เมกะอีเวนท์ “สงกรานต์” กร่อย! โควิดโอมิครอน ทุบตลาดซึมยาว

เมกะอีเวนท์ “สงกรานต์” กร่อย!  โควิดโอมิครอน ทุบตลาดซึมยาว

เมกะอีเวนท์สงกรานต์ เม็ดเงินหายหลายพันล้านบาท หลังโอมิครอนระบาดไม่หยุด กระทบความเชื่อมั่นผู้บริโภคไม่กล้าออกไปร่วมกิจกรรม ส่วนผู้ประกอบการ แบรนด์ เจ้าของเงิน ผู้จัดงาน ไม่มีอารมณ์จะเทงบ สร้างสรรค์งาน สมาคมธุรกิจสร้างสรรค์การจัดงาน คาดทั้งปีตลาดติดลบ 50-60%

หากย้อนดูตัวเลขเงินสะพัดช่วงเทศกาล “สงกรานต์” หรือปีใหม่ไทย เรียกว่าเห็นเงินเป็นกอบเป็นกำหลายรูปแบบ ทั้งมูลค่าทางเศรษฐกิจ ก่อนโควิด-19 ระบาด ประเมินกันถึงหลัก “แสนล้านบาท” เฉพาะช่วงเวลาสั้นๆ 4-5 วัน ภาคท่องเที่ยวเคยหยิบตัวเลขมาโชว์กันหลัก “หมื่นล้านบาท” เพราะเป็นห้วงที่คนไทยทั้งประเทศเดินทางกลับบ้านเกิด ใช้จ่ายเงินกันจำนวนมาก

ขณะที่เดียวกัน เทศกาลสงกรานต์ยังเป็น “นาทีทอง” ของ "ธุรกิจอีเวนท์" ที่มีเงินสะพัดหลายพันล้านบาทด้วย ทว่า เป็นเวลา 3 ปีแล้ว ที่ “เมกะอีเวนท์สงกรานต์” ต้องมลายหายไป เพราะไม่สามารถจัดได้ เนื่องจากวิกฤติโรคระบาด

++โควิดโอมิครอนตัวร้าย ฉุดอีเวนท์ซึมยาว

ครั้นปี 2565 รัฐไฟเขียวอนุญาตให้ผู้ประกอบการอีเวนท์สามารถจัดกิจกรรมต่างๆได้ แต่มีหลากเงื่อนไขจำกัดอยู่ เช่น ห้ามเล่นสาดน้ำ ห้ามมีปาร์ตี้โฟม ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น ทำให้มู้ดแอนด์โทนในการจัดงานไม่ดีนัก

ซ้ำร้าย “โควิดโอมิครอน” ยังเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการ เข้าของเงิน ผู้จัดงานกล้าๆกลัวๆ ส่วนผู้บริโภค ก็ไม่มีอารมณ์ออกไปเฮฮาสนุกสนานนอกบ้านแน่นอน ตราบใดที่โอมิครอนยังระบาดไม่เลิก เหล่านี้เป็นมุมมองจาก “อุปถัมป์ นิสิตสุขเจริญ” นายกสมาคมธุรกิจสร้างสรรค์การจัดงาน (EMA)

เมื่อหลากปัจจัยลบยังคงรายล้อม ทำให้ภาพรวมธุรกิจอีเวนท์ออกสตาร์ทตั้งแต่ต้นปี 2565 ไม่ดี เพราะบรรยากาศโดยรวมยังคง “เงียบเหงา” ผู้ประกอบการไม่กล้าลงทุน เมกะอีเวนท์ที่เป็นงานใหญ่ประจำปีในทำเลทองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นถนนข้าวสาร ถนนข้าวเหนียว จังหวัดเล็กใหญ่ ทั้งกรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น บุรีรัมย์ เลยอยู่ในอาการ “ซึม”

ส่วนแบรนด์ที่เคยเป็นผู้สนับสนุนหรือสปอนเซอร์เมกะอีเวนท์ต่างๆ มีการชะลอใช้งบกันโดยปริยาย ไม่ว่าจะเป็นหมวดเครื่องดื่มอัดลมแบรนด์ต่างๆ ซึ่งปกติแบรนด์เล็กใหญ่ต้องยึดถนนสำคัญเป็นหมุดหมายในการสร้างแบรนด์ ทำแคมเปญการตลาดเพื่อเอ็นเกจกับผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย

“ตอนนี้ไม่มีใครกล้าจัดงานหรอก เงียบหมด เพราะโอมิครอนมีผลต่อจิตวิทยา ทำให้ผู้คนไม่กล้าออกไปไหน ไปร่วมงาน หรือทำกิจกรรมอะไร โควิดโอมิครอนทำให้คนทั้งประเทศกลัว เมื่อเป็นเช่นนั้น ธุรกิจอีเวนท์จึงส่งสัญญาณ..ซึมยาว!! และเราไม่เห็นอนาคตว่าจุดจบโอมิครอนจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่”

ธุรกิจอีเวนท์ช่วงสงกรานต์ถือว่าทำเงินสะพัดรวมๆหลัก 6,000-7,000 ล้านบาท เพราะจุดเด่นคือเป็นเทศกาลที่มีระยะเวลา 4-5 วัน และคนไทยส่วนใหญ่เดินทางท่องเที่ยวและใช้จ่ายภายในประเทศ อีกทั้งทุกจังหวัดมีการจัดงานกันอย่างคึกคัก เทียบกับอีเวนท์เคาท์ดาวน์ปีใหม่ จัดเพียง 1 คืน และช่วงเวลาการเฉลิมฉลองสั้นๆ ยิ่งกว่านั้นพฤติกรรมของการฉลองปีใหม่ คือการเดินทางท่องเที่ยวและใช้จ่ายในต่างประเทศ

เมกะอีเวนท์ “สงกรานต์” กร่อย!  โควิดโอมิครอน ทุบตลาดซึมยาว ++ลุ้นเลือกตั้ง APEC บรรเทาผลกระทบ

แม้การออกสตาร์ทของธุรกิจอีเวนท์ปี 2565 เริ่มด้วยการเจอโจทย์ยาก แต่ยังมีปัจจัยบวกให้ผู้ประกอบการได้ใจชื้นขึ้นบ้าง คือ การเลือกตั้งผู้ว่าฯกรุงเทพมหานคร รวมถึงเลือกตั้งทั่วไป ที่ช่วงปลายปี พรรคการเมือง ผู้สมัครต่างๆ จะต้องตระเตรียมหาเสียง และจัดอีเวนท์ พอจะทำให้ตลาดมีโอกาสฟื้นตัวได้บ้าง

นอกจากนี้ การที่ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ APEC 2022 ในช่วงปลายปี คาดว่าจะเป็นอีกปัจจัยบวกต่อธุรกิจอีเวนท์ เนื่องจากรัฐน่าจะมีการจัดสรรงบลงมาหลัก “พันล้านบาท”

“ข้อดีของอีเวนท์คือปีนี้มีการประชุม APEC และการเลือกตั้ง น่าจะช่วยกระตุ้นตลาดได้บ้าง แต่คงไม่สามารถทดแทนเม็ดเงินที่หายไปช่วงสงกรานต์ เพราะสเกลงานแตกต่างกันมาก”

++กระทุ้งรัฐเร่งทำความเข้าใจโควิดโรคประจำถิ่น

ช่วงกลางปี 2565 รัฐจะมีการประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น มองว่าจะส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจ ตลอดจนความเชื่อมั่นของประชาชน แต่สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการคือ การสื่อสารและทำความเข้าใจกับประชาชนให้มากขึ้นว่าโรคจะเป็นอย่างไร ผู้ติดเชื้อจะมีอาการอย่างไรบ้าง

นอกจากนี้ ถึงเวลาที่ควรจะปรับวิธีการทำงาน ไม่นับหรือรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยโควิด-19 เช่นกับหลายประเทศที่เลิกดำเนินการดังกล่าวแล้ว เพราะการติดเชื้อโควิด โดยเฉพาะสายพันธุ์โอมิครอน เกิดขึ้นง่าย แต่อาการไม่รุนแรงนัก เมื่อเทียบกับไข้หวัดใหญ่

“เมื่อรัฐจะประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น การเข้าสู่กระบวนทรานส์เฟอร์ รัฐควรประกาศ สื่อสารให้ประชาชนเข้าใจ มีความมั่นใจว่าโรคนี้มีความอันตรายหรือไม่อย่างไร ติดแล้วเชื้อไม่ลงสู่ปอด ใครเป็นกลุ่มเสี่ยงต้องระวัง หากรัฐวางแผนและสื่อสารดีๆ สถานการณ์ทุกอย่างจะค่อยๆฟื้นตัวกลับมา”

ผ่านไป 1 ไตรมาส หากประเมินภาพรวมธุรกิจอีเวนท์ปี 2565 คาดว่าจะกลับไปสู่ภาวะเดิมคือ “ติดลบ 50-60%” ซึ่งยอมรับว่าเป็นสถานการณ์ที่ “ผิดคาด” เนื่องจากเดิมคาดว่าตลาดจะฟื้นตัว แต่โควิดโอมิครอนกลับทุบตลาดให้ซึมยาว

“ตอนนี้การจัดอีเวนท์เกิดขึ้นน้อยมาก กลายเป็นว่าปีนี้เหนื่อย! ปีก่อนล็อกดาวน์ พอพ้นไปตลาดมีความคึกคัก ปีนี้กลับเงียบเหงา เหมือนคนหมดแรงที่จะสู้แล้ว วิกฤติโควิดลากยาวเหลือเกิน”

อย่างไรก็ตาม วิกฤติโควิด-19 ที่ว่าเลวร้ายกินเวลาข้ามปี ล่าสุดภาคธุรกิจและทั้งโลก ต้องเจอกับภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ต้นทุนต่างๆพุ่งขึ้น ขณะเดียวกันยังต้องจับตาดูภาวะเศรษฐกิจของหลายประเทศที่ส่งสัญญาณ “ล้มละลาย” ทำให้ยากจะคาดเดาอนาคตจะเจออะไรมากระทบธุรกิจอีก