สกพอ.ดึงโอซากาลงทุน “อีอีซี” เจาะกลุ่มธุรกิจ“คาร์บอนต่ำ-บีซีจี”

สกพอ.ดึงโอซากาลงทุน “อีอีซี” เจาะกลุ่มธุรกิจ“คาร์บอนต่ำ-บีซีจี”

เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นพื้นที่เป้าหมายการลงทุนในอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ ซึ่งมีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับ 75 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ หรือคิดเป็น 31% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรมทั้งประเทศ

ดังนั้น ตามที่ไทยได้ประกาศเป้าหมายที่จะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ หรือ “เน็ตซีโร่” ในปี 2065 เนื่องจากไทยเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสูงสุดในโลก โดยมีภาคอุตสาหกรรมเป็นหนึ่งเป้าหมายสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมายดังกล่าว

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) จึงได้กำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 10% หรือประมาณ 68 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ และให้มีการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับบีซีจีโมเดล ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว คิดเป็น 40% ของการลงทุนในพื้นที่อีอีซี โดยแบ่งการลงทุนเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
 

1.กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมเดิม ที่เน้นให้เกิดการลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในการผลิต ได้แก่ การปรับการใช้พลังงานทดแทนในภาคการผลิต การออกแบบสายการผลิตที่นำระบบดิจิทัลและออโตเมชั่นมาเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และปรับเปลี่ยนการจัดการทรัพยากรในการผลิต โดยเพิ่มปริมาณวัสดุรีไซเคิลในการผลิต และการออกแบบระบบจัดการของเสียในการผลิตแบบครบวงจร

2.กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมใหม่ เน้นการผลักดันให้เกิดการลงทุนการผลิตใหม่ตามมาตรฐานสากลด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว เช่น ISO 14021, ISO 14024, ISO 14025 รวมทั้งสนับสนุนการเพิ่มการลงทุนในกิจการและบริการต้นน้ำ (Solution Provider) เพื่อสนับสนุนให้เกิดการใช้เทคโนโลยีใหม่ในการผลิตและบริการที่เกี่ยวข้องกับบีซีจีโมเดล

นอกจากนี้ สกพอ.ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (เอ็มโอยู) กับนครโอซากา เมื่อวันที่ 24 ก.พ.2565 เพื่อกระชับความร่วมมือภาคเอกชนไทย-ญี่ปุ่น ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ มุ่งสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ

ทั้งนี้ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายประเทศไทย 4.0 โดยมี “คณิศ แสงสุพรรณ” เลขาธิการ สกพอ. และ “อิชิโระ มัตซุอิ” นายกเทศมนตรีนคร โอซากา เป็นผู้ลงนามของทั้งสองฝ่าย พร้อมด้วย สิงห์ทอง ลาภพิเศษพันธุ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว, กฤษณ์ ตันคณารัตน์ กงสุลใหญ่ ณ นครโอซากา และผู้บริหารระดับสูงจากทั้งภาครัฐและเอกชนของทั้ง 2 ฝ่ายเข้าร่วม

เพ็ชร ชินบุตร รองเลขาธิการ สกพอ. สายงานการลงทุนและความร่วมมือระหว่างประเทศ กล่าวว่า สำหรับนโยบายส่งเสริมการลงทุนด้านเศรษฐกิจสีเขียวในระยะ 5-10 ปีข้างหน้า สกพอ. มุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านพลังงาน ธุรกิจรีไซเคิล และการพัฒนาเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ

รวมทั้งการขยายความร่วมมือระหว่างภาครัฐในครั้งนี้ ถือเป็นประตูสำคัญในการเชื่อมโยงไปถึงภาคเอกชนญี่ปุ่นในนครโอซากาที่สนใจลงทุนในพื้นที่อีอีซี ให้มีการสานความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องในเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ ดิจิทัล พลังงาน และเมืองอัจฉริยะ

โดยเฉพาะกลุ่มเอกชนภายใต้ Team Osaka Network ที่มีสมาชิกว่า 200 บริษัทชั้นนำของญี่ปุ่น เช่น Panasonic, Toyota Daihatsu Engineering และ Softbank เป็นต้น เพื่อรองรับการพัฒนาด้านพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมุ่งสู่การเป็นสังคมเน็ตซีโร่ ในระยะเวลา 10 ปี (2021-2030) โดยจะมุ่งส่งเสริมการผลิตและใช้พลังงานเอง และแสวงหาพลังงานทดแทนอื่นๆ

อีกทั้ง ยังเป็นการต่อยอดความร่วมมือ ระหว่าง สกพอ. และนครโอซากา ภายใต้กลไกเครดิตร่วม (Joint Crediting Mechanism หรือ JCM) ซึ่งภาคเอกชนไทยสามารถได้รับการสนับสนุนเงินลงทุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นในการทำโครงการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งสามารถนำมาขึ้นทะเบียนและให้การรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่โครงการลดได้ หรือที่เรียกว่า คาร์บอนเครดิต รวมทั้งให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำให้กับภาคเอกชนไทยได้อีกทางหนึ่ง

นอกจากนี้ สกพอ. ยังมีความร่วมมือกับกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (เมติ) ภายใต้ข้อริเริ่ม Asia-Japan Investing for the Future (AJIF) โดยการร่วมสร้างสรรค์ระหว่างเอกชนไทยกับญี่ปุ่นเพื่อการลงทุนสำหรับอนาคต ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน รวมทั้งเพิ่มศักยภาพการเป็นห่วงโซ่การผลิตที่สำคัญของโลกร่วมกัน และนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านด้านเทคโนโลยี

รวมทั้งในปัจจุบันมีโครงการสนับสนุนจากกระทรวงเมติ เช่น การพัฒนาระบบ Smart Grid สำหรับพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน การนำร่องการพัฒนาเศรษฐกิจไฮโดรเจนในประเทศไทย เพื่อสนับสนุนการพัฒนาไฮโดรเจนเป็นทางเลือกสำหรับภาคพลังงาน การขนส่งและการผลิต

สกพอ.ดึงโอซากาลงทุน “อีอีซี” เจาะกลุ่มธุรกิจ“คาร์บอนต่ำ-บีซีจี” สำหรับความร่วมมือกับต่างประเทศทั้งในด้านการลงทุนและการพัฒนาเทคโนโลยีในธุรกิจคาร์บอนต่ำในอนาคต จะช่วยให้ประเทศไทยยังอยู่ในห่วงโซ่การผลิตของโลกได้อย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ ในการผลักดันอีอีซีได้มีการพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซีไอ) เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านวิจัยและพัฒนา การส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมด้านเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งได้หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (JCC) ที่มีการตั้งคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Committee) เพื่อสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชนในประเทศไทย