หุ้นจีนและเวียดนาม 2 ธงแดงผู้พิชิต "เงินเฟ้อ"
ความสัมพันธ์ระหว่างวันที่เกิด IYC กับโอกาสเกิด Recession แม้มีความเป็นไปได้สูง แต่หุ้นสหรัฐฯ สะท้อนลงทุนหุ้นโลกได้กว่า 50% สร้างผลตอบแทนเฉลี่ย 20% จึงยังเป็นช่วงเวลาที่สามารถลงทุนในตลาดหุ้นได้ แต่อาจต้องเลือกความเสี่ยงต่ำต่อภาวะเงินเฟ้อสูงอย่างหุ้นจีน-เวียดนาม
ปัญหาราคาพลังงานสูงขึ้นฉับพลันจากภาวะสงคราม ทำให้สภาวะเงินเฟ้อสูงน่าจะยืดระยะเวลานานกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ส่งผลให้ทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศที่มีปัญหาเรื่องเงินเฟ้อสูงมีความเข้มงวดมากขึ้น เพื่อควบคุมผลกระทบทางเศรษฐกิจน้อยที่สุด เช่น สหรัฐฯ ที่กำลังเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อ (Core PCE) สูงกว่าเป้าหมาย 2% มาเป็นระยะเวลากว่า 11 เดือน และเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งอีกด้วย โดยล่าสุด จากข้อมูล FED Dot Plot สรุปว่า คณะกรรมการ FOMC อยากขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปจนถึง 2.5 - 3% ภายในปี 2023 เพิ่มขึ้นจากการประชุมรอบก่อนหน้าเมื่อเดือนธันวาคม 2021 ถึง 1%
นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรอายุ 2 ปี เพิ่มขึ้นตาม FED Dot Plot และสูงกว่าดอกเบี้ยพันธบัตรอายุ 10 ปี ไปเรียบร้อย ซึ่งในวงการตลาดเงินจะเรียกภาวะนี้ว่า Inverted Yield Curve (IYC) โดยภาวะนี้มักตามมาด้วยภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ได้ในอนาคต แน่นอนว่า ผลตอบแทนของหุ้นในช่วง Recession มักออกมาย่ำแย่ แต่หากพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่าง ช่วงเวลาที่เกิด IYC ตั้งแต่ปี 1978 จนถึง 2019 จำนวน 6 ครั้ง พบว่าตลาดหุ้น S&P 500 สามารถปรับตัวขึ้นได้ต่อเฉลี่ย 20% ภายใน 15 เดือน และหลังจากที่เกิด IYC นั้น กว่าจะเกิด Recession โดยเฉลี่ยแล้วกินเวลาถึง 18 เดือน ดังนั้น หากสรุปผลจากสถิติที่ผ่านมา กลายเป็นว่าหากจับจังหวะลงทุนช่วงที่ตลาดย่อตัวในช่วงที่เพิ่งเกิด IYC ภายในปีแรก ก็อาจสร้างอัตราผลตอบแทนถึง 2 หลักได้ ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ดีเกินกว่าที่จะกังวลและรีบลดพอร์ตหุ้นออกไปทันที
อย่างไรก็ตาม ในระยะข้างหน้าตลาดหุ้นในภาพรวมก็ยังมีความท้าทายอยู่บ้าง โดยเฉพาะตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่อาจอ่อนแอลงในช่วงสภาวะเงินเฟ้อสูงและนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น ประกอบกับ Valuation ที่ยังสูงกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีย้อนหลังกว่า 17% ที่ Fwd PER 19.9 เท่า ด้วยการเติบโตของกำไรเพียง 9% การลงทุนเฉพาะในสหรัฐฯ อาจเผชิญความผันผวนมากขึ้น ดังนั้น การลงทุนต่อจากนี้อาจต้องควบคุมความเสี่ยงของพอร์ตหุ้นด้วยการกระจายลงทุนไปยังตลาดหุ้นที่ Valuation ไม่แพง เมื่อเทียบกับศักยภาพการเติบโต และความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อสูงที่ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ พร้อมทั้งมีนโยบายการเงินและการคลังแบบผ่อนคลายที่สามารถหนุนให้เศรษฐกิจและตลาดหุ้นฟื้นตัวได้ เช่น ตลาดหุ้นจีน และ เวียดนาม
สำหรับประเทศจีนนั้น แม้ในปัจจุบันไวรัสสายพันธุ์ Omicron กำลังระบาด จนทำให้หน่วยงานรัฐต้องประกาศ Lockdown ในหลายเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจ เช่น เซี่ยงไฮ้ เซินเจิ้น ปักกิ่ง ในขณะที่เป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลจีนตั้งไว้ที่ประมาณ 5.5% ซึ่งสูงกว่าที่ IMF คาดไว้เพียง 4.8% เท่านั้น ดังนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เพื่อประคองเศรษฐกิจให้โตได้ตามเป้าหมาย โดยนักวิเคราะห์ของ Deutsche Bank ประเมินว่า เม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจจากมาตรการต่างๆ ที่ทางการจีนประกาศไว้ภายหลังการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีน เมื่อวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา เช่น การลดภาษีธุรกิจ SMEs หรือ การเพิ่มรายการหักลดหย่อนภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายด้านการผลิต สิ่งแวดล้อม พลังงาน ภาคขนส่ง ตลอดจนด้าน R&D หรือการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเทียบเท่า 7.7% ของ GDP
ส่วนด้านนโยบายการเงินของจีนได้ดำเนินการแบบผ่อนคลายมาต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่แล้ว ทั้งการลดอัตราการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (Reserve Requirement Ratio: RRR) และการลดดอกเบี้ยลงอีก ซึ่งนักวิเคราะห์ประเมินว่า จะลดลง 0.5% และ 0.1% ตามลำดับภายในครึ่งปีแรก อีกทั้งรัฐบาลยังสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้เพิ่มอีกมาก โดยไม่ต้องกังวลเรื่องเงินเฟ้อสูง ด้วยระดับดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนกุมภาพันธ์เพียง +0.9% YoY ยังห่างไกลจากเป้าหมาย 3% อยู่มาก นอกจากนี้ หากประเมิน Valuation ของดัชนีหุ้นจีน CSI 300 ณ วันที่ 23 มีนาคม 2022 มี Fwd PER เพียง 12.2 เท่า ขณะที่นักวิเคราะห์ประเมินการเติบโตของกำไรถึง 19% นับว่าเป็นช่วงเวลาซื้อลงทุนที่ดีในช่วงที่ตลาดหุ้นจีนปรับฐานจากประเด็นความเสี่ยงดังกล่าว
ตลาดหุ้นอีกแห่งที่น่าสนใจลงทุน คือ เวียดนาม ซึ่งรัฐบาลเวียดนามเพิ่งจะประกาศวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งนโยบายการคลังและนโยบายการเงินถึง 15.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ระยะเวลา 2 ปี หรือคิดเป็นเฉลี่ย 4.28% ของ GDP ปี 2022 และ 2023 ของเวียดนาม แบ่งเป็น 83% เป็นนโยบายการคลัง โดยนำไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และลดภาษี ส่วนที่เหลือเป็นงบประมาณนโยบายการเงินเพื่อลดดอกเบี้ยเงินกู้ราว 0.5-1% เพื่อชดเชยผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัส โดยเวียดนามยังมีความสามารถที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้เพิ่มอีกเช่นกัน เพราะอัตราเงินเฟ้อของไตรมาส 1 ปี 2022 ยังอยู่ที่เพียง +1.92% YoY เท่านั้น และในด้านระดับราคาของตลาดหุ้นเวียดนามก็ยังมี Valuation ไม่แพงเมื่อเทียบกับการเติบโตเช่นเดียวกับจีน ด้วย Fwd PER เพียง 13.3 เท่า จากการเติบโตของกำไรที่นักวิเคราะห์คาดไว้ถึง 30% นับว่าเป็นตลาดหุ้นที่ยังน่าสนใจลงทุนด้วยการเติบโตที่มากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
โดยสรุปแล้ว เมื่อพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างวันที่เกิด IYC กับโอกาสเกิด Recession แม้ว่าจะมีความเป็นไปได้สูง แต่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ซึ่งสามารถสะท้อนบรรยากาศลงทุนของตลาดหุ้นโลกได้กว่า 50% ยังสามารถสร้างผลตอบแทนได้เฉลี่ย 20% จึงยังเป็นช่วงเวลาที่นักลงทุนสามารถลงทุนในตลาดหุ้นเพื่อแสวงผลตอบแทนได้ แต่อาจต้องพิจารณาเลือกประเทศลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำต่อภาวะเงินเฟ้อสูง และมี Valuation ที่น่าสนใจอย่างตลาดหุ้นจีน หรือตลาดหุ้นเวียดนาม ซึ่งน่าจะเป็นจังหวะการลงทุนที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้ดีในภาวะที่ไม่แน่นอนเช่นนี้
หากท่านใดมีข้อข้องใจเกี่ยวกับการวางแผนการเงินของตนเอง สามารถส่งคำถามของท่านมาได้ที่ [email protected] I บทความโดย ศิวกร ทองหล่อ CFP® Wealth Manager ธนาคารทิสโก้