‘ฮาคูโฮโด’ ชี้เศรษฐกิจฝืด โควิดรุมเร้า ฉุดคนไทยสุขลดลง งดช้อปของไม่จำเป็น
‘ฮาคูโฮโด’ เปิดผลสำรวจใหม่ล่าสุด พบว่าค่าความสุขของคนไทยลดลง เนื่องจากวิกฤติไวรัสโควิด-19 ระบาดรุนแรงตลอด 2 ปี ซ้ำร้ายเศรษฐกิจอยู่ในภาวะที่ฝืดเคือง ทำให้ทุกคนดิ้นเอาตัวรอด หารายได้จากหลายช่องทาง
สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) หรือ Hakuhodo Institute of Life and Living ASEAN (THAILAND) รวมกับบริษัทในเครือฯ ฮาคูโฮโด เฟิร์ส (ประเทศไทย) Hakuhodo First (Thailand) เผยผลสำรวจการคาดการณ์พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศไทยประจำเดือนเมษายน พ.ศ. 2565 พบความน่าสนใจหลายการ ดังนี้
เมื่อการแพร่ระบาดของโควิดเป็นเวลานาน เข้าสู่ปีที่ 3 ส่งผลกระทบต่อ “ค่าความสุขของคนไทยลดลง” เมื่อเทียบกับเดือนกุมาพันธ์ที่ผ่านมา รวมถึงสภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง ได้สร้างความกังวลใจให้กับคนไทยเป็นอย่างมาก และมีผลต่อการจับจ่ายใช้สอย การซื้อสินค้าต้องเพิ่มความระมัดระวัง รัดเข็มขัดยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ หากจะซื้อสินค้า ผู้บริโภคตระหนักถึงสินค้าจำเป็นมากขึ้น โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการดูแลครอบครัวและสุขภาพมากขึ้น โดยแนวโน้มความต้องการในการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศไทยประจำเดือนเมษายน พ.ศ. 2565 มีรายการสินค้าถูกให้สำคัญมากที่สุด ได้แก่ อาหาร ของใช้ในชีวิตประจำวัน และโทรศัพท์มือถือ
การซื้อสินค้าดังกล่าวยังเกิดจากการเตรียมตัวให้พร้อมต้อนรับช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพื่อสังสรรค์กับครอบครัว ซึ่งส่วนใหญ่ถือเป็นข้าวของจำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวันของทุกคนในบ้านนั่นเอง
นอกจากนี้ ท่ามกลางข้อจํากัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่การซื้อสินค้ายังสะท้อนให้เห็นพฤติกรรมคนไทยที่คงให้ความสำคัญกบครอบครัวและเครือญาติ ยิ่งช่วง “เทศกาลสงกรานต์” จะมการรวมตัวกันเพื่อเฉลิมฉลองวันปีใหม่ไทย การไหว้บรรพบุรุษ ซึ่งอาจต้องปรับเปลี่ยนวิธีการฉลองด้วยวิธีที่ปลอดภัยมากขึ้น โดยเพาะฉลองกันที่บ้าน แทนการออกไปนอกสถานที่
“จริง ๆ แล้วคนไทยยังชื่นชอบการชอปปิง แต่ด้วยสถานการณ์ต่างๆ ทำให้สินค้าหลายอย่างมีราคาสูงขึ้น ทั้งสินค้าอุปโภคและบริโภค ทำให้คนไทยระมัดระวังเรื่องของการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เน้นซื้อสินค้าจำเป็น และลดการซื้อของที่ไม่จำเป็นลง อีกทั้งผลสำรวจดังกล่าวยังสอดคล้องกับพฤติกรรมการซื้ออาหารกักตุนไว้ที่บ้านช่วงสงกรานต์” ชุติมา วิริยะมหากุล ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) กล่าว
นอกจากวิกฤติโควิด-19 ระบาด เศรษฐกิจฝืดเคือง สิ่งที่เป็นประเด็นใหญ่ในเวลานี้ คือสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และอีกหลากปัญหาได้ส่งผลให้สินค้าอุปโภคและบริโภคมี “ราคาสูงขึ้น” กระทบต่อค่าครองชีพ ปัจจัยดังกล่าว ทำให้คนไทยมองหาความมั่งคั่งหรือหารายได้มากขึ้นจากหลากหลายช่องทาง มากกว่าแค่มีหน้าที่งานมั่นคง ซึ่งการมีรายได้ที่มากขึ้นจะช่วยชดเชยกับค่าใช้จ่ายที่พุ่งเป็นเงาตามตัว
ความเปราะบางทางเศรษฐกิจ รายได้ที่ผันผวนยังทำให้ผู้บริโภคต้องวางแผนการจับจ่ายให้รัดกุมมากขึ้น ลดการเดินทางและการท่องเที่ยว แต่ยังคงใส่ใจครอบครัวด้วยการซื้อของให้ญาติผู้ใหญ่ในวันสำคัญเพื่อสื่อความห่วงใยกัน
ปัจจัยลบรายล้อม แบรนด์ควรปรับตัวทำการตลาดอย่างไร ฮาคูโฮโด เฟิร์ส (ประเทศไทย) มีคำแนะนำ ดังนี้ 1. แบรนด์ต้องสร้างแรงบันดาลใจ ให้พลังเชิงบวก เพื่อทำให้ผู้บริโภคผ่อนคลาย คลายเครียด ขณะเดียวกันพยายามสร้างประสบการณ์ใหม่ให้ผู้บริโภค รวมถึงการทำตลาดที่ช่วยเสริมบรรยากาศการเฉลิมฉลองกันภายในครอบครัว ให้อุ่นใจ ปลอดภัยจากโควิดชดเชยข้อจำกัดที่ไม่ได้ออกจากบ้าน หรือการเดินทางท่องเที่ยว
2. นำเสนอโปรโมชันแปลกใหม่รับช่วงซัมเมอร์ สนับสนุนการส่งความรักความห่วงใยถึงกัน เพื่อต้อนรับช่วงเวลาที่สำคัญของครอบครัวในเทศกาลสงกรานต์
“ห้วงวิกฤติ โรคโควิดระบาดเป็นความท้าทายของทุกๆ ฝ่ายในกาปรับตัวเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ การไม่สามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้ปกติ แต่เรายังสามารถทำการตลาด กระชับความสัมพันธ์กับสมาชิกในครอบครัวหรือคนสำคัญในชีวิต ซึ่งแบรนด์ต่างๆ สามารถวางกลยุทธ์ ทำกิจกรรมต่างๆเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อเพิ่มความสุขให้คนไทยในไตรมาสต่อไป”