนด์ VAT 23%
- สหราชอาณาจักร VAT 20%
- ออสเตรีย VAT 20%
- อิตาลี VAT 20%
- เยอรมัน VAT 19%
- ฝรั่งเศส VAT 19%
- จีน VAT 6%-13%
- นิวซีแลนด์ VAT 15%
- เกาหลีใต้ VAT 10%
- ออสเตรเลีย VAT 10%
- ญี่ปุ่น VAT 10%
- แคนาดา VAT(GST) 5%
- ร้านค้า/กิจการแบบไหน ที่จะต้องเรียกเก็บ VAT ?
สำหรับกิจการหรือร้านค้าที่รัฐกำหนดให้ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้แก่
1. การขายสินค้าในราชอาณาจักรโดยผู้ประกอบการ
2. การให้บริการในราชอาณาจักรโดยผู้ประกอบการ ซึ่งจะครอบคลุมถึงการให้บริการที่ทำในต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร (เช่น การให้บริการแพลตฟอร์มโฆษณาออนไลน์จากบริษัทต่างประเทศที่ใช้ในไทย) และบริการที่ได้ทำในราชอาณจักรแต่ใช้บริการจริงเกิดขึ้นในต่างประเทศ (เช่น รับจ้างเขียนซอฟต์แวร์ให้บริษัทต่างชาติไปใช้ในต่างประเทศ)
3. การนำเข้าสินค้าเข้ามาขายในราชอาณาจักรโดยผู้นำเข้า
- VAT 7% ที่เก็บจากประชาชน รัฐเอาไปทำอะไร?
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่ประชาชนต้องจ่ายไปในทุกๆ การซื้อสินค้าและบริการนั้น จะถูกนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ ได้แก่ นำไปเป็นงบประมาณในการบริหารราชการแผ่นดิน, นำไปบริหารจัดการในรูปแบบสวัสดิการต่างๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน
โดยจะถูกจัดสรรไปเป็นงบประมาณตามลักษณะงาน (อิงตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี) ดังนี้
งบการศึกษา, งบสวัสดิการผู้สูงอายุ, งบด้านความมั่นคง, งบการขนส่ง, งบสาธารณสุขอื่น (รวมถึงบัตรทอง), งบโรงพยาบาล, งบตำรวจ, งบในลักษณะงานอื่นๆ
- รู้หรือไม่? เมื่อก่อนประเทศไทยเคยเก็บ VAT 10%
อันที่จริงแล้วสำหรับประเทศไทย อัตรา VAT ที่แท้จริงอยู่ที่ 10% มาตั้งแต่ปี 2535 แต่ว่าเมื่อปี 2540 ได้มีการออกพระราชกฤษฎีกาลดอัตราภาษี VAT ซึ่งจะพิจารณาต่อในทุกๆ 2 ปี เหลือที่ 7% เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนในช่วงที่ประเทศเจอ "วิกฤติเศรษฐกิจการเงิน" หรือวิกฤติต้มยำกุ้ง
หลังจากนั้นตลอด 25 ปีที่ผ่านมา เราจึงเห็น 7% มาตลอดจนถึงปัจจุบัน แทนที่จะเป็น 10% อย่างที่ควรจะเป็น ทำให้ก่อนหน้านี้ มีข้อเสนอจากหลายฝ่ายให้ปรับขึ้นภาษีมูค่าเพิ่ม (VAT) จาก 7% เป็น 10%
แต่ในที่สุด ในช่วงเดือนสิงหาคม พ.ศ.2564 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ก็ตัดสินใจคงอัตรา VAT 7% ออกไปอีกรวดเดียว 2 ปี คือ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ไปจนถึง วันที่ 30 กันยายน 2566 โดยมีเหตุผลสำคัญเรื่องการรักษาการบริโภค และสนับสนุนการลงทุนของธุรกิจช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19
--------------------------------
อ้างอิง : Globalvatcompliance, กรมประชาสัมพันธ์, taxbugnoms, itax