หยามเกินไป "มนัญญา" ขู่ใช้คำสั่งนายกฯ ยึดเงินคืนสหกรณ์กระทรวงเกษตร500ล้าน

หยามเกินไป "มนัญญา" ขู่ใช้คำสั่งนายกฯ ยึดเงินคืนสหกรณ์กระทรวงเกษตร500ล้าน

"มนัญญา" ลั่นขอคำสั่งพิเศษจากนายกรัฐมนตรี จี้ ปปง.-ดีเอสไอ ติดตามยึดทรัพย์ 2 เจ้าหน้าที่สหกรณ์กระทรวงเกษตรฯ สูญ กว่า 500 ล้านบาท ชี้เส้นทางการเงินมีในมือแล้ว จงคืนเงินโดยดีอย่าให้ครอบครัวข้างหลังต้องเดือดร้อน

นางสาวมนัญญา  ไทยเศรษฐ์  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในการประชุมแก้ไขปัญหาทุจริตสหกรณ์ออมทรัพย์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำกัด ว่า จากการตรวจสอบบัญชีสมาชิกสหกรณ์ ในช่วง 2 วันที่ผ่านมา พบว่ามีสมาชิกได้รับความเสียหายรวม 85 คนวงเงิน 491 ล้านบาท 1,133 บัญชี  โดยทางกรรมการสหกรณ์ฯได้แจ้งความดำเนินคดีข้อหาลักทรัพย์นายจ้าง กับผู้ต้องสงสัยแล้วจำนวน 2 ราย  คือ  นางพวงทิพย์ สุทธิแย้ม ผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ และนางสิริพร รัตนปราการ หัวหน้าฝ่ายการเงินสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ

 

หยามเกินไป \"มนัญญา\" ขู่ใช้คำสั่งนายกฯ ยึดเงินคืนสหกรณ์กระทรวงเกษตร500ล้าน

เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อยู่ใกล้กับกระทรวงเกษตรฯที่ดูแลสหกรณ์เกินไป และกรมส่งเสริมสหกรณ์อยู่ระหว่างปรับปรุงพระราชบัญญัติ(พรบ.) เพื่อดูและระบบการเงินของสหกรณ์อย่างใกล้ชิด  แต่ยังเกิดปัญหาขึ้นอีก

ดังนั้นการทุจริตในสหกรณ์ออมทรัพย์กระทรวงเกษตรฯ จึงจะเป็นกรณีตัวอย่างที่จะเสนอ พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อออกคำสั่งพิเศษ ให้ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)กระทรวงยุติธรรม ติดตามเส้นทางการเงิน เพื่อทวงคืน ยึดทรัพย์ โดยเร็วที่สุด  

“ได้รับแจ้งว่าผู้กระทำการ ทั้งคู่ ทราบว่า เดินทางข้ามไป สปป.ลาวแล้ว อีกคนติดโควิด19 อยู่ที่บ้าน เราจะติดตาม  เพื่อให้ได้รับการลงโทษ เส้นทางการเงินของทั้งคู่อยู่ในมือเราแล้ว เรารู้และมีหลักฐานกระทั่งการซื้อของชิ้นใหม่ๆ อยากบอกว่า เอาเงินมาคืน ซ่ะ

อย่าให้ครอบครัวที่อยู่ข้างหลังต้องเดือดร้อน  ครอบครัว ที่ท่านรัก แต่ท่านทำกรรมให้เขา การที่ท่านส่งเสริมกิจการสร้างอาชีพญาติท่านทำนู้นนี้โดยใช้เงินคนอื่น  ไม่รอดนะคะ   ถ้ารักครอบครัวอย่ารักในทางที่ผิด ขโมยเงินของคนอื่นไปใช้ในทางที่ผิด เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องเลย” 

“การประชุมวันนี้คิดว่าท่านฟังอยู่แล้ว  เพราะมีคนส่งข้อมูลให้ท่าน คนที่ส่งให้ก็ไม่ผิด แต่ถ้ารู้แล้วก็รับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้น การกระทำของคุณใกล้เกินไป  เงิน 500 ล้านบาท เป็นของคนของกะทรวงเกษตรฯ แต่สมาชิกาก็ยังเชื่อมั่นในสหกรณ์ พูดให้กำลังใจกันทุกคน มันบาดใจที่ท่านไปเอาของเขา”

ทั้งนี้เพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างทันต่อสถานการณ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ส่งเสริมให้ตรวจสอบบัญชีผ่านมีแอพลิเคชั่น  เพื่อให้สมาชิกเข้าไปตรวจสอบได้ง่ายขึ้น ในขณะที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ต้องเพิ่มความเข้มงวดในการเข้าไปดูแลสหกรณ์

รวมทั้งหากพบความไม่ชอบมาพากลต้องรีบเข้าไปจัดการ ไม่ควรปล่อยทิ้งค้างเอาไว้ เช่นเดียวกับการแต่งตั้งผู้สอบบัญชี แม้จะเป็นการคัดเลือกโดยสหกรณ์เองแต่ต้องมีความรับผิดให้สมกับค่าจ้าง  จากเมื่อเกิดปัญหาขึ้น โทษของผู้สอบบัญชีกำหนดจะไม่ได้รับการแต่งตั้งอีก ถือว่าเบาเกินไป ส่วนใหญ่ลอยนวล ควรได้รับบทลงโทษด้วย อีกทั้งโดยควรกำหนดอายุผู้สอบบัญชีไม่ให้สูงมากเพื่อการเข้าถึงเทคโนโลยี

“การทุจริตที่เกิดขึ้น เป็นการใช้ช่องโหว่เรื่องน้ำใจของระบบสหกรณ์มาเป็นมิจฉาชีพ ดังนั้นสมาชิกต้องติดตามตรวจสอบผ่านแอพพลิเคชั่นของสหกรณ์ สหกรณ์ใดที่ไม่เปิดใช้แอพลิเคชั่น ให้ถือว่าเป็นผู้ต้องสงสัยไว้ก่อน  อีกทั้งกรณีการเกิดทุจริตของสหกรณ์กระทรวงเกษตรฯนี้ อยากถามจริงๆ ว่ากรรมการของสหกรณ์ไม่รู้เรื่องเลยเชียวหรือ สมาชิกบางคนมีเงิน80 ล้านบาทเหลืออยู่ 4 แสนบาท ถอนไปได้อย่างไร เริ่มยักย้ายถ่ายเทตั้งแต่ปี 48 ย้ายตัวเลขไปมา ไม่มีใครสงสัย

นายประกอบ เผ่าพงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า การตรวจสอบบัญชีสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์กระทรวงเกษตรฯ ผ่านไปเพียง 85 % คาดว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจะมากกว่า 500 ล้านบาท  โดยดีเอสไอ และปปง.จะร่วมกันติดตามเร่งรัด ยึดทรัพย์  แม้ผู้ต้องสงสัยจะถ่ายโอนไปแล้ว แต่สามารถตรวจสอบเส้นทางการเงินได้ โดยจะติดตามมาคืนให้สหกรณ์ อย่างครบถ้วน

นางอัญชนา ตราโช รองประธานกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์กระทรวงเกษตรฯ กล่าว ปัจจุบันสหกรณ์มีทุนเรือนหุ้น1,574 ล้านบาท  ในจำนวนนี้เป็นทุนสำรอง เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 65 จำนวน 151 ล้านบาท และเป็นเงินที่นำไปลงทุน 650 ล้านบาท

กรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์กระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า กรรมการ  ไม่เคยได้รับรู้กระทำของผู้ต้องสงสัยทั้ง2 คน  แต่ก็ต้องยอมรับความผิด  ซึ่งการที่นำแอพลิชั่นเข้ามาใช้ก็เพื่อให้สมาชิกทุกคนช่วยกัน ซึ่งได้ติดตั้งเมื่อวันที่ 25 มี.ค. 65 ก็พบว่าผู้ต้องสงสัยทั้งคู่ไม่ยอมมาทำงานตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค. เป็นต้นมา  ความเสียหายที่เกิดขึ้นสหกรณ์จะนำเงินฝาก หรือเงินล้นระบบประมาณ600 ล้านบาทนั้นมาคืนให้กับผู้เสียหายและวางแผนฟื้นฟูสหกรณ์ต่อไป

โดยเห็นว่าการรู้เรื่องนี้ช้าไปดีกว่าไม่รู้และเกิดความเสียหายไปมากกว่านี้ ที่ผ่านมาการระบุบัญชีจะใช้เครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้า ทำให้การตรวจสอบยาก ปัจจุบันเมื่อมีระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้แล้ว คาดว่าจะทำให้การทำงานโปร่งใสมากขึ้น โดยในอนาคตจะพัฒนาให้เป็นเหมือนแอพลิเคชั่นของธนาคารที่สามารถโต้ตอบกรณีตรวจพบมีการฝากถอน

นายสรรเสริญ อัจจุตมานัส อดีตเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.) สมาชิกสหกรณ์ กล่าวว่าเงินที่นำมาคืนให้กับสมาชิกที่ได้รับความเสียหาย ก็คือเงินทุนเรือนหุ้น และเงินลงทุน ซึ่งหมายถึงสุดท้ายแล้วผู้ที่ได้รับความเสียหายก็คือสมาชิกทุกคนนั่นเอง  แต่เพื่อให้สหกรณ์เดินหน้าต่อไปได้ ก็ต้องใช้ระบบเห็นใจกัน และวางแนวทางฟื้นฟูเพื่อสร้างความเชื่อมั่น  ซึ่งอาชญากรรมครั้งนี้กระทำโดยคน Low technology  แต่ต่อไป จะเป็นระบบHigh technology  ดังนั้นแอพลิเคชั่นที่นำมาใช้ต้องพัฒนาให้ทันการทุจริตด้วย